กรมชลประทาน เดินหน้าโครงการก่อสร้าง ปตร.ลำน้ำพุง-น้ำก่ำฯ เร่งแก้อุทกภัย-ภัยแล้ง จ.สกลนคร ขณะที่เกษตรกร ยินดีเวนคืนผืนนาบางส่วน เป็นแหล่งเก็บน้ำทำการเกษตร เมื่อวันที่ 7 มี.ค.62 พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการก่อสร้าง ประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน ให้การต้อนรับ และบรรยายสรุปโครงการฯ ณ บริเวณพื้นที่ก่อสร้างประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำฯ ต.ตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง – น้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร เป็นการก่อสร้างประตูระบายน้ำหัวงานและคลองผันน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผันน้ำหลากของลำน้ำพุงก่อนที่จะไหลสู่พื้นที่อำเภอโคกศรีสุพรรณและพื้นที่ลุ่มน้ำพุงตอนล่าง โดยการผันน้ำไปยังลำน้ำก่ำ รวมถึงการพัฒนาระบบชลประทานลุ่มน้ำพุงตอนกลางและตอนล่าง เพื่อช่วยเหลือประชาชนในด้านการอุปโภคบริโภคและการเกษตร ในช่วงฤดูแล้ง มีแผนงานโครงการ 5 ปี ระหว่างปี 2562 - 2566 วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 2,100 ล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 อนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ดำเนินโครงการดังกล่าว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมงานก่อสร้าง สำหรับโครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำฯ ประกอบด้วยงานก่อสร้างประตูระบายน้ำหัวงานและอาคารประกอบ ลักษณะบานโค้ง จำนวน 7 ช่อง อัตราการระบายน้ำ 963 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที การก่อสร้างคลองผันน้ำและอาคารประกอบ 4 สาย ความยาวรวม 42.46 กิโลเมตร ได้แก่ คลองผันน้ำร่องช้างเผือก-ห้วยยาง และอาคารประกอบ ความยาว 16.30 กิโลเมตร อัตราการระบายน้ำ 42 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที คลองผันน้ำหนองแซง-ห้วยซัน-ห้วยยาง และอาคารประกอบ ความยาว 21.23 กิโลเมตร อัตราการระบายน้ำ 108 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และ คลองผันน้ำห้วยยาง-ลำน้ำก่ำ และอาคารประกอบ ความยาว 4.93 กิโลเมตร อัตราการระบายน้ำ 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รวมทั้งก่อสร้างคลองส่งน้ำห้วยทามไห-ห้วยสองตอน และอาคารประกอบ ความยาว 8.80 กิโลเมตร อัตราการส่งน้ำ 3 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และก่อสร้างระบบส่งน้ำชลประทาน ครอบคลุมพื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 78,000 ไร่ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตพื้นที่ อ.เมืองสกลนคร และ อ.โคกศรีสุพรรณ โดยตัดยอดปริมาณน้ำจากลำน้ำพุงก่อนไหลลงสู่ หนองหารได้ประมาณร้อยละ 40 ส่วนในฤดูแล้งจะเป็นแหล่งเก็บกักน้ำ เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในลำน้ำพุง ได้ประมาณ 2.5 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับการอุปโภคบริโภค การเกษตร การอุตสาหกรรม การปศุสัตว์ และการรักษาระบบนิเวศให้กับพื้นที่ 4 ตำบล 53 หมู่บ้าน 10,857 ครัวเรือน ทั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ ต.ตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร ประกอบอาชีพเกษตรกรทำนาเป็นส่วนมาก นายประหยัด ชินบุตร เกษตรกรวัย 76 ปี เล่าว่า “ชาวนาที่นี่ส่วนใหญ่ ทำนากันได้ปีละครั้ง โดยอาศัยน้ำในช่วงหน้าฝนและเจาะน้ำบาดาล ซึ่งส่วนใหญ่น้ำแห้งเมื่อถึงหน้าแล้ง ทำให้ไม่สามารถทำการเกษตรได้ ตนได้ทราบเรื่องโครงการฯ จากเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาบอกว่าจะมีการสร้างประตูระบายน้ำและต้องใช้พื้นที่นาของตน เมื่อเห็นว่ามีประโยชน์เพราะจะทำให้มีน้ำไว้ใช้ตนก็เต็มใจให้เวนคืนพื้นที่บางส่วนของที่นา โดยหวังว่า โครงการจะสามารถเก็บน้ำไว้ให้ชาวนาได้ใช้ทำการเกษตรได้มากขึ้น เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย”