ทหารประชาธิปไตย หลายฝ่ายที่มีความคาดหวัง อยากเห็นความก้าวหน้าในการประชุมสุดยอดระหว่างทรัมป์-คิม ต่างพากันผิดหวัง เพราะการประชุมไม่มีอะไรคืบหน้าจากที่ประชุมกันไว้ที่สิงคโปร์ ทั้งๆที่โหมโรงกันไว้ดิบดี ขนาดคิมลงทุนสร้างข่าวนั่งรถไฟหุ้มเกราะมาประชุม และสหรัฐ-เกาหลีใต้ก็ระงับการซ้อมรบใหญ่ไว้ก่อน เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการเจรจา เหตุของความล้มเหลวในการประชุมในเบื้องต้นเกิดจากความบกพร่องของทีมงานที่จะกำหนดเป้าหมายที่มีเหตุผลล่วงหน้าก่อนการพูดคุย จึงทำให้การประชุมไม่มีสาระสำคัญของความคืบหน้าใดๆ แถมยังทำให้เกิดความไม่แน่นอนในอนาคต ต่างกับการประชุมครั้งแรกที่สิงคโปร์ เมื่อปีที่แล้ว ทรัมป์-คิม บรรลุข้อตกลงว่าเกาหลีเหนือจะต้องกำหนดขั้นตอนที่ชัดเจน ในการทำลายอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด เพื่อแลกเปลี่ยนกับการผ่อนคลายการปิดกั้นทางเศรษฐกิจ และคิมก็พยายามแสดงให้โลกเห็นว่าได้ทำลายบางส่วนของการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แต่ผู้สังเกตการณ์หลายฝ่ายมองว่าอาจเป็นการเล่นละครตบตาเท่านั้น ระหว่างการประชุมสุดยอดที่ฮานอย แม้ว่าบรรยากาศจะดูเป็นมิตรอย่างยิ่งจากทั้ง 2 ฝ่าย แต่ทรัมป์และคิมก็ไม่สามารถตกลงอะไรที่เป็นความก้าวหน้าจากการประชุมที่สิงคโปร์ และในที่สุดก็ต้องยุติการประชุมอย่างกะทันหัน เมื่อคิมเรียกร้องให้มีการยุติการปิดกั้นทางเศรษฐกิจทั้งหมดก่อนที่จะมีการยุบเลิก อาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดของเกาหลีเหนือ ตามรายงานของสื่ออ้างว่าได้มีการถอนหัวข้อเรียกร้องที่จะให้เกาหลีเหนือยุติโครงการนิวเคลียร์ทั้งหมด เพราะมีรายงานจากหน่วยข่าวกรองว่าเกาหลีเหนือไม่มีความตั้งใจที่จะยุบเลิกโครงการนิวเคลียร์เลย แต่สุดท้ายก็มีข่าวที่ขัดแย้งกับข่าวเบื้องต้นเกี่ยวกับข้อเรียกร้องดังกล่าว นั่นคือทีมงานการเจรจาล้มเหลวในการจัดเตรียมแนวทางและหัวข้อเจรจาตามที่ผู้เชี่ยวชาญจัดเตรียมไว้ และไม่ตรงกับข้อเรียกร้องที่ทรัมป์ตั้งประเด็นไว้ จนทรัมป์ต้องเดินออกจากที่ประชุมกลางคัน ทั้งนี้ทั้งประธานาธิบดีทรัมป์และประธานคิม ประเมินผิดพลาดอย่างยิ่ง ที่เชื่อว่าความสลับซับซ้อนอยากมากของปัญหาที่จะพูดคุยกันนี้ สามารถแก้ไขได้ด้วยการพบกันตัวต่อตัว แต่การพบปะในการประชุมสุดยอดครั้งนี้กลายเป็นความเสี่ยงที่ไร้สติ เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายปล่อยให้คาราคาชังจนนามีสุดท้าย โดยไม่มีการกำหนดชัดเจนว่า อะไรเป็นประเด็นที่จะต้องขจัดให้ได้ ด้วยการตกลงหรือประเด็นที่ควรหลีกเลี่ยงไปก่อน ซึ่งปัญหานิวเคลียร์นั้นเป็นปัญหาที่จะต้องผ่านการเจรจาที่ใช้ระยะเวลานานพอควร มากกว่าเพียงแค่การประชุมสุดยอดเพียง 2 ครั้ง ตามหลักการทั่วไป ก่อนมีการประชุมสุดยอดหัวข้อต่างๆที่จะบรรลุในการประชุมสุดยอด จะต้องผ่านการเจรจาของคณะทำงานจนได้ขัอยุติแล้ว ส่วนการประชุมสุดยอดก็จะเป็นเพียงการฉลองความสำเร็จของการเจรจา เพื่อเป็นการยืนยันในสิ่งที่ผ่านการเจรจาตามขั้นตอนมาแล้ว แต่ในการประชุมสุดยอดที่ฮานอยทั้งสองฝ่ายไม่ได้ผ่านกระบวนการดังกล่าว และเก็บประเด็นไว้จนนาทีสุดท้ายให้ผู้นำทั้งสองฝ่ายตกลงกัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะบรรลุผลสำเร็จ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ควรเข้าใจว่ามันมีช่องว่างระหว่างความคาดหวังของทั้ง 2 ฝ่าย กล่าวคือ สหรัฐฯต้องการให้มีการยุบเลิกโครงการนิวเคลียร์ทั้งหมดของเกาหลีเหนือ ก่อนที่จะมีการยกเลิกการแซงซั่น แต่เกาหลีเหนือต้องการให้มีกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไป นั่นคือ สหรัฐฯต้องยกเลิกการแซงซั่นที่รุนแรงบางส่วนก่อนและเปียงยางก็จะยุบเลิกศูนย์พัฒนานิวเคลียร์ Yongbyon จึงเห็นได้ว่าทั้งทรัมป์และคิม ต่างก็มาประชุมสุดยอดด้วยความมุ่งหวังที่ต่างกันมาก โดยไม่ได้มีการเตรียมการหาทางออกในเรื่องนี้มาก่อน โดยทีมงาน ทั้งทรัมป์และคิม จึงมาประชุมด้วยข้อเรียกร้องต้องการของฝ่ายตนอย่างเต็มที่ และมิได้มีทางออกที่จะบรรลุข้อตกลงที่ควรจะมีการเตรียมการไว้ก่อน การประชุมสุดยอดที่ฮานอยจึงมีลักษณะคล้ายกับการเริ่มขบวนการเจรจา มากกว่าการจะบรรลุข้อตกลง เช่น การพูดกันเรื่องสถานที่ทดลองนิวเคลียร์ ปรากฏการณ์ครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าทรัมป์ยังไม่สู้เข้าใจถึงขั้นตอนในการเจรจาสุดยอดในฐานะผู้นำของรัฐ แต่คงเข้าใจว่าการประชุมสุดยอดก็คล้ายๆกับการประชุมทางธุรกิจที่ให้ประธานบริษัทมาพูดคุยทางธุรกิจกันอย่างง่ายๆ และตกลงกันได้ แต่การประชุมสุดยอดระหว่างประเทศมีรายละเอียดขั้นตอนมากกว่านั้นมาก ส่วนคิมแม้จะมีอายุน้อยและขาดประสบการณ์ในการเจรจาระหว่างประเทศ แต่ผู้เขียนคาดคะเนว่าคิมเองคงมิได้คาดหวังที่จะบรรลุผลโดยเร็ว แต่ต้องการซื้อเวลาเพื่อการรีบเร่งพัฒนานิวเคลียร์ของตนไปอีกระดับหนึ่ง อันจะทำให้มีอำนาจต่อรองมากขึ้น หรือเปิดการเจรจาเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับจีนและรัสเซียมากขึ้น หลังจากการประชุมสุดยอดรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯนายไมท์ ปอมปิโอ แถลงว่าเขาหวังที่จะให้มีการประชุมของทีมงานทั้งสองฝ่ายในเร็วๆนี้ และต่อมาในวันศุกร์ที่ 1 มี.ค. ทรัมป์ได้โพสในทวิตเตอร์ว่า เขามองในแง่ดีถึงความสัมพันธ์ที่ดีของทั้ง 2 ฝ่าย ที่จะพัฒนาก้าวหน้าต่อไป โดยไม่พูดถึงความล้มเหลวในการจัดเตรียมการเจรจาที่เป็นระบบกว่านี้ ในขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีเหนือ นายริยองโฮ ได้แถลงภายหลังการประชุมสุดยอดว่า เกาหลีเหนือได้นำเสนอสิ่งที่เป็นไปได้จริง รวมทั้งการยุบเลิกศูนย์พัฒนานิวเคลียร์ Yongbyon เพื่อแลกกับการยกเลิกการแซ่งซั่นบางส่วน ที่น่าจะเป็นข้อสังเกตสำคัญ คือ รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ ชอย ชันฮี แย้มพรายออกมาว่าในการประชุมคราวหน้าเขาก็ไม่อาจยืนยันได้ว่าผู้นำคิมจองอึน จะเปลี่ยนใจในท่าทีต่อการพูดคุยกับวอชิงตันหรือไม่ จะเห็นได้ว่าในขณะที่สหรัฐฯมุ่งหวังที่จะเห็นความคืบหน้าในการเจรจาในขณะที่เกาหลีเหนืออาจหาทางเลือกอื่น เช่น การกระชับความสัมพันธ์กับจีนและรัสเซีย เพื่อแหวกวงล้อมในการแซงซั่นของสหรัฐฯ ซึ่งการเจรจาของสองประเทศต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกันเป็นอย่างยิ่ง และต้องใช้เวลาไม่ใช่แค่การประชุมสุดยอดเพียง 2 ครั้ง การประชุมสุดยอดครั้งต่อไปมีความเป็นไปได้ที่จะประชุมที่กรุงเทพซึ่งหวังว่ารัฐบาลไทยนอกจากจะได้หน้าได้ตาในการเป็นเจ้าภาพแล้ว คงจะได้เรียนรู้กระบวนการเจรจาระหว่างประเทศมากขึ้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ