สภากรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2562 คณะกรรมการวิสามัญศึกษาข้อเท็จจริงและกฎหมายที่ใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นในและพื้นที่ต่อเนื่อง โดยนายไพฑูรย์ ขัมภรัตน์ ประธานคณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ โดยเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 คณะทำงานร่วมซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ คือ กรุงเทพมหานคร กองกำกับการ สวัสดิภาพเด็กและสตรี กองร้อยรักษาความสงบเขตพระนคร กระทรวงการพัฒนาสังคมความมั่นคงและของมนุษย์ สำนักงานเขตพระนคร กรมสุขภาพจิต ตำรวจ สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานคร ได้ลงพื้นที่เพื่อทราบข้อเท็จจริงในประเด็นที่ศึกษา คือ คนขอทาน คนเร่ร่อน การค้าประเวณี รวมถึงยาเสพติดและการมั่วสุมในพื้นที่ชุมชนวัดราชนัดดาซึ่งเป็นชุมชนที่เข้มแข็งมีการบริหารจัดการที่เป็นระบบประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการชุมชน โดยการดูแลไม่ให้มีการค้าประเวณีในชุมชน และไม่ให้มีคนขอทาน และคนไร้ที่พึ่งในชุมชน โดยมีรายละเอียด ดังนี้ ในวันดังกล่าวได้มีการพูดคุยและทำความเข้าใจ พบคนไร้ที่พึ่งจำนวน 72 คน คนพิการจำนวน 2 คน ผู้ค้าประเวณีจำนวน 22 คน รวมเป็น 96 คน คณะกรรมการฯ ได้ดำเนินการลงพื้นที่มาถึงวันที่ 4 มีนาคม 2562 จำนวน 6 ครั้ง สรุป ดังนี้ พบคนขอทาน คนเร่ร่อน การค้าประเวณี จำนวน 146 คน เป็นผู้ชาย 102 คน ผู้หญิง 44 คน แยกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่ม 1. ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ จำนวน 113 ราย กลุ่ม 2. คนต่างด้าว จำนวน 1 ราย กลุ่ม 3. คนไร้ที่พึ่ง จำนวน 4 ราย กลุ่ม4. กลุ่มเป้าหมายเฉพาะ จำนวน 28 ราย อนึ่ง ได้ดำเนินการ ดังนี้ กลุ่ม1. ได้อบรม ชี้แจงและจัดทำประวัติ 107 ราย โดยส่งไปยังบ้านมิตรไมตรี จำนวน 6 ราย กลุ่ม 2. ได้ส่งให้ตำรวจดำเนินการ กลุ่ม 3. ส่งให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดำเนินการ กลุ่ม 4. แยกเป็น คนพิการ จำนวน 2 ราย ส่งให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดำเนินการ ผู้ป่วยจิตเวช จำวน 4 ราย ส่งไปยังโรงพยาบาล ผู้ดื่มสุรา จำนวน 3 ราย ส่งให้ตำรวจ ผู้ค้าประเวณี จำนวน 19 ราย ส่งให้ตำรวจเพื่อดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ การดำเนินการในส่วนนี้ได้ดำเนินการเกี่ยวกับ คนขอทาน คนไร้ที่พึ่ง โดยมีการพูดคุย สอบถามประวัติ สำหรับผู้ที่มีภูมินำเนาในกรุงเทพมหานครหรือผู้ที่มีครอบครัวอยู่ต่างจังหวัด คณะทำงานประสานงานเพื่อให้กลับไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว ส่วนผู้ที่ไม่มีครอบครัวจะเข้าสู่กระบวนการของรัฐในการเยียวยาช่วยเหลือส่งไปบ้านมิตรไมตรี ซึ่งเป็นส่วนน้อยจำนวน 6 ราย สาเหตุที่คนไร้ที่พึงมาพักพิงที่พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน เนื่องจากไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวได้ ประเด็นที่สอง การปรับปรุงพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของประเทศ จากการสำรวจพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นในตามแนวคลองคูเมืองเดิมและคลองหลอดวัดราชบพิธ คลองหลอดวัดราชนัดดา มีวัดที่สำคัญที่สะท้อนให้เห็นความเป็นมาเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมความเป็นไทย จำนวน 9 วัด สมควรกำหนดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ดังนี้ 1.) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) 2.) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร 3.) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามวรวิหาร 4.) วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร 5.) วัดเทพธิดารามวรวิหาร 6.) วัดราชนัดดารามวรวิหาร 7.) วัดมหรรณพารามวรวิหาร 8.) วัดบุรณศิริมาตยาราม 9.) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร จากการศึกษาข้อเท็จจริงของคณะกรรมการวิสามัญฯ เห็นว่า พื้นที่ดังกล่าวสามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ โดยเสนอแนะให้สำนักงานเขตพระนครสำรวจเส้นทางในเบื้องต้น และหลังจากนั้นเสนอแนะให้สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยวดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ประเด็นที่สาม การตั้งคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า คณะกรรมการวิสามัญฯ ศึกษาแล้วเห็นว่า เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีภารกิจและหน้าที่ในการดูแลพื้นที่ ตามที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้ เช่น พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่กำหนดให้กทม.มีหน้าที่โดยตรง ดูแลพื้นที่ในส่วนที่เกี่ยวกับ คนขอทาน คนไร้ที่พึ่ง และการรักษาความสะอาด การดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การปรับภูมิทัศน์ การจัดระเบียบเมือง ซึ่งคณะกรรมการวิสามัญฯจะได้เสนอให้ฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานครเสนอคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่าตั้งคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการอนุรักษ์ฯ ซึ่งคณะกรรมการวิสามัญฯได้ศึกษาเหตุผลและความจำเป็นไว้แล้ว อย่างไรก็ตามแผนงานการดำเนินการของกรุงเทพมหานครอยู่ภายใต้การดำเนินงานส่วนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก