เห็นจะจริงอย่างคำผู้สันทัดกรณีเคยชี้แนะไว้นานมาแล้วว่า “อินเดีย - ปากีสถาน” หรือพูดอย่างไทยบ้านๆ ก็คือ “แขกกับแขก” เคลียร์ปัญหาคาใจกันยาก! เพราะ “ตกลงหยุดยิง” จากการปะทะเสียงปืนแตกเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่ทันไร ไม่ทันได้ถึง 24 ชั่วโมงด้วยซ้ำ ก็ให้ “ปืนใหญ่” กัมปนาทเสียงยิงเข้าใส่กันและกันแล้ว จนถือเป็นการปะทะกันรอบล่า เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว เครื่องบินรบของอินเดียที่ถูกปากีสถาน ยิงตก โดยผลพวงการปะทะระลอกนี้ ก็มีผู้เซ่นสังเวยชีวิตไปอย่างน้อย 8 ศพ ด้วยกัน กอปรด้วยทหารและพลเรือน เรียกว่า สถานการณ์ที่หวนมาตึงเครียดในแคว้นแคชเมีร์ พรมแดนระหว่างอินเดียกับปากีฯ กันอีกคำรบ หลังข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราว ที่เพิ่งทำกัน ถูกฉีกทิ้งไป แบบไร้สิ่งใดๆ มาต้านทาน หรือให้ทั้งสองชาติคู่ปรปักษ์ได้เกรงใจกัน เหมือนอย่างสมัยอดีต ที่ยังมีชาติมหาอำนาจ เช่น สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ทำหน้าที่ “กาวใจ” ส่งผลให้มี “คำถาม” ตามมาด้วยใจที่เป็นห่วงของหลายฝ่ายว่า แล้ว ใคร คือ ชาติใดจะมาเป็น “โซ่ข้อกลาง” ทำหน้าที่ทั้ง “หย่าศึก” และ “ฟื้นความสัมพันธ์” ที่ระหองระแหงขัดแย้งกันระหว่างอินเดีย -ปากีฯ ในรอบล่าสุดนี้ บรรยากาศบริเวณด่านพรมแดนแห่งหนึ่งระหว่างอินเดียกับปากีสถาน โดยที่ผ่านมา “สหรัฐอเมริกา” พญาอินทรี ก็จะมารับหน้าที่ในภารกิจข้างต้นนั้น ซึ่งในยุคปัจจุบันได้มีผลงาน “คลี่คลายปัญหา” โน้มน้าวใจทั้งอินเดียและปากีฯ ในหลายกรณี เช่น กรณีสงครามคาร์กิล ปี 2542 (ค.ศ. 1999) และอีกครั้งเมื่อปี 2545 (ค.ศ. 2002) รวมถึงในกรณีที่อดีตประธานาธิบดี “จอร์จ ดับเบิลยู. บุช” สมัยนั้น ส่ง “คอนโดลีซซา ไรซ์” ซึ่งดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรีหญิงว่าการกระทรวงการต่างประเทศ” มายังกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย มาเคลียร์ข้อขัดแย้งอินเดีย – ปากีฯ กับ “มันโมหัน ซิงห์ นายกรัฐมนตรีอินเดีย” จนประสบผลสำเร็จมาแล้ว สงครามคาร์กิล ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน เมื่อช่วงปี พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1999) ทว่า มา ณ ปัจจุบัน สหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” พร้อมๆ กับ “หั่นงบฯ” ที่ใช้สำหรับอุดหนุนต่อชาติพันธมิตรในภูมิภาคต่างๆ รวมถึง “เอเชียใต้” ด้วยแล้วนั้น ก็ส่งผลให้อิทธิพลของสหรัฐฯ ในภูมิภาคต่างๆ อันรวมถึงเอเชียใต้ ลดน้อยถอยลงไป อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงอิทธิพลของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย อันประกอบด้วย อินเดีย และปากีฯ เป็นต้นื ก็ใช่ว่า จะเพิ่งลดลงแต่ในสมัยของประธานาธิบดีทรัมป์ก็หาไม่ ทว่า เริ่มทะยอยลดถอยไปแต่ครั้งอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ คนก่อนๆ แล้ว “คอนโดลีซซา ไรซ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ (ขวา) พบปะกับนายมันโมหัน ซิงห์ นายกรัฐมนตรีอินเดีย ที่กรุงนิวเดลี อันเป็นผลมาจากที่สหรัฐฯ ออกอาการถอยห่างจากภูมิภาคเอเชียใต้ สวนทางกับ “จีนแผ่นดินใหญ่” ฉายา “พญามังกร” ที่สยายเกรงเล็บ คือ อิทธิพลเข้ามาแทนที่ ผ่านมาตรการความร่วมมือด้านต่างๆ เช่น เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 และการทูตเงินตรา ที่ “พญามังกร” สวมบท “เจ้าพ่อเงินกู้” ปล่อยกู้ให้แก่บรรดาประเทศเหล่านี้ ซึ่งรวมถึง “ปากีฯ” ไว้ใช้เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้า โดยที่ปากีฯ นั้น ทางการจีนแผ่นดินใหญ่ ยังมีโครงการความร่วมมือด้านต่างๆ เช่น การเข้าไปก่อสร้างท่าเรือกวาดาร์ มูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นต้น จนทางการวอชิงตันเอง ยังเคยออกอาการเป็นห่วงถึง “อิทธิพลของพญามังกรจีน” ที่รุกขยายแบบก้าวกระโดดในปากีฯ อีกต่างหากด้วย ทั้งนี้ จากการสยายอิทธิพลข้างต้น ก็ส่งผลให้หลายฝ่าย คาดหมายกันว่า พญามังกรจีนแผ่นดินใหญ่ น่าจะเป็นชาติที่เข้ามาทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยเคลียร์ปัญหาพิพาทที่ปะทุเป็นการสงครามสู้รบกันขึ้นระหว่างอินเดียกับปากีฯ ในครั้งนี้ แบบเข้ามาแทนที่พญาอินทรีสหรัฐฯ ที่เคยเป็นชาติผู้ทรงอิทธิพลเมื่อครั้งอดีต อย่างไรก็ดี บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า ก็มิใช่เรื่องง่ายเช่นกัน ที่จะทำให้แต่ละฝ่ายพึงพอใจ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งปากีฯ ที่จีนแผ่นดินใหญ่ เข้าไปร่วมมือด้านต่างๆ จนอาจกลายเป็นถูกต่อต้านได้ เช่นเดียวกับทางฟากอินเดีย หากเห็นว่า จีนแผ่นดินใหญ่ เข้าข้างปากีฯ จนเกินไป ก็ไม่ผิดอะไรกับการผลักอินเดีย เข้าสู่อ้อมอก อ้อมใจของสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้น หลังมีความขัดแย้งพิพาทเรื่องดินแดนเขต “ดอกลัม” พรมแดนระหว่างอินเดียกับจีนแผ่นดินใหญ่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว