“กฤษฏา” ระดม 76 จว. รับมือภัยแล้ง คอนเฟอร์เรนท์วันจันทร์นี้ คาดยาวนาวกว่าปี 57-58 เกิดภาวะแอลนิโญ่ เร่งวางมาตรการใช้น้ำ ระบายน้ำเขื่อนอย่างเข้มข้น ส่วนเขื่อนอุบลรัตน์ เหลือน้ำเพียง 4-5% ดึงน้ำลุ่มน้ำในไทยมาใช้ก่อนไหลลงแม่น้ำโขง เมื่อวันที่ 3 มี.ค.62 นายกฤษฏา บุญราช รัฐมตนรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า วันที่ 4 มี.ค.62 จะประชุมระบบทางไกล ไปยังผู้ว่าราชการ 76 จว.และข้าราชการกระทรวงเกษตรฯทุกพื้นที่ เพื่อวางมาตรการรับมือภัยแล้งปีนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยสถานการณ์ภัยแล้งที่มาเร็วขึ้นได้เน้นย้ำให้ทุกกระทรวงและทุกหน่วยงานเกี่ยวข้อง เร่งช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกร เพื่อบรรเทาผลกระทบให้น้อยที่สุด ทั้งนี้ที่ผ่านมาสามารถแก้ปัญหาทันท่วงทีในแนวทางทำงานแบบบูรณาการผ่านอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการ และรองผู้ว่าฯเป็นประธาน บริหารงานเชิงรุกทั้งโครงสร้างภาคเกษตร สำหรับปัญหาภัยแล้งในปีนี้ ได้เปิดปฏิบัติการฝนหลวงแล้วพร้อมกับให้กรมฝนหลวงฯตั้งฐานฝนหลวง ถึง 20 ชุด เพื่อปฏิบัติการได้ทั่วถึงทุกภูมิภาค และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เร่งชี้แจงเกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อย งดทำนาปรังต่อเนื่อง พร้อมกับกระทรวงมหาดไทย ช่วยทำความเข้าใจชาวนาด้วย ในปีนี้ข้าวราคาดี อาจไม่เว้นทำปรังรอบสอง เมื่อเกิดภัยพิบัติไม่ได้รับเงินชดเชย “วันที่ 4 มี.ค.นี้ จะประชุมติดตามสถานการณ์น้ำร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อวิเคราะห์แนวโน้มภัยแล้ง โดยขณะนี้มีนักวิชาการ คาดการณ์ว่าภัยแล้งปีนี้เกิดภาวะช่วงภัยแล้งยาวนานกว่าที่ปี2557-2558 และสภาพอากาศปีนี้เป็นภาวะแอลนิโญ่ อย่างไรก็ตามกรมชลประทาน ยืนยันปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดทั่วประเทศ มีน้ำใช้การได้ 24,095 ล้านลบ.ม.สามารถมีเพียงพอใช้ได้เดือนพ.ค.และสำรองไว้ต้นฤดูฝนบางส่วน โดยก่อนหน้านี้ตนได้สั่งทุกพื้นที่รณรงค์เกษตรกร มาปลูกพืชใช้น้ำน้อย สามารถจูงใจเปลี่ยนมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กว่า9แสนไร่ แต่เป็นห่วงนอกเขตชลประทาน ได้ให้ทุกจังหวัด รวบรวมแหล่งน้ำ ทั้งแหล่งน้ำธรรมชาติและน้ำกักเก็บ มีใช้ได้ถึงเมื่อไหร่ เพียงพอหรือไม่ จะวีดีโอคอนเฟอร์เรนท์ ไปยังทุกจังหวัด ให้ประสานเป็นเครือข่าย จากในส่วนกลาง ลงไปในพื้นที่ทำงานใกล้ชิดกับกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เร่งสำรวจนำ้ในเขื่อน อ่างเก็บน้ำทั้งหมด เทียบปริมาณการใช้ ดูแลเครื่องมือ พร้อมกับหน่วยงานองค์กรส่วนท้องถิ่น (อปท.) เตรียมรถบรรทุกน้ำ สูบน้ำไปกระจายช่วยเหลือประชาชน สำหรับเขื่อนอุบลรัตน์ มีน้ำเหลือ 4-5 % โดยผู้ว่าราชการและกรมชลฯเตรียมมาตรการรองรับ ดึงน้ำในลำน้ำของไทย ก่อนไหลลงแม่น้ำโขง มาใช้“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว นายกฤษฏา กล่าวว่า ทั้งนี้ ประเมินทั่วประเทศมีน้ำใช้ สำหรับอุปโภค บริโภค แต่สำหรับภาคเกษตร อุตสาหกรรม อาจมีผลกระทบ หากเกิดฤดูฝนมาช้าไปหนึ่งเดือน หรือสองเดือน จะต้องมีมาตรการการใช้น้ำและในการปล่อยน้ำ อย่างเข้มข้นขึ้น เพราะขณะนี้พื้นที่ปลูกข้าวจากแผน 8 ล้านไร่ แต่ปลูกไปแล้วถึง 11ล้านไร่