​​กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จัดพิธีเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2562 อย่างเป็นทางการ วันที่ 1 มีนาคม 2562 ณ สนามบินนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ภายใต้แนวคิด “FONLUANG LET’S GO for Goal” แสดงศักยภาพความพร้อมด้านการปฏิบัติการฝนหลวงและแผนการช่วยเหลือพื้นที่ภัยแล้งประจำปี 2562 รวมทั้งแสดงความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงให้รองรับสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้น ​วันที่ 1 มี.ค.62 นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2562 ณ สนามบินนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ นายกฤษฎา กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2562 มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงทั้งในด้านการขาดแคลนน้ำของพื้นที่การเกษตร อ่างเก็บน้ำต่างๆ โดยจากข้อมูลภาพรวมสถานการณ์น้ำประเทศไทย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (23 กุมภาพันธ์ 2562) ทั่วทุกภาคของประเทศไทยขณะนี้ มีปริมาณน้ำน้อยถึงปกติ มีอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำใช้การ แบ่งเป็นอ่างฯ ขนาดใหญ่ที่ภาคเหนือ 1 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่มอก 27 ล้าน ลบ.ม. (29%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ 121 ล้าน ลบ.ม.(7%) เขื่อนสิรินธร 162 ล้าน ลบ.ม. (14%) เขื่อนลำนางรอง 35 ล้าน ลบ.ม. (29%) ภาคกลาง 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำทับเสลา 23 ล้าน ลบ.ม. (16%) อ่างเก็บน้ำกระเสียว 28 ล้าน ลบ.ม. (11%) และในเขื่อนขนาดกลาง 74 แห่งทั่วประเทศ ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ ให้เตรียมพร้อมและวางแผนสำหรับการดูแลพื้นที่การเกษตรและประชาชนให้ทั่วถึง นอกจากนี้ ในด้านของสถานการณ์ปัญหาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ครอบคลุมพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงภูมิภาคต่างๆ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงมอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวงบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญตามนโยบายของรัฐบาลที่กำชับให้ทุกหน่วยงาน มุ่งดำเนินงานเชิงรุกในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรและประชาชน ​ ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้แก่เกษตรกรและผู้ใช้น้ำทั่วทั้งประเทศ รวมถึงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับระบบบริหารจัดการน้ำของประเทศ โดยน้อมนำศาสตร์พระราชา ตำราฝนหลวงพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระบิดาแห่งฝนหลวง เป็นแนวทางในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน สำหรับในปี 2562 มีแผนปฏิบัติการประจำปีตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ซึ่งได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำ 5 ภูมิภาค จำนวน 5 ศูนย์ ดำเนินการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 12 หน่วยปฏิบัติการ เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือให้ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำหลักในพื้นที่ 77 จังหวัดโดยมีแผนปฏิบัติการ ดังนี้ 1.แผนการป้องกันและแก้ไขภัยแล้ง แบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วงเดือนตุลาคม 2561–กุมภาพันธ์ 2562 เป็นช่วงฤดูหนาว ซึ่งปกติจะหยุดปฏิบัติการฝนหลวงประจำปีประมาณเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป จะดำเนินการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วที่สนามบินจังหวัดนครสวรรค์ เดินทางไปปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือตามการร้องขอของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง 5 ศูนย์ ในช่วงที่มีสภาพอากาศเหมาะสม เป็นระยะสั้นๆ ระยะที่ 2 ช่วงเดือนมีนาคม 2562–เมษายน 2562 เน้นปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่เกษตรกรรมและป่าไม้ และเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำเขื่อนต่างๆ ที่ยังมีปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ตามความเหมาะสมของสภาพอากาศ ระยะที่ 3 ช่วงเดือนพฤษภาคม 2562–กันยายน 2562 เน้นปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำฝนให้พื้นที่เกษตรกรรม ในช่วงเริ่มฤดูเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจประจำปีเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากฤดูฝนมาล่าช้ากว่าปกติ หรือฝนทิ้งช่วงระหว่าง ฤดูเพาะปลูก 2.แผนการเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ ช่วงเดือนสิงหาคม 2562–ตุลาคม 2562 เป็นการ-ปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อสำรองไว้เป็นน้ำต้นทุนในการ-บริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึง 3.แผนบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า เน้นเฝ้าระวังในพื้นที่ภาคเหนือช่วงเดือนมีนาคม 2562-เมษายน 2562 และภาคใต้ช่วงเดือนตุลาคม 2561-พฤศจิกายน 2561 และช่วงเดือนพฤษภาคม 2562-มิถุนายน 2562 โดยปฏิบัติการฝนหลวงและดัดแปรสภาพอากาศเพื่อลดความหนาแน่นของหมอกควันรวมทั้งการเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้ รวมทั้งพื้นที่กรุงเทพมหานคร ช่วงเดือน มกราคม 2562-เมษายน 2562 4.แผนการยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ เน้นเฝ้าระวังในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงเดือนมีนาคม 2562 – พฤษภาคม 2562 เพื่อบรรเทาและลดความเสียหายจากการเกิดพายุลูกเห็บในพื้นที่เป้าหมายพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ ที่ผ่านมากรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการฝนหลวงช่วยคลี่คลายสถานการณ์ฝุ่นละอองในอากาศเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วที่จังหวัดระยอง นครสวรรค์ พิษณุโลก และขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2562 จนถึงปัจจุบัน เพื่อช่วยเหลือพื้นที่บริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมพื้นที่จำนวน 16 จังหวัด ปฏิบัติการไปแล้วทั้งสิ้น 17 วัน 92 เที่ยวบิน ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวให้กับพี่น้องประชาชนลงไปได้ ​สำหรับกิจกรรมภายในงานพิธีเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2562 อย่างเป็นทางการ ซึ่งจัดขึ้น ณ สนามบินนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธี และยังได้รับเกียรติจากผู้บริหารระดับสูงในจังหวัดนครสวรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ผู้แทนผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ข้าราชการและแขกผู้มีเกียรติ ตลอดจนเกษตรกร อาสาสมัครฝนหลวง ร่วมงานในครั้งนี้ โดยภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการฝนหลวงเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจ แผนปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2562 ช่องทางการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร การเป็นจิตอาสาภาคสนับสนุน ในการปฏิบัติการฝนหลวง รวมถึงการปล่อยคาราวานเครื่องบินฝนหลวงออกปฏิบัติการ ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของ พิธีเปิดการปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2562 ในครั้งนี้ด้วย