ผู้ว่า ธปท.รับเหตุตึงเครียดอินเดีย-ปากีสถานอาจกระทบถึงไทยได้ เตือนผู้ประกอบการบริหารความเสี่ยง พร้อมยอมรับเศรษฐกิจไทยปีนี้อาจโตชะลอลงจากปัจจัยเสี่ยงตปท.เพิ่ม คาด กนง.ทบทวนคาดการณ์ใน มี.ค.62 นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้เชื่อว่าจะยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่อาจชะลอลงจากปีก่อนบ้าง จากปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศที่มีมากขึ้น เป็นปัจจัยที่าไม่ได้คาดคิด เช่น สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างอินเดียและปากีสถาน อาจส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทยบ้าง จากความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ดังนั้นแนะนำผู้ประกอบการบริหารความเสี่ยง โดย ธปท.ได้มีการประเมินผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากปัจจัยต่างประเทศไว้บ้างแล้ว และเชื่อว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เดือนมี.ค.62 จะนำปัจจัยแวดล้อมต่างๆมาประกอบการพิจารณา เพื่อทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด พร้อมมองว่าทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวเป็นปัจจัยหนึ่งที่ กนง. จะนำมาพิจารณา เพื่อกำหนดนโยบายการเงินด้วย โดยยืนยันว่าในการดำเนินนโยบายการเงินนั้นจะยังคงยึดหลัก Data Dependent เป็นสำคัญ เนื่องจากปัจจัยต่างๆรอบตัวมีความผันผวนอยู่ตลอด จึงจำเป็นต้องมีการประเมินสถานการณ์แต่ละช่วงเวลาอย่างใกล้ชิด สำหรับกรณีที่ต่างประเทศเริ่มมีการทบทวนทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงนั้น คงไม่ใช่เพียงปัจจัยเดียวที่ กนง.นำมาพิจารณาเพื่อกำหนดนโยบายการเงิน แต่ขึ้นอยู่กับข้อมูลทั้งหมดที่มี อย่างไรก็ตามยอมรับว่าสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างอินเดียและปากีสถานอาจมีผลกระทบมาถึงประเทศไทยบ้าง จากความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ “เศรษฐกิจไทยเชื่อว่าจะยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่อาจชะลอลงจากปีก่อนบ้าง แต่ประเด็นสำคัญคือ มีปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศมากขึ้น เป็นปัจจัยที่เราไม่ได้คาดคิดเช่น กรณีของอินเดีย-ปากีสถาน ด้วยความที่เศรษฐกิจมีการเชื่อมโยงกันอาจจะส่งผลกระทบมาสู่เราได้ เพราะฉะนั้นการบริหารความเสี่ยงจึงเป็นสิ่งสำคัญ อย่าชะล่าใจว่า ในประเทศไม่มีอะไร แต่มีสถานการณ์ภายนอกที่อาจเข้ามากระทบได้ ขณะที่ในการดำเนินนโยบายการเงินนั้นยังคงยึดหลัก Data Dependent เป็นสำคัญ เนื่องจากปัจจัยต่างๆรอบตัวมีความผันผวนอยู่ตลอด จึงจำเป็นต้องมีการประเมินสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลาอย่างใกล้ชิด” ขณะเดียวกันยอมรับว่ามีความกังวลต่อในกรณีที่สินเชื่อบางประเภทมีอัตราการเติบโตมากเกินไป และเป็นการปล่อยสินเชื่อด้วยการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร มีการสร้างแรงจูงใจที่ผิดปกติ ซึ่งจะมีส่วนในการทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นได้ เช่น การสร้างดีมานด์เทียมในภาคอสังหาริมทรัพย์ การปล่อยสินเชื่อบ้านในวงเงินที่สูงเกินศักยภาพของผู้กู้ ตลอดจนมีการสร้างความเข้าใจที่ผิดๆว่าราคาบ้านในอนาคตจะปรับตัวสูงขึ้น ทั้งที่จริงแล้วเป็นเพียงดีมานด์เทียม ในขณะที่มีซัพพลายในตลาดมาก ซึ่งไม่มีโอกาสที่ราคาบ้านจะปรับเพิ่มขึ้นได้อย่างที่คาดหวัง “สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ ธปท.จำเป็นต้องมีการวางหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยใหม่ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อทุกฝ่าย เพื่อไม่ให้สร้างปัญหาหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นในระยะยาว ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ที่เราต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชน สร้างความเข้าใจให้กับสถาบันการเงิน และช่วยกันเพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในระยะยาว”