สุดท้ายก็เอาเข้าจนได้ การควบรวม TMB (ธนาคารทหารไทย) กับ TBANK (ธนาคารธนชาต) ล่าสุดได้แจ้งมายังตลาดหลักทรัพย์แล้วว่า จะแต่งงานกันจริง ไม่ใช่ข่าวปล่อยลากหุ้น โดยแจ้งเหตุผลว่า จะสมประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่ายคือ ทำให้ฐานะการเงินแข็งแกร่งขึ้น กลายเป็นแบงก์อันดับ 6 ในสาระบบธนาคารไทย โดยมีสินทรัพย์ 1.9 ล้านล้านบาท หากมองลึกๆในดีลนี้ต้องมองไปที่ TBANK ที่พยายามขยายสาขาหาลูกค้าอย่างเต็มที่ หลังจากอัพเกรด จากบริษัทเงินทุนธนชาต มาเป็นแบงก์ธนชาต จนมีสาขามากกว่า 600 สาขา แต่ดูเหมือนว่าการมีหน้าร้านมากขึ้น แทบไม่ได้ช่วยให้ TBANK มีลูกค้ามากเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ เพราะว่ากันตามจริงแล้ว คนไทยมักผูกติดกับธนาคารขาใหญ่เดิมๆ จะหันไปใช้บริการธนาคารเกิดใหม่เป็นเรื่องค่อนข้างยาก ทำให้ปริมาณลูกค้าของ TBANK เติบโตอย่างเชื่องช้าเมื่อเทียบกับธนาคารอื่น ดังนั้นถ้าจะให้ TBANK เติบโตได้เร็ว มีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ก็มีทางเดียวคือ ซื้อลูกค้าเข้ามาเพิ่ม แล้ว Jigsaw ก็มาลงตัวที่ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ อดีตเอ็มดีของธนชาตที่เคยดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ.2542-2547 และตอนนี้กลายมาเป็นรัฐมตรีคลังคนปัจจุบัน ซึ่งถ้าควบรวมได้สำเร็จแบงก์ในชื่อใหม่จะมีฐานลูกค้ามากถึง 10 ล้านคน แน่นอนว่า กระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ในธนาคารทหารไทย หรือ TMB มานานตั้งแต่เกิดวิกฤตปี 2540 แถมต้นทุนราคาหุ้นที่ถืออยู่สูงกว่าในกระดานเกือบเท่าตัว โดยมีต้นทุนอยู่ที่ 3.86 บาท ขณะที่ราคาในกระดานนับตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมา ราคาไม่เคยขึ้นไปถึงราคาทุนของกระทรวงคลังได้เลย มีแค่ยืนเหนือระดับ 3 บาทได้เป็นครั้งคราวเท่านั้น แล้วก็หมอบฟุบลงมา กระทรวงการคลังเคยทำท่าจะขายหุ้น TMB ออกมาหลายครั้ง แต่ขายไม่ออก เพราะถ้าขายต่ำกว่าราคาทุน รัฐมนตรีคลังมีหวังติดคุกโทษฐานทำให้รัฐเสียประโยชน์เลยจำใจถือยาวมาเรื่อยๆ สุดท้ายเรื่องก็มาลงตัวกับธนชาต เพราะถ้าจะว่ากันตามตรง การที่ อภิศักดิ์จะดิวกับ บันเทิง ตันติวิทหรือ ศุภเดช พูนพิพัฒน์ เจ้าของธนชาตเป็นเรื่องไม่ยากเย็นอะไร เพราะรู้จักกันดีอยู่แล้ว ในฐานะที่เคยเป็นลูกจ้างระดับผู้บริหารของธนชาตมาก่อน เมื่อรัฐมนตรีคลัง ทำตัวเป็น"ดีลเมกเกอร์"เองแบบนี้ เรื่องต่างๆ ที่ว่ายากก็เลยกลายเป็นง่ายอย่างที่เห็น ข้อสำคัญคือ การควบรวมที่เกิดขึ้นจะต้องไม่ทำให้ กระทรวงคลังเสียเปรียบ เพราะถ้าเสียเปรียบขึ้นมา อภิศักดิ์ อาจจะโดนข้อหาเซ็งลี้ของหลวงเข้าไปนอนในซังเตได้ง่ายๆ เมื่อดูการรักษาสัดส่วนของการถือหุ้นภายหลังควบรวมกันแล้ว ทาง ING และทุนธนชาต (TCAP) จะถือหุ้นในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 20% ส่วนกระทรวงคลังจะถือเท่าไหร่ตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียด เพราะคงต้องมีการตีราคาหุ้นและจำนวนหุ้นที่ถือออกมาให้เหมาะสมเสียก่อน หรือที่เรียกกันว่าการทำ Due diligence นั่นแหละ และถ้าจะให้ดีลนี้จบได้สวยงามมากๆควรจะออกแรงลากหุ้น TMB ขึ้นไปให้แพงกว่าราคาทุนของคลังคือ 3.84 บาท ทุกอย่างน่าจะลงตัว ข่าวการประกาศควบรวมที่ออกมารอบนี้ การจะปั้นราคาหุ้นในกระดานให้สูงเป็นเรื่องที่ทำได้ เพราะมีการเติบโตของธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังมีข่าวเพิ่มทุนวงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะมีทั้งเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิม ขาย PP และขายให้ประชาชนทั่วไปด้วย ซึ่งก็ต้องรอดูว่าทางแบงก์จะประกาศระดมทุนในรูปแบบไหน และตามข่าวว่า ดีลนี้จะต้องทำให้จบภายในปี 2562 นี้แหละ สรุปผู้ถือหุ้นใหญ่ แบงก์ทหารไทยธนชาตประกอบด้วยหลัก คือ กระทรวงการคลัง ทุนธนชาต และ ING ส่วน The Bank of Nova Scotia หรือ BNS ตามข่าวว่าอาจจะไม่เล่นด้วย ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำท่าว่าจะถอนทุนกลับไปอยู่บ่อยๆ แน่นอนว่าหลังจากรวมตัวสำเร็จ ผู้บริหารแบงก์ตัวจริงน่าจะมาจากฝ่ายธนชาตเป็นหลัก แม้ว่าคลังจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่จริงๆแล้วดีลที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากความต้องการของธนชาต การเอาแบงก์เอกชนไปรวมกับแบงก์หลวง ธนชาตได้ประโยชน์ทั้งขึ้นทั้งล่อง นอกจากจะได้ฐานลูกค้าของ TMB เพิ่มเข้ามาแล้ว ยังได้กระทรวงการคลังเข้ามาการันตีธุรกิจให้กับธนชาตแข็งแรงขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่า เกมป็อก 9 กิน 3 เด้ง แบบนี้ ใครบ้างจะไม่อยากทำ ประเด็นสำคัญคือ ต้องรีบทำ เพราะต้องจัดการให้เสร็จก่อนที่ อภิศักดิ์ จะกระเด็นตกเก้าอี้หลังเลือกตั้ง นี่แหละเป็นจุดไคลแม็กซ์! ขอขอบคุณข้อมูลจาก Share2Trade.com