กรมชลฯ เร่งแจงชาวบ้านไม่พอใจค่าเวนคืนพื้นที่โดนโครงการขุดคลองน้ำหลาก เจ้าพระยา 2 เข้าร้องศูนย์ดำรงธรรม ขอทบทวนอัตราใหม่ ระบุยังไม่กำหนดค่าเวนคืนทั้ง อ.บางบาล-พระนครศรีอยุธยา ชี้จ่ายเวนคืน อ.บางไทร แล้วชาวบ้านพอใจราคา 53 แปลง กว่า 87 ล้านบาท เมื่อวันที่ 27 ก.พ.62 นายมนัส กำเนิดมณี รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงกรณีกลุ่มชาวนา ต.มหาพราหมณ์ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรม เพราะไม่พอใจค่าชดเชยเวนคืนพื้นที่โครงการเจ้าพระยา 2 ต่ำกว่าราคาประเมินตามท้องตลาด ว่าการกำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเขตก่อสร้าง โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการจัดซื้อและกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินเพื่อการชลประทาน ตามคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ 429/2560 ลงวันที่ 1 พ.ค. 60 ซึ่งในเขตโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร มีพื้นที่ที่ถูกเขตก่อสร้างรวม 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางบาล และอ.บางไทร รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้มีการกำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินแล้วเพียง 1 อำเภอ คือ อ.บางไทร โดยคณะกรรมการฯ เห็นชอบให้กำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินประเภทเกษตรกรรม กำหนดในอัตรา 2 เท่า ของราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิ์และนิติกรรม และในกรณีที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยกำหนดในอัตรา 3 เท่าของราคาประเมินฯ โดยคณะกรรมการฯ ได้กำหนดโดยคำนึงถึงราคาที่มีการซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด รวมทั้งสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์มาประกอบในการกำหนดราคาด้วย ซึ่งปรากฏว่าเจ้าของที่ดินก็พอใจและจนถึงปัจจุบันกรมชลประทานได้จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินและทรัพย์สินในเขตอำเภอบางไทรไปแล้วจำนวน 53 แปลง เป็นเงิน 87,324,748 บาท “สำหรับในเขตอ.บางบาลและอ.พระนครศรีอยุธยา นั้น ขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดราคาค่าทดแทนที่ดิน โดยอยู่ระหว่างหาข้อมูลราคาซื้อขายที่ดินในพื้นที่มาเพื่อประกอบในการกำหนดราคา ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับราษฎรเจ้าของที่ดินให้มากที่สุด”นายมนัส กล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์ดำรงธรรม จ.พระนครศรีอยุธยา ได้รับเรื่องร้องเรียนจากนางสมประสงค์ เนคะมานุรักษ์ เจ้าของที่ดินถูกเวนคืน รวม 4 ไร่ 46 ตารางวา ตั้งเป็นโรงผลิตอิฐมอญ และโรงค้าไม้เก่า ถือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจของ อ.บางบาล แต่ทางกรมชลประทาน จะพิจารณาจ่ายค่าเวนคืนเพียง 700 บาทต่อตารางวา โดยราคาประเมิน 4,000 บาท/ตารางวา ส่วนราคาซื้อขายจริงสูงกว่าราคาประเมิน จึงเข้าร้องขอให้กรมชลประทาน ทบทวนค่าเวนคืนใหม่