กลุ่มผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ โวย รายใหญ่ภาคกลาง ส่งไข่ไปขายตัดราคา ร้อง รมว.เกษตรฯ เร่งหาแนวทางแก้ปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำ ช่วยผู้เลี้ยงรายย่อยขาดทุนจนไม่มีที่ยืน เมื่อวันที่ 25 ก.พ.62 นายสุเทพ สุวรรณรัตน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการนำไข่ไก่จากภาคกลางไปขายโดยแข่งกันตัดราคาลงในภาคใต้เพื่อแย่งตลาดกัน ซึ่งได้เร่งเข้าไปแก้ไขโดยขอความร่วมมือจากผู้รวบรวมไข่ไก่หรือล้งทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ไม่ให้ขายเพื่อกระจายสินค้าออกสู่ในตลาดในราคาต่ำกว่าต้นทุนการผลิตของผู้เลี้ยง หากทำเช่นนั้นเกษตรกรรายย่อยจะอยู่ไม่ได้ ภาคใต้มีแม่ไก่ยืนกรง 5.8 ล้านตัว มีไข่ไก่ออกมา 5 ล้านฟองต่อวัน ยังต้องการเพิ่มอีกวันละ 1.5 ล้านฟอง ที่ผ่านมามีไข่ไก่จากภาคกลางไปยังล้งไข่ภาคใต้สัปดาห์ละ 11 ล้านฟอง แต่เนื่องจากกลุ่มผู้เลี้ยงภาคกลางซึ่งเป็นผู้เลี้ยงรายใหญ่ 200,000 ตัวขึ้นไปหลายรายขยายการเลี้ยงขึ้นอีกหลายเท่าตัว โดยไม่ได้หาตลาดไว้ล่วงหน้า ทำให้เมื่อขายไข่แต่ละวันไม่หมด จึงขายตัดราคากันเอง แล้วนำไปขายตัดราคาผู้เลี้ยงไก่ไข่ในภาคใต้ด้วย รวมทั้งยังมีการแอบนำบรรทุกไข่ไก่ใส่รถกระบะลงไปขายให้ผู้ค้าอีกวันละ 30,000 ฟอง ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ของภาคใต้ ขณะนี้ไข่คละหน้าฟาร์มในภาคใต้อยู่ที่ฟองละ 2.50 บาท เป็นราคาที่ผู้เลี้ยงอยู่ได้ ไม่ต้องการให้ลดลงไปกว่านี้ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ กล่าวว่า ขอเรียกร้องนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งแก้ไขปัญหาผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคกลางขยายการเลี้ยง โดยไม่ได้หาตลาดไว้ล่วงหน้า เมื่อขายในภาคกลางไม่หมด ก็ส่งไปตัดราคาขายทั้งในภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก่อนหน้านี้ราคาไข่ไก่ปรับตัวสูงขึ้นแล้วหลังเทศกาลกินเจ อีกทั้งกรมปศุสัตว์ขอความร่วมมือให้ลดแม่ไก่ยืนกรงลง ผู้เลี้ยงส่วนหนึ่งให้ความร่วมมือ แต่ผู้เลี้ยงอีกส่วนหนึ่งเห็นว่า แนวโน้มราคาไข่ไก่ดีขึ้นจึงยืดอายุแม่ไก่ยืนกรงออกไปอีก จำนวนไข่ไก่จึงยังคงล้นเกิน เกิดปัญหาราคาตกต่ำซ้ำซากวนเวียน “หากผู้เลี้ยงรายละ 200,000 ตัวขึ้นไปให้ความร่วมมือปลดแม่ไก่ยืนกรง จากที่อายุ 78–80 สัปดาห์ ให้ปลดที่อายุ 68–70 สัปดาห์ จนกระทั่งแม่ไก่ยืนกรงลดลงจากปัจจุบัน 3-4 ล้านตัว ปริมาณไข่ไก่ก็จะสมดุลกับความต้องการบริโภค ราคาก็มีเสถียรภาพ อีกทั้งการแก้ปัญหาด้วยการแข่งกันขายตัดราคานั้นส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงทั้งระบบ โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงไม่เกิน 10,000 ตัวซึ่งต้นทุนการผลิตสูงกว่ารายใหญ่ทั้งค่าอาหารและการจัดหาอุปกรณ์การเลี้ยง ซึ่งต้นทุนอยู่ที่ฟองละ 2.70 บาท แต่ขายได้ 1.70–2.00 บาท ดังนั้นหากผู้เลี้ยงรายใหญ่ยังคงทำเช่นนี้ เกษตรกรรายย่อยจะไม่มีที่ยืน ขาดทุนกันหมด” นายสุเทพ กล่าวว่า ได้ประสานมายังนายมาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่เพื่อขอหารือให้แก้ปัญหาไปในทิศทางเดียวกันคือ ให้ผู้เลี้ยงรายใหญ่ในภาคกลางซึ่งเป็นแหล่งผลิตไข่ไก่ที่ใหญ่ที่สุดลดจำนวนการเลี้ยงลง อีกทั้งหาตลาดที่แน่นอนได้ก่อน แล้วจึงค่อยกำหนดปริมาณการเลี้ยง ดีกว่าขยายการเลี้ยง โดยไม่ได้วางแผนการตลาดไว้เลย เมื่อไข่ออกมามากก็ขายตัดราคากัน ส่งผลกระทบถึงผู้เลี้ยงไก่ไข่ทั้งประเทศ ซึ่งหวังว่า หากหารือกันแล้ว สามารถดำเนินการได้ตามแนวทางนี้ ราคาไข่ไก่จะปรับตัวสูงขึ้นอยู่ในระดับที่เหมาะสมภายในเวลาอันรวดเร็ว