ในที่สุด มหากาพย์โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงก็สิ้นสุด มาถึงจุดเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้ หลังจากผ่าน 5 รัฐบาล ในระยะ 16 ปี นับแต่ปี 2543 เป็นต้นมา โดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อนุมัติโครงการ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 และมีการทำพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างอาคารแปลง G บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2559 โดยวางแผนก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายใน 18 เดือน ย้ายผู้เช่าเดิมเข้าไปอยู่ในเดือนมิถุนายน 2561 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ ผู้อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนโครงการนี้ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจน การสร้างโอกาสเข้าถึงสวัสดิการสังคมและที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย โดยยึดถือเป็นนโยบายเร่งด่วน และมอบหมายให้ตน เป็นประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี (พ.ศ.2559-2568) ร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง สำหรับการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงนั้น สืบเนื่องจากชุมชนแห่งนี้มีอายุมากกว่า 50 ปี สภาพอาคารทรุดโทรม เสี่ยงต่ออันตราย สภาพแวดล้อมชุมชนไม่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัย การจัดสร้างที่อยู่อาศัยใหม่จะมีความมั่นคงปลอดภัย มีระบบป้องกันอัคคีภัยและแผ่นดินไหว และการจัดสร้างสภาพแวดล้อมที่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตผู้อยู่อาศัย เช่นเดียวกับ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นหัวหอกนำนโยบายมาขับเคลื่อนต่อให้ความสำคัญกับโครงการนี้อย่างชัดเจน โดยลง พื้นที่มาพบปะกับชาวชุมชนดินแดงถึง 5 ครั้ง รับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะ ตลอดจนร่วมแก้ไขปัญหาจนเป็นที่พอใจของชาวชุมชน และให้การสนับสนุนโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงอย่างแข็งขันแทนการต่อต้านอย่างที่เคยเป็นมา จนสามารถผลักดันโครงการจนเป็นผลสำเร็จ สำหรับ ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติใหม่หมาด โครงการนี้เป็นการประเดิมหน้าที่หลังรับตำแหน่งใหม่ๆ ซึ่งนอกจากอาคารแปลง G จำนวน 334 หน่วยแล้ว ยังต้องขับเคลื่อนโครงการส่วนที่เหลือสำหรับผู้เช่ารายเดิมและผู้เช่ารายใหม่อีกร่วม 10,000 กว่าหน่วย เพื่อให้เต็มโครงการตามแผนแม่บทโครงการฯ (พ.ศ.2559-2567) ซึ่งไม่น่าจะยากเกินไป เพราะในกระบวนการขออนุมัติงบประมาณก่อสร้างระยะที่ 2-4 รองรับผู้อยู่อาศัยเดิมก็ดำเนินการควบคู่ไปกับการก่อสร้างอาคารในแต่ละระยะ กล่าวโดยสรุป โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง เป็นโครงการนำร่องที่สำคัญยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยในใจกลางเมืองที่การเคหะแห่งชาติดำเนินการมาอย่างยาวนาน เมื่อโครงการฯ เดินหน้าขับเคลื่อนได้ ย่อมส่งแรงกระเพื่อมในทิศทางบวกไปยังโครงการอื่นที่อยู่ในภาวะต้องฟื้นฟู ไม่ว่าโครงการพระราม4 คลองเตย โครงการรามอินทรา โครงการห้วยขวาง ซึ่งจะมีการเปรียบเทียบให้เห็นถึงคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า แต่ก็ต้องใช้ระยะเวลาอีกยาวนานพอสมควรโดยผู้อยู่อาศัยมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของตนเอง ป้าสนม อินทร์สมบัติ เพราะที่อยู่อาศัยนั้น ไม่เพียงแต่เป็นที่คุ้มหัวนอนอย่างเดียว หากยังต้องมั่นคง ปลอดภัย เป็นที่มั่นสำหรับการอยู่อาศัย ตลอดจนส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าในชีวิตอีกด้วย ซึ่งยืนยาวกว่าแค่ชั่วอายุเดียว ดังที่ ป้าสนม อินทร์สมบัติ วัย 67 ปี ผู้เช่าในแฟลต 20 ที่จะย้ายมาอยู่ในอาคารแปลง G เล่าว่า ความมั่นคงของอาคารที่เธออยู่ค่อนข้างเสี่ยง เพราะด้านหลังห้องมีปูนกะเทาะร่วงลงมาบ่อย ถ้าไม่มีการตกแต่งปรับปรุงเลยคงอยู่อาศัยไม่ได้ ไม่มีคนเช่าแน่นอน เธออยู่ที่นี่มาตั้งแต่ปี 2525 เมื่อการเคหะแห่งชาติทำโครงการฟื้นฟูดินแดง แม้จะหวั่นไหวไปตามกระแสคัดค้านไปบ้าง แต่การได้สัมผัสความจริงด้วยตัวเอง นอกจากความเสื่อมทรุดของอาคารแล้ว ยังมีปัญหายาเสพติด การลักขโมย “ดีใจ ก็อยากอยู่อาคารใหม่ที่มั่นคงปลอดภัยกว่า มีระบบรักษาความปลอดภัย มีแม่บ้านคอยดูแล ลูกชายก็บอกให้ย้าย เผื่อเขาจะมีครอบครัวในอนาคต ฉันเองก็อาจกลับไปอยู่ต่างจังหวัด” ป้าสนมมีอาชีพรับจ้างเย็บผ้า อาจกังวลใจบ้างตรงที่จะเอาข้าวของเก่าไปไว้ที่ไหน เธอรู้สึกว่า ห้องใหม่ 33 ตารางเมตรแคบไป แต่ป้าที่นั่งอยู่ข้างๆ บอกอย่างมั่นใจว่า เท่าเดิมที่เคยอยู่นั่นแหละ เพราะลูกชายเป็นวิศวกรตรวจสอบให้แล้ว ถ้าจะต่างไปบ้างก็แค่ 1-2 ตารางเมตร เท่านั้น ป้าสมนึก อีกคนเป็น ป้าสมนึก ทองสั่ง วัย 78 ปี แต่ยังแข็งแรง อยู่ในแฟลตที่ 19 อยู่ในบัญชีต้องย้ายมาอยู่อาคารแปลง G เช่นกัน บอกสั้นๆ ว่าดีใจจะได้ย้ายอยู่อาคารใหม่ เพราะที่อยู่เดิมมีปัญหา น้ำรั่วลงมาจนซ่อมไม่ไหวแล้ว โชคดีที่รั่วด้านนอก แต่เพื่อนบ้านบางห้องรั่วลงมาในห้องเลย เดือดร้อนมานานแล้ว “ฉันเองไม่เท่าไหร่ ตอนนี้อยู่คนเดียว แต่อยากให้ลูกหลานได้มาอยู่ ลำพังถ้าอยู่กันแบบทุกวันนี้ เด็กๆ เขาไม่มาแน่นอน พอเป็นอาคารใหม่ ใครๆ ก็อยากมา” ความไม่ปลอดภัยในชีวิตก็เป็นเรื่องสภาพอาคารที่ทรุดโทรม แต่ยังมีความไม่ปลอดภัยในทรัพย์สินรวมอยู่ด้วย “ห้องฉันถูกงัดมาแล้ว 3 ครั้ง ยาเสพติดมันเยอะ สภาพแวดล้อมไม่ดี” เห็นไหมว่า ห้อง 33 ตารางเมตรมีความหมายสำหรับผู้เช่าขนาดไหน เพราะเท่ากับชีวิตตัวเอง ต่อเนื่องถึงลูกหลานเลยทีเดียว นางสาวอุบลวรรณ สืบยุบล รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ทิ้งท้ายไว้น่าสนใจว่า โครงการนี้ในแง่ของรายได้และผลตอบแทนแทบไม่ได้อะไร ต้องอาศัยรายได้จากที่อยู่อาศัยของรายใหม่ 2 หน่วย มาอุดหนุนผู้เช่ารายเดิม 1 หน่วย แต่ในแง่ของนโยบายรัฐบาลและภารกิจของการเคหะฯ เป็นเรื่องสำคัญ ไม่แพ้กัน “การเคหะฯ มีภารกิจในการจัดการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยอยู่แล้ว โครงการชุมชนดินแดงเป็นเรื่องที่การเคหะฯ เองตั้งใจฟื้นฟูมาตลอด 16 ปีที่ผ่านมา โชคดีที่สำเร็จได้ในยุครัฐบาลนี้”