กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ติดตามสภาพอากาศเพื่อเตรียมพร้อมช่วยเหลือพื้นที่ที่ยังมีค่า ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน พร้อมวางแผนแก้ไขปัญหาภัยแล้งพื้นที่การเกษตร-แหล่งน้ำภาคตะวันออก-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 22 ก.พ.62 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากผลตรวจคุณภาพอากาศบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลของกรมควบคุมมลพิษในวันนี้ (22 กุมภาพันธ์ 2562) พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดีมาก ดังนั้น หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วจังหวัดระยอง จึงติดตามข้อมูลผลตรวจสภาพอากาศเพื่อเร่งช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรของภาคตะวันออก บริเวณจังหวัดจันทบุรี ที่กำลังประสบปัญหาภัยแล้งในขณะนี้ โดยผลการตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์สัตหีบ จังหวัดชลบุรี พบว่า มีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 61% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 32% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -0.5 ซึ่งมีโอกาสในการพัฒนาตัวของเมฆได้ค่อนข้างน้อย หน่วยปฏิบัติการฯ จังหวัดระยอง จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีความเหมาะสมจะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรจังหวัดจันทบุรี ทั้งนี้ สำหรับการช่วยเหลือพื้นที่ภัยแล้งของภาคตะวันออก กรมฝนหลวงฯ จะตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่จังหวัดจันทบุรี ณ สนามบินท่าใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2562 เป็นต้นไป ด้านผลตรวจสภาพอากาศบริเวณพื้นที่ภาคกลาง จากสถานีเรดาร์ตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ และสถานีเรดาร์โพธาราม จังหวัดราชบุรี พบว่า มีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 43% (ตาคลี) 46% (โพธาราม) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 10% (ตาคลี) 10% (โพธาราม) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ 0.1 (ตาคลี) 1.1 (โพธาราม) ซึ่งยังไม่เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนเร็วจังหวัดนครสวรรค์ จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีแนวโน้มการพัฒนาตัวของเมฆได้ดี หน่วยปฏิบัติการฯ จังหวัดนครสวรรค์ จะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่ตำบลหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี ที่มีค่าฝุ่นละอองเกินเกณฑ์มาตรฐานทันที ส่วนบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง มีค่าคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน ลำพูน แพร่ และน่าน อยู่ในเกณฑ์เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน อีกทั้งบริเวณภาคเหนือมีพื้นที่ที่เกิดการเผาไหม้และมีลมตะวันตกที่พัดพาฝุ่นละออง จากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในพื้นที่ภาคเหนือด้วย กรมฝนหลวงฯ จึงติดตามสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองในอากาศอย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมวางแผนช่วยบินปฏิบัติการบรรเทาปัญหาดังกล่าว และจากผลการตรวจสภาพอากาศ จากสถานีเรดาร์ร้องกวาง จังหวัดแพร่ และสถานีเรดาร์อมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ มีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 40% (ร้องกวาง) 14% (อมก๋อย) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 15% (ร้องกวาง) 16% (อมก๋อย) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ 5.3 (ร้องกวาง) 11.2 (อมก๋อย) ซึ่งอากาศมีความเสถียรภาพมาก โอกาสการปฏิบัติการฝนหลวงเป็นไปได้ค่อนข้างยาก หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วจังหวัดเชียงใหม่ จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากในช่วงบ่ายมีความเหมาะสม จะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาทันที สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดขอนแก่นมีค่าคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์เริ่ม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน รวมถึงมีพื้นที่การเกษตรที่เริ่มประสบปัญหาภัยแล้งมากขึ้น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จึงได้มีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ให้ปรับแผนการทำงานบริเวณลุ่มแม่น้ำชีที่ขณะนี้มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปริมาตรน้ำปัจจุบันอยู่ที่ 38% (1,925.05 ล้าน ลบ.ม.) ซึ่งอยู่ในระดับที่ค่อนข้างน้อย กรมฝนหลวงฯ โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วจังหวัดขอนแก่น จึงติดตามสถานการณ์สภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมช่วยคลี่คลายปัญหาฝุ่นละอองในอากาศและปัญหาภัยแล้ง โดยผลตรวจสภาพจากสถานีเรดาร์บ้านผือ จังหวัดอุดรธานี และสถานีเรดาร์พิมาย จังหวัดนครราชสีมา พบว่า มีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 60% (บ้านผือ) 75% (พิมาย) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 13% (บ้านผือ) 45% (พิมาย) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ 4.4 (บ้านผือ) -0.4 (พิมาย) ซึ่งยังไม่เข้าเกณฑ์ที่เหมาะสม หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วจังหวัดขอนแก่น จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากสภาพอากาศมีความเหมาะสม จะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการในภารกิจการคลี่คลายปัญหาฝุ่นละอองในอากาศและปัญหาภัยแล้งบริเวณพื้นที่การเกษตรและแหล่งน้ำต่อไป