การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 นี้ ในสายตาของคนท้องถิ่นมีมุมมองที่แตกต่างจากคนกลุ่มอื่นอยู่บ้าง ก็เพราะในอดีตที่ผ่านมา นับตั้งแต่ก่อนการกระจายอำนาจตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่มีการเลือกตั้งท้องถิ่นอย่างเต็มลูกสูบเริ่มจาก พรบ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ใช้บังคับเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2537 การยกฐานะสุขาภิบาลทั้งหมดเป็นเทศบาล เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2542 และการเลือกตั้งนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แบบ “การเลือกนายก อปท.โดยตรง” (Strong Executive) ใน อปท.ทุกรูปแบบมาตั้งแต่ปี 2546 แน่นอนว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มันมีผลต่อ คนในท้องถิ่น ที่รวมถึงคน อปท. อย่างแน่นอน อำนาจพิเศษ คสช. และกระแสไฮไลต์ (1) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังใช้มาตรา 44 ที่เป็นอำนาจพิเศษได้ ด้วยการเลือกตั้งในปี 2562 ถือเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้วางกรอบบีบรัดให้พรรคการเมืองมีความยุ่งยากในการลงสนามเลือกตั้ง อาทิเช่น ที่มาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), ประกาศ คสช. ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม, รวมอำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ฯลฯ เห็นได้ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกออกแบบให้เป็น "การเลือกตั้งตามแบบเพื่อ คสช." ที่กลไกอำนาจรัฐต่าง ๆ ยังอยู่ภายใต้ คสช. (2) การปลดล็อก หรือ การแก้ไขและยกเลิกกติกา “กฎเหล็ก” หลังรัฐประหารปี 2557 ที่เป็นอุปสรรคในการทำกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมือง ในตลอด 4 ปีที่ผ่านมา 2 ฉบับ เพียงเป็นการผ่อนคลาย คือ (1) ประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจการทางการเมือง และ (2) คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไป (3) การเซ็ทซีโร่พรรคการเมือง การจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่ทั้งหมด การทำไพรมารีโหวต (primary vote) ที่ให้สมาชิกพรรคลงคะแนนเลือกว่าใครสมควรเป็นตัวแทนพรรคลงชิงเก้าอี้ ส.ส. ในเขตต่าง ๆ ที่ดูจะขาดไม่สมบูรณ์ไป ทำให้เป็นข้อได้เปรียบเสียเปรียบของพรรคการเมือง พรรคเก่า พรรคใหม่ พรรคเล็ก พรรคใหญ่ ด้วยบทเฉพาะกาลข้อยกเว้นตามรัฐธรรมนูญที่ยังใช้อยู่ (4) ที่สำคัญคือมีกลุ่มคนเด็กรุ่นใหม่เป็นจำนวนมาก เรียก “นิวโหวตเตอร์” (New Voter) หรือ ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งหน้าใหม่ ที่มีอายุครบ 18 ปีในวันที่ 1 ของปีที่มีการเลือกตั้ง แต่ยังไม่เคยเลือกตั้งมาก่อน เนื่องจากไทยไม่มีการเลือกตั้งมานานถึง 8 ปี ทำให้ชาวไทยผู้มีอายุตั้งแต่ 18-26 ปี กลายเป็นกลุ่มคนที่เพิ่งมีโอกาสได้ใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในปี 2562 นี้ด้วย กลุ่มผู้สมัครตามตามวัตถุประสงค์ ปัจจุบันกลุ่มผู้สมัครรับเลือกตั้งมีหลากหลาย สามารถแบ่งกลุ่มตามวัตถุประสงค์ ดังนี้ (1) พรรคตัวจริงที่เอาจริง (2) พรรคสมัครเล่นไม่หวังแค่เอาเงินพรรค (3) พรรครออานิสงค์ (รอเสียบรอส้มหล่น) (4) พรรคมีปัญหาในอดีต จำต้องแปรพักตร์ (5) พรรคทางเลือกใหม่เปิดตัวหวังเสริมเวทีอื่น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นผู้สมัครแบบใดก็ตาม ล้วนมีความหมายใน “การเก็บตก” คะแนนทั้งสิ้น ยิ่งเคยเป็น ส.ส.สอบตกยิ่งต้องวิ่งไปช้อนเอาคะแนนมาเข้าพรรค (เข้ากองกลาง) ให้ได้เพื่อนำไปคำนวณหายอด ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคตามระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม (Mixed Member Apportionment System : MMA) ภาพโดยรวมของการเลือกตั้งครั้งนี้ (1) ผู้กำหนดกฎกติกาลงมาเล่นเอง ทำให้มีข้อได้เปรียบ เช่น ที่มาของนายกรัฐมนตรีมาจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สรรหาที่แต่งตั้งจากรัฐบาลชุดเดิม รวมทั้งกติกาการเคารพเสียงข้างน้อย (Majority rule minority rights) ไม่คิด ทำให้ได้รัฐบาลผสมหลายพรรคแน่นอน ถือ “เป็นการสืบทอดอำนาจ” ซึ่งนักวิชาการวิเคราะห์ว่า คสช. อยู่เหนือการเลือกตั้งครั้งนี้ใน 3 ประการ คือ (1) คสช. เป็นคนเขียนกติกาเอง (2) คสช. เป็นคนตีความและบังคับใช้กติกาเอง (3) คสช. เป็นผู้เล่นเอง ในสนามการเลือกตั้ง (2) มีทั้งผู้สมัครและพรรค ที่สมัครกันมากกว่าทุกครั้งแสดงให้เห็นถึง ความสนใจของคนรุ่นใหม่และผู้มีความรู้ความสามารถ เป็นการถ่ายเลือดทางการเมือง แต่อย่างไรก็ตามนักการเมืองรุ่นเก่าก็ยังพอมี เป็นนิมิตหมายที่ดีที่ทำให้ประชาชนมีทางเลือก (3) มีพรรค “ทางเลือก” (Alternative) ที่เกิดใหม่ เช่น พรรคของท้องถิ่น หรือ พรรคที่แกนนำมีลักษณะโดดเด่นพิเศษ เช่น พรรคของอดีตนายพลตำรวจ พรรคของอดีตอธิบดีด้านสิ่งแวดล้อมฯ พรรคของอดีต ผอ.สถาบันวิชาการฯ พรรคของคนหนุ่มรุ่นใหม่ ฯลฯ ที่เป็นในลักษณะทางเลือก ไม่ใช่มีแค่ ฝ่ายแดงกับฝ่ายเหลือง ที่จะเป็นตัวแย่งที่นั่งในรัฐสภาที่เพิ่มขึ้น (4) การทุจริตการเลือกตั้งยากขึ้นและมีบทลงโทษมากขึ้น แต่ในทางกลับกันเป็นการเอื้อประโยชน์อีกฝ่ายได้ โดยเฉพาะผู้มีบารมี มีเครื่องมือ มีอำนาจอยู่ในมือ เช่น ฝ่ายรัฐบาลที่มีข้าราชการคอยช่วยเหลือ ทั้งองค์กร และหน่วยงานภาครัฐพร้อมสนับสนุน คนในพื้นที่ท้องถิ่นก็มีขั้ว มาดูการแยกขั้วแยกกลุ่มคนที่จะมีผลต่อการเลือกตั้ง ส.ส.ในครั้งนี้ขอเรียกว่า “หัวคะแนน” (election canvasser) สำหรับคนในพื้นที่ที่จะเป็นหัวคะแนนแก่ “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” และ “ผู้สมัครรับเลือกตั้ง” ซึ่งอาจมีพฤติกรรมที่นำไปสู่ “การซื้อเสียง” (Vote Buying) ได้ คือ (1) ฝ่ายท้องถิ่นทุกระดับ หรือฝ่ายการเมืองท้องถิ่น ที่รวมถึงฝ่ายประจำท้องถิ่น (ข้าราชการและลูกจ้าง) ที่มีสายโยงใย (เรียกมีคอนเน็กชั่น) กับฝ่ายการเมืองด้วย และ (2) ฝ่ายปกครองท้องที่ ที่เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของรัฐในพื้นที่ ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ รวมถึงกลุ่มพลังมวลชนจัดตั้งของรัฐในพื้นที่ และ นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นต้น หัวคะแนนสำคัญ 2 ฝ่ายใครใหญ่กว่ากัน (1) มีปรากฏการณ์ชัดเจนประการหนึ่งว่า “ฝ่ายการเมืองท้องถิ่น” ได้เข้ามามีบทบาทในการหาเสียง หรือชี้ชะตา นักการเมืองระดับชาติ เพราะทุกพื้นที่เป็นพื้นที่ของนักการเมืองท้องถิ่น โดยเฉพาะนายก อบต. นายกเทศมนตรี และ นายก อบจ. รวมทั้งปลัด อบต. ปลัดเทศบาล และปลัด อบจ. ถือว่าบุคคลเหล่านี้เนื้อหอมมาก เพราะสามารถเป็นตัวกำหนดทิศทางและชี้นำสังคมได้ว่าจะเลือกใคร หรือใครจะชนะได้ แต่เดิมนั้นผู้สมัคร ส.ส. มักจะใช้หัวคะแนนจัดตั้ง แต่ปัจจุบันหัวคะแนนแบบเดิม ประเภทเดิมใช้ไม่ได้ ถูกยุบเลิกไป หรือ ตัวนายก อปท.เล่นการเมืองเองโดยตรง สรุปหากผู้สมัคร ส.ส. จะชนะการเลือกตั้งได้ ต้องมีนายก อปท. โดยเฉพาะเจ้าของพื้นที่คือ นายก อบต. นายกเทศมนตรี และ ปลัด อบต. ปลัดเทศบาลสนับสนุน ไม่สามารถเข้าหาและจัดตั้งระบบหัวคะแนนแบบเดิมๆได้ เพราะว่าบุคคลดังกล่าวนี้อยู่ในพื้นที่กับประชาชน และมีหน้าที่ช่วยเหลือประชาชน อยู่ใกล้ชิดประชาชน มากกว่าผู้สมัคร ส.ส. และหัวคะแนนอื่น (2) ในอีกฟากฝั่งหนึ่งหัวคะแนนสำคัญ “ฝ่ายปกครองท้องที่” คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่อยู่ในพื้นที่ท้องถิ่นเช่นกัน ก็ใช่ว่าจะทำหน้าที่หัวคะแนนไม่ได้เลย แม้จะมีกฎหมาย หรือมาตรการว่าให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องวางตัวเป็นกลางก็ตาม เพราะเป็นบุคคลผู้มีอำนาจบารมีในระดับท้องที่มาช้านาน มีแขนขาและผู้ช่วยล้วนเป็นกลุ่มองค์กรจัดตั้งของรัฐในพื้นที่มากมาย ไม่ว่า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.), อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.), อาสาสมัครตำรวจบ้าน, ลูกเสือชาวบ้าน (สส.ชบ.), กลุ่มเกษตรกร, กลุ่มผู้ใช้น้ำ, กลุ่มอาชีพฯ, กลุ่มกองทุนหมู่บ้านฯ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มราษฎรเหล่านี้ ทั้งกลุ่มมวลชน และกลุ่มอาชีพเหล่านี้ ในหลายๆกลุ่มมีสมาชิกเป็นบุคคลในกลุ่มเดียวกัน หรือเชื่อมสัมพันธ์กันในระหว่างญาติหรือเพื่อนบ้าน เพราะอยู่ในพื้นที่เดียวกัน (3) หมดยุคนักการเมืองต้องเข้าหานักการเมืองระดับชาติ แต่เป็นยุคที่ฝ่ายการเมืองท้องถิ่น และฝ่ายปกครองท้องที่มีอำนาจเป็นผู้กำหนดตัว ส.ส. และนักการเมืองระดับชาติ หมดยุคหัวคะแนน ที่เอาเงินไล่แจกชาวบ้านเมื่อมีการเลือกตั้ง (4) นอกจากนี้ในระบบการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้ใหญ่บ้านในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเป็นผู้นำหมู่บ้านด้วย ในช่วงที่ผ่านมาได้รับมอบหมายภารกิจจากรัฐบาลเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการประชารัฐ ประชานิยมมากมาย รวมทั้งโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐด้วย นอกจากนี้ผู้ใหญ่บ้านยังได้รับการอบรมการใช้สมาร์โฟน (SmartVote App) ในการรายงานการเลือกตั้งมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ด้วย จึงถือเป็นบุคคลสำคัญในการจัดการเลือกตั้งในอีกบทบาทหนึ่ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องไปพิจารณาว่า จะมีความเป็นกลางทางการเมืองในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ คอนเน็กชั่นถูกปิดประตูหมด (1) สื่อวิทยุ โทรทัศน์ ต้อง กกต.จัดเวทีกลางให้เท่านั้น ผู้สมัครฯ ควรใช้ช่องทางโซเชียลที่ไม่ได้ห้าม เท่ากับว่า คนที่ไม่มีกลุ่ม ย่อมมีหนทางที่น้อยลง นอกจากนี้ นายก อปท.มีเส้นทางเอื้อให้ผู้สมัครฯได้หลายทาง โดยอาศัยอำนาจและบารมีในพื้นที่ เรียกว่าหลบหลีกกฎหมายได้ รวมทั้งมีคอนเน็คชั่นกับคนในวงการต่าง ๆ ในพื้นที่ได้มากกว่าคนอื่น ๆ โดยเฉพาะคนหน้าใหม่ เช่น ผู้สมัคร ส.ส. (2) ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองน้อย (การตัดสินใจ) เพราะแม้แต่งบประชารัฐ ก็มีผู้มาล็อบบี้ แบ่งสรรงบ (3) ในมุมกลับพรรคการเมืองเล็ก ๆ อาจหั่นฐานคะแนน ส.ส.เดิมพรรคใหญ่ออก ประกอบกับคะแนนแบบสะสมได้ ก็อาจเป็นช่องให้พรรคเล็กเกิดใหม่ก็เป็นได้ เพราะทุกคะแนนสะสมจะมีค่าไปถึงบัญชีปาร์ตี้ลิสต์ แต่รอบนี้ เชื่อว่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน น่าจะมีบทบาทมากกว่า นายก อปท. หรือสมาชิก อปท.ในการชี้ทางเลือกให้แก่ชาวบ้านผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่าจะเลือกหรือไม่เลือกผู้สมัครคนใด (4) นอกจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่างตัวบุคคลของผู้สมัครฯ กับตัวเชื่อม (คอนเน็กชั่น) ถือได้ว่ามีความสำคัญมากสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะรักใคร่ ความเชื่อถือในอำนาจ บารมี เป็นส่วนบุคคลยังมีอยู่ (5) อย่างไรก็ตามในความเชื่ออย่างหนึ่งของการชี้นำ การใช้เงินซื้อเสียงอาจยังมีอยู่ เพราะเงินถือเป็นปัจจัยชี้นำที่สำคัญมากที่สุดในการเลือกตั้งที่ผ่านมาทุกครั้ง เพราะมีข้อสังเกตแบบสังหรณ์ใจว่าผู้สมัครตัวเต็งไม่ได้เข้าร่วมโครงการอบรมผู้สมัครฯ ที่มีการปฏิญาณตนด้วย หากเป็นเช่นนี้เห็นท่าจะฟรีและแฟร์ยาก ในพื้นที่หมู่บ้านและชุมชนจึงถือเป็นสนามประลองของบรรดาผู้สมัคร ส.ส. ทั้งหลายที่ต้องวัดดวง ประลองกำลังกัน เพื่อแย่งชิงคะแนนจากประชาชนมาเป็นของตัวให้ได้ โดยมีตัวแปร “หัวคะแนนท้องถิ่น” สำคัญอยู่ในพื้นที่ชี้นำ อย่างน้อยเป็นคะแนนสะสมให้ปาร์ตี้ลิสต์ก็ยังได้