กรมส่งเสริมการเกษตร เชิญชวนเกษตรกรผู้ปลูกไม้ผลเพื่อการส่งออก ขึ้นทะเบียนเกษตรกรระหว่างรอการรับรองมาตรฐาน GAP สร้างความมั่นใจต่อผลไม้ไทยในตลาดต่างแดน เมื่อวันที่ 21 ก.พ.62 นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ประเทศจีนถือเป็นตลาดส่งออกผลไม้ขนาดใหญ่ของประเทศไทย ประมาณ ร้อยละ 75-80 แต่ปีที่ผ่านมา ตรวจสอบพบหนอนเจาะเมล็ดและเพลี้ยแป้งปนเปื้อนในผลไม้ ประเทศจีนจึงมีความเข้มงวดต่อการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยระบุให้ผู้ส่งออกของไทยต้องแจ้งเลขทะเบียน GMP ของล้งส่งออก และเลขทะเบียนสวนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะทุเรียนซึ่งเป็นผลไม้ที่นิยมของชาวจีนหากเลขทะเบียนใดตรวจพบแมลงศัตรูทุเรียน จะระงับการส่งออกของเลขทะเบียน GMP ของล้งส่งออกนั้นทันที สำหรับการส่งออกผลไม้ในปีที่ผ่านๆ มาของไทยไปยังประเทศจีนนั้น พบว่าภาคตะวันออกถือเป็นแหล่งผลไม้ที่สำคัญ โดยในปี 2562 มีปริมาณผลผลิตรวมของผลไม้ 4 ชนิดได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง มีปริมาณผลผลิตผลไม้รวมมากกว่า 900,000 ตัน และทุเรียนถือเป็นผลไม้ที่ถูกส่งออกเป็นจำนวนมากไปยังจีน เพราะส่งออกได้ทั้งผลสดและแช่แข็ง ดังนั้นจึงต้องเพิ่มการตรวจติดตามและมาตรการเฝ้าระวังในการป้องกันแก้ไขทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด ซึ่งได้แบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1.ระดับเกษตรกร ด้วยการสนับสนุนให้เกษตรกรขึ้นทะเบียนรับรองมาตรฐานแปลง GAP 2.ระดับโรงคัดบรรจุลัง ให้มีการจัดทำทะเบียนโรงคัดบรรจุให้ได้มาตรฐาน GMP และ3.ระดับด่านตรวจพืช/การขนส่ง ต้องได้ใบปลอดศัตรูพืช (PC) และการส่งออกทุเรียนแต่ละชิปเม้นท์จะต้องแสดงเลขทะเบียน GMP และเลขทะเบียนสวนเกษตรกรที่หน่วยงานราชการออกให้ ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันการขึ้นทะเบียนรับรองมาตรฐานแปลง GAP ของเกษตรกร มีประมาณร้อยละ 30 ของแปลงเกษตรกรทั้งหมด ทั้งนี้ จึงมีการกำหนดให้ให้ใช้เลขทะเบียนครัวเรือนของเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน (ทบก.) กับกรมส่งเสริมการเกษตรแทนในช่วงที่อยู่ระหว่างดำเนินการรับรองมาตรฐาน GAP ของเกษตรกร พร้อมทั้งให้นำมาใช้กับเกษตรกรผู้ผลิตไม้ผลทุกชนิดของประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร ขอประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรที่ผลิตไม้ผลเพื่อการส่งออก รีบขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร ในระหว่างการดำเนินการรับรองมาตรฐาน GAP โดยให้นำเลขทะเบียนครัวเรือนของเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน (ทบก.) มาใช้ได้แทน เพื่อให้ตรงความต้องการของตลาดผู้ส่งออกและเป็นการสร้างความมั่นใจในคุณภาพผลผลิตให้กับผู้บริโภค ดังนั้น การทำคุณภาพมาตรฐาน ความปลอดภัย จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ไทยส่งออกผลไม้ได้มากขึ้น และสร้างมูลค่าการตลาดได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย