ในขณะที่ “ไทย” เรามี “วิวาทะ” เรื่อง “การยกเลิกเกณฑ์ทหาร” แล้วเปลี่ยนมาเป็นการตบเท้าเข้าสู่กรมกองทหารเหล่าทัพต่างๆ แบบ “สมัครใจ” แทน จนเป็นประเด็นเดือด ตอบโต้กันไปมาทางวาจา กันสนั่นเมือง กระทั่งลามเลยขยายผลไปยังเรื่องอื่นๆ ตามมา เช่นเดียวกับ ที่ “เกาหลีใต้” เจ้าของฉายาว่า “โสมขาว” ก็มี “ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์” ในเรื่องราวการยกเลิกระบบการเกณฑ์ทหารด้วยเหมือนกันอย่างไม่บันเบา โดยกระแสเสียงที่ถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ในถิ่นโสมขาว อาจรุนแรงเหนือในไทยยิ่งกว่า ยิ่ง “การประชุมสุดยอด” หรือ “ซัมมิต รอบ 2” ของผู้นำสหรัฐอเมริกากับเกาหลีเหนือ คือ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ และประธานคิม จอง-อึน แห่งเกาหลีเหนือ ซึ่งกำลังจะมีขึ้นแบบคืบคลานใกล้เข้ามา ณ กรุงฮานอย เมืองหลวงของประเทศเวียดนาม ในระหว่างวันที่ 27 – 28 กุมภาพันธ์ หรือช่วงสิ้นเดือนนี้ ก็ยิ่งมีกระแสเสียงเรียกร้องให้ทางการกรุงโซล รัฐบาลโสมขาว ได้ถึงคราวยกเลิกระบบการเกณฑ์ทหาร หากว่า การซัมมิตที่กำลังจะมีขึ้นนั้น ส่งผลานิสงส์ให้ “สันติภาพ” บังเกิดขึ้น “บนคาบเกาหลี” อันเป็นถิ่นที่ตั้งของ “เกาหลีเหนือ” โสมแดง และ “เกาหลีใต้” โสมขาว ในอนาคต ทั้งนี้ ปรากฎการณ์แห่งกระแสเสียงของการถกเถียงวิพากษ์จารณ์ถึงการยกเลิกระบบการเกณฑ์ในเกาหลีใต้ข้างต้น ก็เริ่มมีมานานหลายขวบปีแล้ว แต่มาร้อนแรงขึ้นภายหลังจากฉาก “การซัมมิตรอบแรก” ระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์ และประธานคิม จอง-อึน บังเกิดขึ้นบนเกาะ “สิงคโปร์” เมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว ก็ทำให้ความหวังว่า สันติภาพจะฉายฉานบนคาบสมุทรเกาหลี ตามมาทันทีจากบรรดาประชาชีชาวโสมขาว พร้อมๆ กับความหวังว่า “ระบบการเกณฑ์ทหาร” จากทางการรัฐบาลโซลของเกาหลีใต้ จะถูกยกเลิก หรือเปลี่ยนแปลงปรับปรุงให้มีลักษณะผ่อนคลายมากขึ้นตามมา ที่มาที่ไปของปรากฏการณ์แห่งกระแสเสียงถกเถียงดังกล่าว ก็มีขึ้นภายหลังจากมีรายงานปรากฏออกมาว่า นับตั้งแต่ พ.ศ. 2496 (ค.ศ. 1953) อันเป็นปีที่เสียงปืน เสียงระเบิด จาก “สงครามเกาหลี” สงบลง สืบมาจนถึงปัจจุบัน มีทหารเกณฑ์ ต้องสังเวยชีวิตไปมากกว่า 60,000 นาย ซึ่งทหารเกณฑ์ที่ว่า หาได้ “พลีชีพ” ไปด้วยพิษภัยของสงครามการสู้รบกับชาติคู่ปรปักษ์อย่างเกาหลีเหนือไม่ ทว่า ถูกคร่าชีวิตไปด้วยความรุนแรงของการ “ข่มเหงรังแก” จากทหารด้วยกันเองบ้าง ทำ “ปืนลั่น” ใส่กันเองบ้าง รวมถึงการดูแลทางการแพทย์ในยามที่ได้รับบาดเจ็บ เจ็บไข้ได้ป่วยอย่างไม่เหมาะสม ตลอดจนฆ่าตัวตายปลิดชีพตนเองก็มี โดยเมื่อกล่าวถึง “ระบบการเกณฑ์ทหาร” ใน “เกาหลีใต้” แล้ว ต้องถือว่า “เข้มงวดยิ่ง” ที่กำหนดให้ชายทุกคนต้องเขารับการเกณฑ์ แบบแทบจะไม่ให้ผ่อนผัน ยิ่งถ้า “หนีเกณฑ์” ด้วยแล้ว ยากที่จะรอดพ้นไปได้ ดังปรากฏในกรณีศิลปินชื่อดัง ด้วยเหตุนี้ เกาหลีใต้ จึงมีตัวเลขของทหารเกณฑ์จำนวนมากว่า 600,000 นาย ประจำการตามกรมกอง ฐานทัพต่างๆ เหตุปัจจัยที่ทำให้เกาหลีใต้ เข้มงวดเรื่องการเกณฑ์ทหารข้างต้น ก็มาจากสถานการณ์เผชิญหน้าในทางการทหารระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้นั่นเอง ซึ่งเมื่อถึงทางเทคนิคแล้ว ทั้งสองประเทศบนคาบสมุทรโสมแห่งนั้น ยังอยู่ใน “ภาวะสงคราม” ระหว่างกันอยู่ ซึ่งสืบเนื่องมาตั้งแต่ “สงครามเกาหลี” เมื่อช่วงปี พ.ศ. 2493 – 2496 (ค.ศ. 1950 – 1953) ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันเสียงปืน เสียงระเบิด สงบลงไปแล้ว แต่ทั้งสองประเทศก็ยังคงประจันหน้ากันในฐานะ “สองชาติคู่สงคราม” ระยะเวลาการประจำการของทหารเกณฑ์ในเกาหลีใต้ ก็แบ่งเป็น ทหารบก เป็นเวลา 21 เดือน ทหารเรือ 23 เดือน และทหารอากาศ 24 เดือน หรือ 2 ปีเต็ม นอกจากความเข้มงวดในเรื่องการเกณฑ์ฯ แล้ว ในการประจำการตามกรมกองเหล่าทัพต่างๆ ก็กวดขันอย่างยิ่งยวดกันอีกต่างหากด้วย สำหรับการเป็นทหารในเกาหลีใต้ โดยมีกฎระเบียบว่า ทหารต้องการประจำการตามฐานต่างๆ ตลอดเวลา แม้จนถึงวันนี้ที่การสู้รบจะสงบลงไปแล้วก็ตาม และการ “ลา” ก็ไม่ใช่ “ลา” กันง่ายๆ โดยกำหนดไว้ว่า ห้ามลาพร้อมกันเกินร้อยละ 25 คือ ไม่ให้มีทหารประจำการตามกรมกองฐานทัพต่างๆ น้อยกว่าร้อยละ 75 ฐานทัพในเมืองปาจู ของเกาหลีใต้ ซึ่งมีพรมแดนติดกับเกาหลีเหนือ ที่มีแนวเรียงราย เป็นหนึ่งในฐานทัพที่เหล่าทหารเกณฑ์ของเกาหลีใต้ต้องไปประจำการ สาเหตุที่ทำให้เกาหลีใต้ ออกกฎระเบียบข้างต้นมานั้น ก็สืบเนื่องมาจากการรุกรานกรุงโซล โดยทหารเกาหลีเหนือ ข้ามเส้นขนานที่ 38 องศาเหนือ อันเป็นเส้นแบ่งเขตพรมแดนเข้ามา ในช่วงสงครามเกาหลี เมื่อเกือบ 70 ปีก่อนนั่นเอง ที่เกิดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ อันเป็นวันที่ทหารลาพักประจำการออกจากกรมกองไปเป็นจำนวนมากเพราะเป็นวันหยุดนั่นเอง ซึ่งเหตุการณ์สู้รบครั้งนั้น นำมาซึ่งความสูญเสียแก่กองทัพเกาหลีใต้ในกรุงโซล เป็นจำนวนมาก การสู้รบระหว่างทหารเกาหลีเหนือกับทหารเกาหลีใต้ ที่กรุงโซล หลังทหารเกาหลีเหนือรุกข้ามเส้นขนานที่ 38 องศาเหนือเข้ามา ในสงครามเกาหลี ซึ่งยังเป็นที่หวาดกลัวของเกาหลีใต้ กล่าวถึงสถานการณ์ทางความคิดของประชาชนชาวเกาหลีใต้ในปัจจุบัน ก็ต้องถือว่า คลายความปฏิปักษ์ต่อเกาหลีเหนือลงไปมากแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนรุ่นใหม่ ที่ส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็นว่า ไม่เคยมองว่าเกาหลีเหนือเป็นศัตรูของพวกเขาเลย แถมยังรู้สึกสงสารต่อสภาพความเป็นอยู่ของชาวเกาหลีเหนือด้วยซ้ำ และว่า การเกณฑ์ทหารไปประจำการตามฐานทัพต่างๆ บริเวณพรมแดนสองเกาหลี ก็ไม่ใช่สิ่งที่คนรุ่นใหม่ของเกาหลีใต้เหล่านี้ต้องการ เห็นว่าไม่ใช่สิ่งจำเป็น และเสียเวลาไปโดยใช่เหตุในการเป็นทหารเกณฑ์ แทนที่จะไปหางานอื่นๆ ทำหลังจากพิ่งจบการศึกษามาอีกต่างหากด้วย ทั้งนี้ คนรุ่นใหม่บางคนยังเสนอแนะว่า ควรปรับเปลี่ยนการเกณฑ์ทหาร มาให้พวกเขาไปทำงานในหน่วยงานรัฐตามท้องถิ่นต่างๆ น่าจะดีกว่า อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า ยังเป็นเรื่องยากและเร็วเกินไป ที่จะให้ทางการเกาหลีใต้ยกเลิกระบบการเกณฑ์ทหารในอนาคตอันใกล้ ด้วยยังหวั่นใจในเหตุการณ์สงครามครั้งอดีต ที่เปรียบเสมือนรอยแผลเก่า หรือมรดกเลือด ที่ทางการโสมขาวมิอาจสลัดทิ้งไปได้โดยง่าย