ใจจด ใจจ่อ รอชมการประชุมสุดยอด หรือซัมมิต รอบ 2 ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกา กับประธานคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือกันถ้วนหน้า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ประชุมสุดยอด หรือซัมมิต ครั้งแรกกับประธานคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ เมื่อกลางปีที่แล้ว สำหรับสถานการณ์โลก ณ เวลานี้ ซึ่งใกล้จะมีฉากซัมมิตข้างต้นให้บังเกิดกันในช่วงสิ้นเดือนนี้ คือ ระหว่างวันที่ 27 – 28 ก.พ.ที่จะถึง โดยสถานที่จัดประชุม ก็ต้องบอกว่า ลุ้นกันด้วยใจระทึกกันมาว่า ประเทศแห่งหนตำบลไหน ที่จะรับเกียรติสร้างประวัติศาสตร์ ในฐานะสถานที่จัดซัมมิตที่จะมีขึ้น และก็ปรากฏว่า “เวียดนาม” แดน “ญวน” ได้รับเกียรติทำหน้าที่นี้ไป หลังการประกาศของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งมีขึ้นระหว่างการกล่าวแถลงนโยบายประจำปีต่อรัฐสภา หรือ “สเตท ออฟ เดอะ ยูเนียน” ในปี 2เมื่อช่วงต้นเดือนนี้ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ก่อนที่ในเวลาต่อมา ทางการสหรัฐฯ ได้ประกาศให้ “กรุงฮานอย” เมืองหลวงของเวียดนาม จะเป็นนครแห่งหนสำหรับการประชุมสุดยอดที่จะมีขึ้น ทั้งนี้ แม้จะมิได้เปิดเผยถึงเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังลึกของการที่สหรัฐฯ เลือกชาติศัตรูเก่าตั้งแต่ครั้งสงครามเวียดนาม ซึ่งเพิ่งคืนดีกันเมื่อไม่กี่เพลามานี้ ให้เป็นสถานซัมมิตรอบ 2 ข้างต้น แต่บรรดานักวิเคราะห์ ก็คาดการณ์ได้ว่า ทางการอเมริกัน หมายมั่นที่จะให้แดนญวน ที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างดีวันดีคืนแห่งนี้ เป็น “โมเดล” หรือ “แบบจำลอง” สำหรับการสร้างชาติของเกาหลีเหนือ หลังจากที่ยกเลิกโครงการก่อสร้างและพัฒนาอาวุธมหาประลัยอย่างนิวเคลียร์ และขีปนาวุธพิสัยทำการต่างๆ ไปแล้ว แบบเรียกว่า มาศึกษาให้รู้ มาดูให้เห็นเองเต็มตา ในระหว่างที่ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ และคณะ ได้เดินทางมาประชุมซัมมิตบนแดนดินถิ่นชาวญวนแห่งนี้ การประชุมสุดยอดเอเปก เมื่อปี 2560 (ค.ศ. 2017) ที่เวียดนามประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ขณะที่ ทางฝั่งเกาหลีเหนือ ก็มีเป้าประสงค์ที่จะใช้การซัมมิตรอบ 2 หนนี้ เป็นเวทีให้ประชาคมโลกได้รับรองเรื่องการพลิกฟื้นด้านของประเทศ เช่น เรื่องเศรษฐกิจ เป็นอาทิ หลังถดถอยซบเซามาเป็นเวลานานจากการถูกคว่ำบาตรโดยนานาชาติของฟากมหาอำนาจตะวันตกภายใต้การนำของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เมื่อว่ากันทางฟาก “เวียดนาม” ชาติเจ้าภาพจัดการประชุม ก็มีหมุดหมายอันสำคัญกับเขาด้วยเหมือนกัน โดยเหล่านักวิเคราะห์ เช่น “คาร์ล เทเยอร์” ศาสตราจารย์เกียรติคุณ (ศ.เกียรติคุณ) แห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย แสดงทรรศนะว่า ถือเป็นปฏิบัติการในอันที่จะ “สร้างภาพลักษณ์บนเวทีโลก” ครั้งยิ่งใหญ่ของเวียดนามเลยทีเดียว ในฐานะ “เจ้าบ้าน” ให้เป็นสถานที่ที่ผู้นำสหรัฐฯ มหาอำนาจโลก ณ ปัจจุบัน มาเข้าห้องประชุม นั่งถกกับผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ชาติที่พญามังกรจีนแผ่นดินใหญ่ ให้การสนับสนุนเป็นประการต่างๆ เหมือนกับที่ “สิงคโปร์” ประสบความสำเร็จในลักษณะนี้มาแล้ว จากการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด หรือซัมมิตนัดประวัติศาสตร์ครั้งแรกของประธานาธิบดีทรัมป์ และประธานคิม จอง-อึน เมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว ศาสตราจารย์เกียรติคุณแห่งมหาวิทยาลัยในแดนออสซี ยังระบุด้วยว่า นอกจากภาพลักษณ์ที่เวียดนามจะได้แล้ว รัฐบาลฮานอย ทางการของชาวญวน ภายใต้การบริหารปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์เพียงหนึ่งเดียว ก็จะได้โอากาสสานสัมพันธ์อย่างกระชับแน่นแฟ้นทั้งทางฝั่งสหรัฐฯ และกับจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย การประชุมทีพีพี ในเวียดนาม เมื่อปี 2560 (ค.ศ. 2017) ทั้งนี้ กับทาง “จีนแผ่นดินใหญ่” นั้น “ศ.เกียรติคุณเทเยอร์” แสดงทรรศนะต่อไปด้วยว่า เวียดนามก็หวังจะใช้ “สหรัฐฯ” มาถ่วงดุลอำนาจ “จีนแผ่นดินใหญ่” ที่กำลังขยายอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงการขยายอำนาจทางการทหารในทะเลจีนใต้ ซึ่งกำลังเป็นที่พิพาทเรื่องดินแดนอย่างขนานใหญ่กันอีกด้วย เรียกว่า ทั้งสานสัมพันธ์ และใช้อีกชาติมหาอำนาจมาถ่วงดุลอำนาจระหว่างกันอย่างเสร็จสรรพ ทางด้าน เหล่านักวิเคราะห์อื่นๆ แสดงทรรศนะเสริมด้วยว่า ปฏิบัติการของเวียดนามนั้น ก็เป็นไปตามการดำเนินนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบพหุภาคีต่อพันธมิตรนานาชาติ (Multi – Country Foreign Policy) อันเป็นนโยบายต่างประเทศที่เวียดนามดำเนินการอยู่ โดยผลงานความสำเร็จกันก่อนหน้าจากนโยบายนี้ ก็มีทั้งการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดของเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย – แปซิฟิก หรือเอเปก เมื่อปี 2560 (ค.ศ. 2017) รวมถึงการจัดการประชุมของเหล่าประเทศที่จะมาร่วมกลุ่ม “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก หรือทีพีพี เมื่อช่วงก่อนหน้า ด้วยความสำเร็จจากการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ที่เวียดนาม “เล่นใหญ่” ในเวทีโลก ก็ส่งผลต้องโฉลกให้เศรษฐกิจแดนญวน มีอัตราการเติบโตที่ร้อนแรงที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย พร้อมๆ กับเป็นหมายตาของบรรดานักลงทุนเป็นผลานิสงส์ เศรษฐกิจภาคส่วนต่างๆ ของเวียดนาม ที่เจริญเติบโตร้อนแรงที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย