เวียนมาอีกครั้งสำหรับ วันมาฆบูชา หมายถึง การบูชา ในวันเพ็ญเดือน ๓ เนื่องในโอกาสคล้าย วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ นับว่าเป็นโอกาสดีที่พุทธศาสนิกชนจะได้มีโอกาสได้ทำบุญเพื่อเสริมศิริมงคลให้กับตนเอง ความสำคัญวันมาฆบูชา วันมาฆบูชา เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ มีเหตุการณ์อัศจรรย์ที่ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าจำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ โดยมิได้นัดหมายกันพระสงฆ์ ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา ๖และเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบท โดยตรงจากพระพุทธเจ้า ในวันนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์เหล่านั้น ซึ่งเป็นทั้งหลักการอุดมการณ์และวิธีการปฏิบัติที่ นำไปใช้ได้ทุกสังคม มีเนื้อหา โดยสรุปคือให้ละความชั่วทุกชนิด ทำความดี ให้ถึงพร้อมและทำจิตใจให้ผ่องใส ความเป็นมา ๑. ส่วนที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ ๙ เดือนขณะนั้นเมื่อเสร็จพุทธกิจแสดงธรรมที่ถ้ำสุกรขาตาแล้ว เสด็จมาประทับที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ประเทศอินเดียในปัจจุบัน วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ เดือนมาฆะหรือเดือน ๓ในเวลาบ่ายพระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า มาประชุม พร้อมกัน ณ ที่ประทับของพระพุทธเจ้า นับเป็นเหตุอัศจรรย์ ที่มีองค์ประกอบสำคัญ ๔ ประการ เรียกว่าว่า วันจาตุรงคสันนิบาต คำว่า "จาตุรงคสันนิบาต" แยกศัพท์ได้ดังนี้ คือ "จาตุร" แปลว่า ๔ "องค์" แปลว่า ส่วน "สันนิบาต" แปลว่า ประชุม ฉะนั้นจาตุรงคสันนิบาตจึงหมายความว่า "การประชุมด้วยองค์ ๔" กล่าวคือมีเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นพร้อมกันในวันนี้ คือ 1. เป็นวันที่ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันที่เวฬุวันวิหารในกรุงราชคฤห์ โดยมิได้นัดหมาย 2. พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" คือเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น 3. พระภิกษุสงฆ์ทุกองค์ที่ได้มาประชุมในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นผุ้ได้บรรลุพระอรหันต์แล้วทุก ๆองค์ 4. เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงกำลังเสวยมาฆฤกษ ประวัติวันมาฆบูชา หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 และได้ทรงประกาศพระศาสนาและส่งพระอรหันตสาวกออกไปจาริกเพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนายังสถานที่ต่าง ๆ ล่วงแล้วได้ 9 เดือน ในวันที่ใกล้พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3) พระอรหันต์ทั้งหลายเหล่านั้นต่างได้ระลึกว่า วันนี้เป็นวันสำคัญของศาสนาพราหมณ์ อันเป็นศาสนาของตนอยู่เดิม ก่อนที่จะหันมานับถือพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า และในลัทธิศาสนาเดิมนั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือนมาฆะ เหล่าผู้ศรัทธาพราหมณลัทธินิยมนับถือกันว่าวันนี้เป็นวันศิวาราตรี โดยจะทำการบูชาพระศิวะด้วยการลอยบาปหรือล้างบาปด้วยน้ำ แต่มาบัดนี้ตนได้เลิกลัทธิเดิมหันมานับถือพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าแล้ว จึงควรเดินทางไปเข้าเฝ้าบูชาฟังพระสัทธรรมจากพระพุทธเจ้า พระอรหันต์เหล่านั้นซึ่งเคยปฏิบัติศิวาราตรีอยู่เดิม จึงพร้อมใจกันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยมิได้นัดหมาย มีผู้กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้พระสาวกทั้ง 1,250 องค์มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย มาจากในวันเพ็ญเดือน 3 ตามคติพราหมณ์ เป็นวันพิธีศิวาราตรี พระสาวกเหล่านั้นซึ่งเคยนับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อนจึงได้เปลี่ยนจากการรวมตัวกันทำพิธีชำระบาปตามพิธีพราหมณ์ มารวมกันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแทน สำหรับวัดดังที่จัดงานวันมาฆบูชาจะมีวันไหนบ้างสยามรัฐออนไลน์ได้รวบรวมมาเป็นบางส่วนเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ร่วมทำบุญในเทศกาลวันมาฆบูชากัน 1. มาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ จ.นครศรีธรรมราช “มาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ และสมโภชองค์พระบรมธาตุเจดีย์” กำหนดจัดขึ้นวันที่ 13-19 กุมภาพันธ์ 2562 ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร และ สนามหน้าเมือง จ.นครศรีธรรมราช โดยจะมีการสมโภชผ้าพระบฎ การกวนข้าวมธุปยาสยาคู ในระหว่างวันที่ 15-18 กุมภาพันธ์ 2562 ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร วัดบุญนารอบ วัดศาลามีชัย และวัดต่าง ๆ ในเขตเมืองอีก 5 วัด พร้อมขบวนแห่ผ้าพระบฎในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 15.00 น. จากสนามหน้าเมือง – วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ส่วนช่วงค่ำของคืนวันที่ 19 มีพิธีเวียนเทียน บริเวณลานโพธิ์ วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร 2. งานนมัสการพระบรมธาตุนาดูน จ.มหาสารคาม เชิญชวนผู้มีจิตศรัทธา ร่วมทำบุญตักบาตร เวียนเทียน ในวันมาฆบูชาที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 พร้อมชมฟรี! คอนเสิร์ตจากศิลปินดัง หมอลำจากทั่วอีสาน และการแสดงมหรสพ ตลอด 9 วันเต็ม ตั้งแต่วันที่ 16-24 กุมภาพันธ์ 2562 ณ พระบรมธาตุนาดูน พุทธมณฑลอีสาน อ.นาดูน จ.มหาสารคาม 3. มาฆบูชา ทวารวดีมิ่งหล้า เมืองฟ้าแดดสงยาง จ.กาฬสินธุ์ ขอเชิญร่วมงาน “มาฆปูรมี ทวารวดีมิ่งหล้า เมืองฟ้าแดดสงยาง” ระหว่างวันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ 2562 ณ พระธาตุยาคู โบราณสถานเมืองฟ้าแดดสงยาง อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ กิจกรรมในงาน ร่วมพิธี “ทานธุง” เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ชมความงดงามของ “ทะเลธุงอีสาน” ร่วมขบวนแห่เครื่องสักการะ ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความศักดิ์สิทธิ์ตามแบบวัฒนธรรมอีสานดั้งเดิม ร่วมรำถวายเป็นพุทธบูชาพระธาตุยาคู ย้อนรอยความรุ่งเรืองเมืองทวารวดี กับการแสดงมินิไลท์แอนซาวด์ชุด “มาฆปูรมีทวารดีมิ่งหล้าเมืองฟ้าแดดสงยาง” ชม ชิม ช็อป สินค้าพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง กับตลาดโบราณทวารวดี ร่วมทำบุญเวียนเทียนรอบพระธาตุ เนื่องในวันมาฆบูชา สำหรับ “ตุง” หรือ “ธุง” ชาวอำเภอกมลาไสย ทำเป็น 2 แบบ คือ แบบตุงผ้า และตุงใย ซึ่งชาวบ้านจะช่วยกันประดิษฐ์ลวดลายตุง ต่อเติม โครงสร้างซุ้มบริเวณทางเข้าสู่พระธาตุ ตั้งแต่ตุงใย ขนาดเล็ก ไปจนถึง ตุงใย ขนาดใหญ่ แสดงให้เห็นถึงความสามัคคี และพลังศรัทธาในพระพุทธศาสนา ตามความเชื่อของชาวอีสาน ธุง คือสัญลักษณ์ที่เป็นสิริมงคล ความดีงาม เชื่อว่าเมื่อได้ถวายตุง จะเป็นบันไดไปสู่สวรรค์นั่นเอง 4. งานเวียนเทียนทางน้ำ กลางกว๊านพะเยา จ.พะเยา จังหวัดพะเยา เชิญชวนพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยว ร่วมงาน “เวียนเทียนทางน้ำ กลางกว๊านพะเยา หนึ่งเดียวในโลก” ครั้งที่ 35 และประเพณีตานข้าวใหม่ ใส่บาตรหลวง ถวายพระเจ้าตนหลวง เนื่องในวันมาฆบูชา 19 กุมภาพันธ์ 2562 ณ วัดติโลกอาราม กลางกว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา – เวลา 06.00 น. พิธีทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง พระสงฆ์จำนวน 109 รูป ณ บริเวณท่าเรือวัดติโลกอาราม – เวลา 08.00 น.เริ่มเคลื่อนขบวนแห่ข้าวใหม่ใส่บาตรหลวง โดยใช้ขบวนเรือจากจากท่าเรือวัดติโลกอารามไปยังท่าเรือวัดศรีโคมค – เวลา 10.00 น. พิธีถวายข้าวทิพย์พระเจ้าตนหลวงในเวลา – เวลา 16.30 น. พิธีเปิดงาน “เวียนเทียนทางน้ำ กลางกว๊านพะเยา หนึ่งเดียวในโลก” ณ วัดติโลกอาราม และเวียนเทียนรอบวัดติโลกอาราม สำหรับวัดที่ได้รวบรวมมาเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้นหากใครสะดวกวัดไหนหรือไกล้วัดใดก็เดินทางเพื่อไปประกอบพิธีทางศาสนาเพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ตนเองเพื่อให้จิตใจของเราได้สงบและประสบแต่ความเจริญในชีวิต