โครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก เป็น 1ใน 9 แผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นปัญหาซ้ำซากมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในปี 2554 มีปริมาณน้ำท่วมมากกว่า 20,000 ล้าน ลบ.ม. สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่กว่า 20 ล้านไร่ และมีมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.42 ล้านล้านบาท ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้กำหนดกรอบระยะเวลาการสำรวจออกแบบโครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก ระหว่างวันที่ 18 ตุลาคม 2561-12 กันยายน 2562 ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก ว่า ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการสำรวจ การออกแบบโครงการฯ คาดว่าจะเสร็จสิ้นในเดือนกันยายน 2562 หลังจากนั้น จะส่งรายงานไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พิจารณาเห็นชอบ ก่อนนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอีกครั้ง ประมาณ ปี 2564-2565 หาก ครม.เห็นชอบ ก็จะสามารถดำเนินการวางแผนของบประมาณก่อสร้างได้ในระยะต่อไป ส่วนการดำเนินงานจะทบทวนและออกแบบแนวคลอง โดยจะเริ่มต้นที่ประตูระบายน้ำมโนรมย์ ผ่านโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ จังหวัดชัยนาท โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาช่องแค จังหวัดนครสวรรค์ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโคกกระเทียม จังหวัดลพบุรี และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเริงราง จังหวัดสระบุรี จนถึงแม่น้ำป่าสัก ที่เขื่อนพระรามหก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมความยาวทั้งสิ้น 133 กิโลเมตร และงานสำรวจและออกแบบรายละเอียดจากประตูระบายน้ำมโนรมย์ถึงประตูระบายน้ำช่องแค จังหวัดสระบุรี ระยะทาง 46.5 กิโลเมตร นอกจากนี้ ยังปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณประตูระบายน้ำให้เป็นเส้นทางจักรยาน และมีพื้นที่สีเขียว เพื่อส่งเสริมกิจกรรมนันทนาการอีกด้วย สำหรับองค์ประกอบหลักของงานปรับปรุงคลองชัยนาท-ป่าสัก เพื่อระบายน้ำหลาก ได้แก่ 1.คลองส่งน้ำดาดคอนกรีตฝั่งขวา ส่งน้ำได้สูงสุด 210 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ปลายคลอง 130 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ความยาว 127.15 กิโลเมตร 2.คลองระบายชัยนาท-ป่าสัก ขุดขยายคลองชัยนาท-ป่าสักเดิมจนถึงเขตคลองฝั่งซ้าย ระบายน้ำได้สูงสุด 800 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ความยาวรวม 134.44 กิโลเมตร 3.คลองขนานฝั่งซ้าย ส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรมฝั่งซ้ายของคลองชัยนาท-ป่าสัก 100,000 ไร่ ส่งน้ำได้สูงสุด 30 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ความยาว 28.5 กิโลเมตร และ4.อาคารประกอบรวม 298 แห่ง อาคารเฉพาะแห่งจำนวน 211 แห่ง และอาคารมาตรฐานอีก 87 แห่ง ส่วนองค์ประกอบของโครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก ได้แก่ คลองส่งน้ำอนุศาสนนันท์ อัตราการส่งน้ำ 210 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ทำหน้าที่ส่งน้ำให้พื้นที่ฝั่งขวาประมาณ 800,000ไร่ และฝั่งซ้ายอีกกว่า 100,000 ไร่ ทั้งนี้ คลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก อัตราการระบาย 800 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จะทำหน้าที่ระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปลงแม่น้ำป่าสัก และรับน้ำข้างคลอง (side flow) ทางฝั่งซ้ายด้วย ดร.ทองเปลว กองจันทร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันคลองชัยนาท-ป่าสัก สามารถระบายน้ำได้เพียง 120 ลูกบาศก์เมตร/วินาที หากโครงการดังกล่าวดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถระบายน้ำในฤดูน้ำหลากได้ไม่น้อยกว่า 930 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งจะช่วยสร้างประโยชน์กับประชาชนทั้งการเดินเรือ การใช้น้ำเพื่อการเกษตร ที่จะมีคลองระบายน้ำควบคุม กักเก็บ ในช่วงฤดูฝน และปล่อยน้ำช่วงหน้าแล้ง ให้ประชาชนนำไปใช้เพื่อการเพาะปลูกพืช ซึ่งประชาชนต้องร่วมกันวางแผนการปลูกพืชให้เหมาะสมด้วย