ผู้สมัคร “พรรคเพื่อนไทย” จ่อถูกตัดสิทธิไม่ได้รับการประกาศชื่อทั้ง 240 เขตเลือกตั้ง รวมทั้งบัญชีรายชื่ออีก 52 ราย เหตุกกต.แจ้งการจัดตั้งสาขา - ตัวแทนพรรคการเมืองใน 39 จังหวัดไม่ถูกต้อง " อนุวัฒน์" หัวหน้าพรรค แจ้นชี้แจง ด้าน “แสวง” แนะไปสู้ในศาลฎีกา ขณะที่ยอดสมาชิกซ้ำซ้อน ไม่พบชื่อในฐานข้อมูล สังกัดพรรคไม่ครบ 90 วัน ทำผู้สมัครถูกตัดสิทธิเหลือ 502 คน วันที่ 15 ก.พ. นายอนุวัฒน์ วิกัยพัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อนไทย กล่าวหลังเดินทางเข้ามาพบเจ้าหน้าที่ด้านกิจการพรรคการเมืองของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อยืนยันว่า ตนเองและกรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบันได้รับเลือกอย่างถูกต้องตามข้อบังคับพรรค หลังจากที่ได้รับหนังสือมอบอำนาจจากนายสิริ พิมพ์กลาง อดีตหัวหน้าพรรคคนเดิมแจ้งมอบอำนาจให้ตน ซึ่งเป็นเลขาธิการพรรคในขณะนั้นให้มีอำนาจทำการแทนทุกอย่าง ดังนั้นการจัดตั้งสาขาพรรคและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดพรรคและการส่งผู้สมัครส.ส. 240 คนใน 39 จังหวัด และส.ส.บัญชีรายชื่อ 52 คน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 3 คนจึงเป็นไปอย่างถูกต้อง ดังนั้นถ้าหากผู้สมัครของพรรคไม่ได้รับการประกาศชื่อจากผู้อำนวยการประจำเขตเลือกตั้ง และกกต. ก็จะฟ้องร้องต่อศาลฎีกาเพื่อให้คืนสิทธิดังกล่าวรวมทั้งหากท้ายที่สุดแล้วไม่สามารถกลับมาเป็นผู้สมัครได้ก็จะฟ้องเรียกค่าเสียหายกับกกต. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างรอพบเจ้าหน้าที่นายอนุวัฒน์ ได้พบกับนายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. โดยได้พยายามชี้แจงเหตุผลต่างๆ โดยนายแสวงก็ได้ชี้แจงว่า ทราบจากเจ้าหน้าที่ว่าปัญหาของพรรคคือการประชุมกรรมการบริหารพรรคไม่ชอบ ซึ่งก็มีผลตามมาให้ข้อบังคับที่ออกมา และการเลือกสาขาและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดของพรรคไม่ชอบไปด้วย ถ้าหากพรรคมีหลักฐานยืนยันว่ากระทำการถูกต้องก็ไปสู้ในศาลฎีกา ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเย็นของเมื่อวันที่ 14 ก.พ. พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกกต. ได้มีหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั่วประเทศ แจ้งข้อมูลล่าสุดเพื่อให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดใช้พิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครส.ส.ระบบแบ่งเขตก่อนที่จะต้องประกาศรับรองรายชื่อผู้สมัครส.ส.ระบบเขตทั้ง 350 เขตในวันนี้ โดยข้อมูลที่ส่งเป็น ผลการตรวจสอบสถานภาพพรรคการเมืองที่ไม่มีสิทธิส่งสมัครรับเลือกตั้งส.ส. ล่าสุด เนื่องจากไม่มีการจัดตั้งสาขาหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดให้ถูกต้อง โดยแยกเป็นรายจังหวัด ซึ่งพบว่ามี 7 พรรคการเมือง โดย พรรคเพื่อนไทย ไม่มีสิทธิที่ส่งสมัครส.ส.แบบแบ่งเขตใน 39 จังหวัด ได้แก่ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี อุทัยธานี อุดรธานี อ่างทอง หนองบัวลำภู หนองคาย สุรินทร์ สุพรรณบุรี สิงห์บุรี สระบุรี สระแก้ว สกลนคร ศรีสะเกษ เลย ลพบุรี ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร มหาสารคาม เพชรบูรณ์ เพชรบุรี พิจิตร อยุธยา ปราจีนบุรี ปทุมธานี บุรีรัมย์ บึงกาฬ นนทบุรี นครสวรรค์ นครราชสีมา นครพนม ชัยภูมิ ชัยนาท ฉะเชิงเทรา ขอนแก่น กำแพงเพชร กาฬสินธุ์ กาญจนบุรี และกทม. พรรคแทนคุณแผ่นดิน ไม่มีสิทธิส่งสมัครส.ส.เขตใน จ.สระบุรี เชียงราย และกทม. ขณะที่พรรคพลังไทสร้างชาติ ไม่มีสิทธิส่งสมัครส.ส.เขตใน จ.อุตรดิตถ์ นครราชสีมา พรรคประชาธิปไตยใหม่ ไม่มีสิทธิส่งสมัครใน จ.หนองคาย พรรคคนงานไทย ไม่มีสิทธิส่งสมัครใน จ.สงขลา ศรีสะเกษ พรรคพลังคนกีฬา ไม่มีสิทธิส่งสมัครใน จ.สกลนคร พรรคพลังประชาธิปไตย ไม่มีสิทธิส่งสมัครใน จ.พิษณุโลก จันทบุรี นอกจากนี้ยังมีการรายงานผลการตรวจสอบการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่ไม่พบชื่อผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขตในระบบฐานข้อมูลสมาชิกพรรคการเมืองและไม่เป็นผู้ร่วมจัดตั้งพรรคที่พ.ร.ป.ว่าด้วยเลือกตั้งส.ส.มาตรา 172 ให้สิทธินับการเป็นสมาชิกนับตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรค โดยเป็นข้อมูล ณ.วันที่ 14 ก.พ. ซึ่งพบว่ามีผู้สมัครส.ส.เขตที่เข้าข่ายดังกล่าวรวม 255 ราย และผลการตรวจสอบสมาชิกพรรคของผู้สมัครส.ส.ที่บันทึกเข้าระบบฐานข้อมูลพรรคกรณีพบว่า เป็นสมาชิกพรรคการเมืองเดียวไม่ครบ 90 วันตามรัฐธรรมนูญมาตรา 96(3) ประกอบมาตรา 41(3) และเป็นสมาชิกพรรคซ้ำซ้อน ลงวันที่ 14 ก.พ.ซึ่งพบว่ามีผู้สมัครส.ส.เขตที่เข้าข่ายดังกล่าวรวม 246 ราย รวมจะมีผู้ที่เข้าข่ายถูกตัดสิทธิไม่ประกาศรายชื่อจากทั้ง 3 กรณีดังกล่าว 502 คน อย่างไรก็ตามหลังการปิดรับสมัครเมื่อวันที่ 8 ก.พ.บรรดาพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครต่างก็ส่งผู้แทนพรรคมาแจ้งข้อมูลสมาชิกของพรรค การจัดตั้งสาขาและกรรมการบริหารพรรคอย่างต่อเนื่องตลอดสัปดาห์นี้ แม้กระทั่งวันนี้ซึ่งเป็นสุดท้ายที่ผู้อำนวยการประจำเขตเลือกตั้งจะต้องตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครส.ส.ในระบบแบ่งเขตให้แล้วเสร็จและประกาศรับรองรายชื่อผู้ที่มีสิทธิลงสมัครในแต่ละเขตทั้ง 350 เขต ผู้แทนของพรรคการเมืองก็ยังเดินทางมาขอแก้ไขอัพเดทข้อมูลที่สำนักงานกกต.อยู่ตลอด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีที่ผู้สมัครรายใดถูกตัดสิทธิไม่ได้รับการประกาศรายชื่อให้เป็นผู้สมัครจะไม่ได้รับเงินค่าสมัคร 1 หมื่นบาทคืน โดยเป็นไปตามมาตรา 45(3) พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ประกอบพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 78(4) ที่กำหนดให้ค่าธรรมเนียมการรับสมัครเลือกตั้งตกเป็นของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ซึ่งในกรณีของพรรคเพื่อนไทย เมื่อถูกตัดสิทธิไม่ได้รับการประกาศรายชื่อให้เป็นผู้สมัครทั้งผู้สมัครส.ส.ระบบแบ่งเขตและระบบบัญชีรายชื่อรวม 292 คน เงินค่าสมัครจำนวน 2.92 ล้านก็จะไม่ได้รับคืนเช่นกัน