คุยเฟื่องเรื่องต่างประเทศ/ดร.วิวัฒน์ เศรษฐช่วย เท่าที่ผ่านมาบทความของผมส่วนใหญ่แล้วมักจะวิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ แต่ฉบับนี้ผมใคร่ขอเปลี่ยนบรรยากาศโดยจะเขียนเรื่องสถาบันการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯว่า มีบทบาทต่อความยิ่งใหญ่เป็นพี่เบิ้มมหาอำนาจได้อย่างไร?    ครั้งที่สหรัฐฯยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ คนอเมริกันสมัยบุกเบิกต่างก็ให้ความสำคัญทางด้านการศึกษามากเป็นพิเศษ ซึ่งต่อมาผู้นำของอาณานิคมก็ได้เริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยต่างๆขึ้นมา จนได้กลายเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของสหรัฐอเมริกาตราบเท่าทุกวันนี้    โดยผู้ที่อพยพเข้ามาในสหรัฐฯระยะแรกๆส่วนใหญ่แล้วกอปรด้วยคริสเตียนหลากหลายนิกาย แต่อย่างไรก็ตามคนอเมริกันเหล่านั้นถูกปลูกฝังให้เป็นผู้มีจิตกุศลและมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อสาธารณะ     ทั้งนี้ในช่วงปี ค.ศ 1800 เหล่าบรรดาผู้บุกเบิกมีการตื่นตัวในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเอกชนสูงมากทีเดียว เนื่องจากขณะนั้นรัฐบาลกลางยังไม่ได้เข้าไปแทรกแซง แถมยังเปิดโอกาสยกที่ดินให้ฟรีๆแก่ผู้ใดก็ตามที่ต้องการจะก่อตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นมาเพื่อให้“สถาบันการศึกษาเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้”    ทั้งนี้นิตยาสาร U.S. News  & World Report ซึ่งถือว่าเป็นนิตยสารที่ได้รับความเชื่อถือที่สุดในการจัดอันดับของมหาวิทยาลัย โดยเริ่มทำขึ้นมาเมื่อปี 1983 ได้ระบุเมื่อเร็วๆนี้ว่า 65% ของผู้ที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยต่างเลือกมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและมีคุณภาพ และถึงแม้ว่าค่าเล่าเรียนของมหาวิทยาลัยเอกชนจะสูงกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐมากเพียงใดก็ตาม แต่เหล่าบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กๆต่างก็ไม่เกี่ยงที่จะต้องจ่ายด้วยเงินจำนวนมหาศาล เพราะถือว่าเป็นการลงทุนทางด้านการศึกษาให้แก่บุตรหลานของเขาที่คุ้มค่ามากที่สุด!!!    นี่จึงเป็นที่มาที่ทำให้มหาวิทยาลัยเอกชนได้กลายเป็นแหล่งดึงดูดนักเรียนไฮสคูลที่มีมันสมองระดับหัวกะทิ โดยมหาวิทยาลัยเอกชนยินดีที่จะให้ทุนการศึกษาให้แก่เด็กๆเพื่อหวังให้นักเรียนเหล่านั้นเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยของตนในอนาคต ดังนั้นจึงไม่แปลกแต่อย่างใดที่มหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำต่างๆ พยายามทุกวิถีทางที่จะแย่งตัวเด็กระดับหัวกะทิเหล่านั้นกันอย่างแข็งขัน    ในกรณีของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ซึ่งสถาบันทั้งสองแห่งนี้นับเป็นสถาบันยอดนิยมสูงสุดที่เหล่าบรรดาเยาวชนต่างให้ความสนใจต้องการที่จะเข้าไปศึกษา โดยแต่ละปีสถาบันทั้งสองนี้จะรับนักศึกษาปีหนึ่งประมาณแค่เพียง 5% หรือ 6% เท่านั้น    ดังเช่นแสตนฟอร์ดในปีการศึกษา 2020 จะรับนักศึกษาใหม่เพียงแค่ 2,063 คน จากจำนวนผู้สมัครเรียนทั้งหมด 43,997 คน    ส่วนฮาร์วาร์ดสำหรับปีการศึกษา 2020 มีผู้สมัครถึง 39,506 คน แต่รับนักศึกษาเพียง  2,037  คน และปรากฏว่า ผู้ที่ได้รับทุนมีถึง 60% เนื่องจากฮาร์วาร์ดมีกองทุนทางด้านการศึกษาสนับสนุนให้แก่นักศึกษามากกว่าสามพันล้านเหรียญ     ส่วนในแง่คิดของนักศึกษาส่วนใหญ่นั้นมักจะเลือกเฟ้นว่า มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับประเทศหรือระดับโลกหรือไม่? มีเงินทุนการศึกษาให้มากน้อยแค่ไหน? โดยจะวัดจากยอดเงินบริจาคของกองทุนก้อนเบอร์เริ่มเทิ่มหรือที่เรียกกันว่า"Endowment" โดยมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะบริหารกองทุนนี้ให้งอกเงยขึ้นมาในการเก็บดอกผลแล้วนำมาเป็นทุนการศึกษา หรือใช้ในการทนุบำรุงมหาวิทยาลัยทางด้านต่างๆตามความเหมาะสม     ดังเช่นในปี 2018 ฮาร์วาร์ดมีกองทุนการศึกษาหรือ Endowment ถึง 36 พันล้านเหรียญ มหาวิทยาลัยเยลมียอดกองทุน 27 พันล้านเหรียญ แสตนฟอร์ดมี  24.7 พันล้านเหรียญ พรินซ์ตันมี 23.8 พันล้านเหรียญเป็นต้น ซึ่งสถาบันเหล่านี้ล้วนแต่เป็นมหาวิทยาลัยของภาคเอกชนด้วยกันทั้งสิ้น!!!     คราวนี้ลองย้อนกลับมาดูเงินบริจาคของมหาวิทยาลัยบางสถาบันว่า พวกเขาได้รับเงินบริจาคมาจากแหล่งใดกันบ้าง     จากข้อมูลของ Council for Aid to Education ปรากฏว่าในปี 2017  มียอดเงินบริจาคให้แก่บรรดามหาวิทยาลัยทั้งหมดถึง 43.6 พันล้านเหรียญ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากศิษย์เก่าที่มียอดถึง 11 พันล้านเหรียญหรือ 26.1%  โดยมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันมียอดเงินที่มาจากการบริจาคของศิษย์เก่าสูงเป็นอันดับหนึ่งคือ 59.1% อย่างไรก็ตามแสตนฟอร์ดได้จัดตั้งโปรแกรมพิเศษ โดยจะมอบทุนการศึกษาฟรีๆให้แก่นักเรียนทุกๆคน หากว่ายอดรายได้ของครอบครัวพวกเขามีต่ำกว่าปีละ 125,000 เหรียญ     และยังเป็นที่น่าสังเกตว่า "ฟิล ไนต์" ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง "บริษัทไนกี้" แบรนด์กีฬาระดับโลก ซึ่งเขาเป็นศิษย์เก่าจบการศึกษาในระดับเอ็นบีเอที่บริจาคเงินให้แก่สถาบันแสตนฟอร์ดมากที่สุด ดังเช่นเมื่อปี 2016 เขาบริจาคเงินถึงสี่ร้อยล้านเหรียญ โดยมีเงื่อนไขว่า เงินบริจาคส่วนหนึ่งจะต้องมอบเป็นทุนให้แก่นักศึกษาต่างชาติ เพราะเมื่อพวกเขาจบไปแล้วจะได้นำความรู้ไปพัฒนาประเทศของตนเอง ทั้งนี้ฟิล ไนต์ก็จบจากมหาวิทยาลัยออริกอนด้วยเช่นกัน โดยเขาได้มอบเงินบริจาคให้แก่สถาบันดังกล่าวแห่งนี้ถึง 230 ล้านเหรียญ     และในปีค.ศ2015 นักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ผู้โด่งดัง "จอห์น พอลสัน"   ก็ได้บริจาคเงิน 400 ล้านเหรียญให้แก่คณะวิศวกรรมศาสตร์ให้แก่ฮาร์วาร์ดสถาบันที่เขาเคยร่ำเรียนมา ส่วน "เจมส์ ดุ๊ก" มหาเศรษฐีจากอุตสาหกรรมยาสูบได้มอบเงินให้แก่มหาวิทยาลัยหลายๆสถาบัน โดยเขายึดหลักที่ว่า "การลงทุนด้านการศึกษา นับเป็นการลงทุนที่ดีที่สุด"     และเขายังได้บริจาคให้กับวิทยาลัย Trinity College มากที่สุด จนคณะกรรมการบอร์ดได้เปลี่ยนชื่อของสถาบันแห่งนี้ตามชื่อของเขาเมื่อปี 1924 จนขณะนี้ใช้ชื่อว่า Duke University     "ไมเคิล บลูมเบอร์ก"มหาเศรษฐีระดับโลกก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้บริจาคเงิน 350 ล้านเหรียญเมื่อปี 2013 ให้กับ Johns Hopkins University เพื่อใช้เป็นทุนด้านการศึกษาและค้นคว้าวิจัย ส่วน"เดวิด บูท"ได้บริจาคเงิน 300 ล้านเมื่อปี 2008 ให้กับคณะบริหารธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก     สำหรับ"ชาร์ล จอห์นสัน" ก็ได้บริจาคเงินให้แก่มหาวิทยาลัยเยล 250 ล้านเมื่อปี 2013 เพื่อสร้างหอพักให้แก่นักศึกษา     มหาวิทยาลัยเปปเปอร์ไดน์ (Pepperdine University) ตั้งอยู่ชายหาดเมืองมัลลิบู รัฐแคลิฟอร์เนีย (ตามภาพ)ที่ผมเป็นศิษย์เก่านั้นก็ได้เริ่มโครงการหาเงินบริจาคเข้ากองทุนเมื่อปี 2011 เพื่อมอบให้แก่นักศึกษา ขยายอาคารและเพิ่มอาจารย์ที่มีชื่อเสียง โดยตั้งเป้าที่จะหาเงินบริจาคให้ได้ 450 ล้านเหรียญภายในสี่ปีและปรากฏว่าได้รับเงินบริจาคเกินเป้าหมายกว่ายี่สิบล้านเหรียญ ที่ยอดเงินเหล่านั้นมาจากผู้บริจาคใจุญมากด้วยกุศลกว่าห้าหมื่นคนจากห้าสิบรัฐ และจากหกสิบห้าประเทศ     กล่าวโดยสรุปทั้งนี้และทั้งนั้นจะเห็นได้ว่าความยิ่งใหญ่ด้านการศึกษาของสหรัฐอเมริกาเป็นตัวพิสูจน์อย่างเด่นชัดว่า ล้วนเกิดมาจากธารน้ำใจที่มีเต็มเปี่ยมของอเมริกันชนทุกๆระดับมิใช่เฉพาะแต่เพียงกลุ่มมหาเศรษฐีอย่างเดียว แต่มาจากผู้มีจิตอาสาต้องการจะบริจาคเงินเพื่อให้การศึกษาแก่เยาวชนของพวกเขา ซึ่งน่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับสังคมไทยที่จะต้องเล็งเห็นว่า การที่เยาวชนลูกหลานชาวไทยของเรามีการศึกษาที่ดี ถือว่าเป็นการลงทุนที่ได้ผลคุ้มค่าสามารถส่งผลประโยชน์ต่อไปยังประเทศชาติได้อย่างดีเยี่ยมสุดๆละครับ