ประเด็นการเคลื่อนไหวที่ร้อนแรงและน่าสนใจไม่น้อยกว่าเรื่องการเมืองเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นเรื่องปัญหาภายในของสหกรณ์ออมทรัพย์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หลังจากที่เครือข่ายผู้ค้ำประกันเงินกู้สหกรณ์ สถ. ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากมติให้โอนหนี้เงินกู้ให้ผู้ค้ำประกัน รวมตัวกันเรียกร้องให้แก้มติดังกล่าวมาหลายครั้ง แต่ยังไม่มีผลตอบรับ จึงได้รวมตัวกันสนับสนุนผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานสหกรณ์ออมทรัพย์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แข่งกับนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2561 ของสหกรณ์ออมทรัพย์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำกัด ที่มี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นประธานกรรมการ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา ที่หอประชุม 100 ปี มหาดไทย ภายในวิทยาลัยการปกครอง อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เพื่อพิจารณาผลการดำเนินงานในรอบปี และมีวาระที่สำคัญคือ การเลือกตั้งประธานกรรมการดำเนินการ และกรรมการดำเนินการชุดใหม่ แทนตำแหน่งที่ว่าง โดยการประชุมดังกล่าวได้เลื่อนอย่างกะทันหัน จากเดิมกำหนดไว้ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2562 ณ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยไม่ทราบสาเหตุ ในการประชุมดังกล่าว กำหนดเริ่มเวลา 09.00 น. โดยมีนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ พร้อมคณะกรรมการดำเนินการชุดเดิมและผู้จัดการสหกรณ์มาถึงสถานที่ประชุมตั้งแต่เวลา 08.00 น. แต่ได้เริ่มดำเนินการประชุมเมื่อเวลา 09.40 น. โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม เป็นที่สังเกตว่า การประชุมครั้งนี้ มีการใช้เวลานานกว่าปกติทุกวาระการประชุม โดยวาระที่ใช้เวลามากที่สุดคือวาระการรับรองรายงานการประชุม โดยใช้เวลากว่าหนึ่งชั่วโมงเนื่องจากประธานในที่ประชุมได้สั่งให้ฝ่ายเลขานุการอ่านรายงานการประชุมทีละตัวอักษร และมีการทักท้วงจากสมาชิกในที่ประชุมที่ไม่ขอรับรองรายงานการประชุมเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งเป็นการประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อพิจารณาถอดถอนคณะกรรมการดำเนินการทั้งคณะ และการให้เพิกถอนมติคณะกรรมการดำเนินการชุดปัจจุบันเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561 ที่มีมติให้โอนหนี้ของผู้กู้ไปให้ผู้ค้ำประกันรับผิดชอบแทน ซึ่งเป็นการประชุมที่สมาชิกสหกรณ์เข้าชื่อเสนอให้เปิดการประชุม โดยวาระนี้ มีการลงคะแนนอย่างเปิดเผยโดยการชูบัตรสีเหลืองที่ทางฝ่ายจัดการแจกให้สมาชิกตอนลงทะเบียนเข้าประชุม ผลปรากฏว่า ที่ประชุมไม่เห็นชอบให้มีการรับรองรายงานการประชุมครั้งดังกล่าว เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่เห็นว่า การประชุมครั้งดังกล่าว สมาชิกเสนอให้เป็นวาระเพื่อพิจารณา แต่คณะกรรมการกลับนำไปบรรจุเป็นวาระแจ้งเพื่อทราบ และไม่เปิดโอกาสให้สมาชิกใช้สิทธิในการอภิปราย จนทำให้มีการ walk out ออกจากห้องประชุมในครั้งดังกล่าว ประกอบกับได้สมาชิกสหกรณ์ได้มีการร้องขอให้อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยผลการตรวจสอบยังไม่สิ้นสุด สำหรับวาระการเลือกตั้งประธานกรรมการดำเนินการคนใหม่แทนตำแหน่งที่ว่าง คือ แทนนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ นั้น ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระนี้ นายสุทธิพงษ์ฯได้ขอลาการประชุมเพื่อไปปฏิบัติภารกิจที่จังหวัดนครปฐม โดยมอบให้ นายขจร รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุมแทน โดยมีการเสนอชื่อผู้สมควรเป็นประธานกรรมการ จำนวน 2 รายชื่อ คือ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และนายอำพล ยุติโกมินทร์ ปลัดเทศบาลเมืองสามพราน จ.นครปฐม ซึ่งกว่าจะดำเนินการให้มีการเลือกได้สำเร็จต้องมีการนับองค์ประชุมถึง 3 ครั้ง โดยครั้งสุดท้าย ประธานในที่ประชุมได้ขอให้มีการผู้สนับสนุนของทั้งสองคนให้นั่งคนละฝั่งของห้องประชุม โดยผลปรากฏว่า นายอำพล ยุติโกมินทร์ ได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงข้างมากคือ 791 คะแนน ชนะนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญที่ได้ 417 คะแนน โดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมงสำหรับวาระนี้ หลังจากนั้น ประธานฯเห็นว่า การประชุมได้ล่วงเลยมาจนถึงเวลา 14.20 น. กรรมการและสมาชิกส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับประทานอาหารกลางวัน และส่วนใหญ่ยังไม่ได้ไปเลือกตั้งกรรมการดำเนินการ ซึ่งได้กำหนดให้มีการลงคะแนนด้านนอกห้องประชุม จึงได้พักการประชุมเป็นเวลา ครึ่งชั่วโมง หลังจากนั้นจึงได้ดำเนินการประชุมใหม่ จนเสร็จสิ้นที่ 16.30 น. นับเป็นการประชุมที่ใช้เวลายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของการประชุมใหญ่สหกรณ์ออมทรัพย์กรมส่งเสิรมการปกครองท้องถิ่น นับแต่การก่อตั้งมาเมื่อปี 2546 สำหรับผลการเลือกตั้งกรรมการดำเนินการชุดใหม่แทนตำแหน่งที่ว่าง ในสัดส่วนของข้าราชการส่วนท้องถิ่น รวม 7 คน ผลปรากฏว่า “ทีมรวมพลังท้องถิ่น” ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย พร้อมภาคีเครือข่ายของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย เครือข่ายผู้ค้ำประกันเงินกู้สหกรณ์ สถ. สมาคมส่งเสริมช่างท้องถิ่น สมาพันธ์ปลัดอปท.แห่งประเทศไทย สมาพันธ์รองปลัดอปท.แห่งประเทศไทย สมาพันธ์อำนวยการท้องถิ่นแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เครือข่ายวินัยท้องถิ่นแห่งประเทศไทย สมาคมเครือข่ายวินัยศรีสะเกษ ได้รับเลือกตั้งยกทีม ประกอบด้วย ลำดับที่ 1 ว่าที่ ร.ท.ชูชาติ จันทร์แก้ว ปลัดอบต.ลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ 1,443 คะแนน ลำดับที่ 2 นายอัศนัย แจ่มจันทร์ ปลัดเทศบาลตำบลบ่อพลอย อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี ได้ 1,402 คะแนน ลำดับที่ 3 นายสากล ภู่ขันเงิน ปลัดเทศบาลตำบลหนองตาด จ.บุรีรัมย์ (หัวหน้าทีม) ได้ 1,382 คะแนน ลำดับที่ 4 นายชยกฤต กวาวสนั่น ผู้อำนวยการกอง อบต.วัดแค อ.นครชัยศรี จ.ดนครปฐม ได้ 1,366 คะแนน ลำดับที่ 5 นายเฉลิมชัย ปานเนือง ปลัด อบต.จอมปลวก จ.สมุทรสงคราม ได้ 1,346 คะแนน ลำดับที่ 6 นางรจนา ทองทิพย์ ปลัดอบต.หนองหมี อ.ราษีไศล. จ.ศรีสะเกษ ได้ 1,339 คะแนน ลำดับที่ 7 นางสาวศุภดามาศ จันทาธอน รองปลัดเทศบาลตำบลไก่คำ อเมือง จ.อำนาจเจริญ ได้ 1,322 คะแนน โดยทีมที่ได้รับเลือกในครั้งนี้ ได้รับแรงหนุนจาก เครือข่ายผู้ค้ำประกันเงินกู้สหกรณ์ สถ. ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการที่คณะกรรมการชุดเดิมมีมติให้โอนหนี้ของผู้กู้ ไปให้ผู้ค้ำรับผิดชอบแทน ซึ่งมติดังกล่าวมีขึ้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561โดยมีผู้ค้ำประกันได้รับความเดือดร้อนจากมติดังกล่าวกว่า 8,000 คน จากผู้กู้ที่ค้างชำระ 4,000 กว่าราย เป็นมูลหนี้กว่า 1,000 ล้านบาท โดยสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย ได้นำผู้เดือดร้อนไปร้องทุกข์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี ผู้ตรวจการแผ่นดิน อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งสื่อมวลชนหลายแขนง ก่อนหน้านี้รวม 3 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2561 วันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 และวันที่ 24 ธันวาคม 2561 แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข สุดท้ายจึงจำเป็นต้องส่งตัวแทนสมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็นประธานกรรมการ และกรรมการสหกรณ์ เพื่อมุ่งหวังให้คณะกรรมการชุดใหม่เข้าไปสะสางแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ลุล่วง รวมทั้งประเด็นอื่นๆ ที่ทางสมาชิกสหกรณ์เห็นว่าสหกรณ์ปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อสมาชิก นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้เสนอชื่อ นายอำพล ยุติโกมินทร์ ต่อที่ประชุมในการเลือกตั้งประธานกรรมการสหกรณ์ในครั้งนี้ กล่าวว่า สิ่งที่คณะกรรมการดำเนินการชุดปัจจุบันต้องรีบดำเนินการคือ การสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกสหกรณ์ทั้งฝ่ายของผู้ที่สังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และผู้ที่สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ทุกคนมีความเชื่อมั่นต่อการบริหารงานของคณะกรรมการชุดใหม่ที่จะต้องเข้าไปสานงานต่อจากคณะกรรมการชุดเดิม พร้อมทั้งต้องสร้างความเชื่อมั่นให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ที่อาจไม่เข้าใจกระบวนการการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ “และประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ คือการยกเลิกมติของคณะกรรมการชุดเดิมเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561 เฉพาะประเด็นการโอนหนี้ของผู้กู้ไปให้ผู้ค้ำรับผิดชอบแทน ต้องดำเนินการโดยทันทีในการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการชุดนี้ จึงจะทำให้สมาชิกสหกรณ์ที่เดือดร้อนได้คลายความทุกข์ที่เกิดขึ้นตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา เชื่อมั่นว่า คณะกรมการชุดใหม่ โดยการนำของประธานคนใหม่ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการสหกรณ์แห่งนี้มาก่อน จะสามารถฝ่าวิกฤตครั้งสำคัญนี้ไปได้อย่างราบรื่น” นายพิพัฒน์ กล่าว ด้านนายอำพล ยุติโกมินทร์ ปลัดเทศบาลเมืองสามพราน จ.นครปฐม กล่าวว่า เรื่องที่จะต้องเข้าไปแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน คือเรื่องการโอนหนี้จากผู้กู้ไปให้ผู้ค้ำโดยที่ผู้กู้ยังนั่งทำงานอยู่ นโยบายที่เราจะทำให้กับสมาชิกที่ได้รับผลกระทบตรงนี้คือ จะไปดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กู้ โดยให้ต้นสังกัดหรือหน่วยงานเขาหักเงินชำระให้กับสหกรณ์ แต่ถ้าหัวหน้าหน่วยงานไม่ดำเนินการก็จะดำเนินการทางกฎหมายในเรื่องการละเว้น ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ.สหกรณ์ 2.คือการเลือกตั้งสมาชิกสหกรณ์แต่ละครั้ง ไม่อยากให้สมาชิกต้องเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ โดยจะแก้ข้อบังคับให้สมาชิกสามารถใช้สิทธ์ในพื้นที่ของตัวเองได้ อาจส่งเป็นจดหมาย หรือจะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ลงคะแนนทางออนไลน์ได้ 3.จะเข้าไปดูว่าที่มีปัญหาเรื่องหนี้เสียเกิดจากอะไร “ตอนนี้ยังไม่ได้รับมอบงานจากคณะกรรมการชุดเดิม ซึ่งก่อนการเข้ารับมอบงานนั้นเราก็ต้องนั้นเราก็ต้องให้มีการตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ให้เรียบร้อยก่อนว่ามีสิ่งใดผิดปกติหรือไม่ เป็นจริงครบถ้วนตามที่เขาจะส่งมอบหรือไม่ ซึ่งอาจจะต้องขอความร่วมมือจากกรมตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ หรือถ้าไม่สะดวกก็อาจต้องจ้างบริษัทเข้าไปตรวจสอบ” นายอำพล กล่าว