ผู้สมัครส.ส.เขตทั่วประเทศ 506 คน จ่อถูกตัดสิทธิไม่ได้รับการประกาศชื่อเป็นผู้สมัคร หลังสำนักงานกกต.แจ้งข้อมูลไม่ปรากฏชื่อในระบบฐานข้อมูลสมาชิก- เป็นสมาชิกซ้ำซ้อน- สังกัดพรรคการเมืองไม่ครบ 90 วัน ด้าน "ผอ.กกต.จังหวัด" มึนจะต้องประกาศพรุ่งนี้แล้วยังไม่ชัดเจนยึดข้อมูลไหน วันที่ 14 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งทั้ง 350 เขต จะต้องตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามผู้สมัครส.ส.เขตที่มียอดการสมัครกว่า 1 หมื่นคน และต้องประกาศรับรองรายชื่อผู้สมัครส.ส.เขตตามที่กฎหมายกำหนดในวันที่ 15 ก.พ. พบว่าขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีการแจ้งผลการตรวจสอบการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองของผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ไปยังผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้อำนวยการประจำเขตเลือกตั้งใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณารายชื่อให้เป็นผู้สมัคร โดยมีรายงานว่าผลการตรวจสอบที่มีการแจ้งไปนั้น แยกเป็น ผลการตรวจสอบการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองของผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขตที่บันทึกเข้าระบบฐานข้อมูลพรรคการเมือง กรณีไม่พบว่ามีชื่ออยู่ในระบบฐานข้อมูลสมาชิกพรรคการเมือง และไม่เป็นผู้ร่วมจัดตั้งพรรคที่พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.มาตรา 172 ให้สิทธินับการเป็นสมาชิกนับตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรค ลงวันที่ 11 ก.พ. ซึ่งพบว่ามีผู้สมัครส.ส.เขตที่เข้าข่ายดังกล่าวรวม 253 ราย และผลการตรวจสอบสมาชิกพรรคของผู้สมัครส.ส.ที่บันทึกเข้าระบบฐานข้อมูลพรรคกรณีพบว่า เป็นสมาชิกพรรคการเมืองเดียวไม่ครบ 90 วันตามรัฐธรรมนูญมาตรา 96 (3) ประกอบมาตรา 41 (3) และเป็นสมาชิกพรรคซ้ำซ้อน ลงวันที่ 11 ก.พ. ซึ่งพบว่ามีผู้สมัครส.ส.เขตที่เข้าข่ายดังกล่าวรวม 253 ราย อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่ากรณีดังกล่าวสร้างความสับสน วุ่นวายให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั่วประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากเมื่อวันที่ 12 ก.พ.สำนักงานกกต. เพิ่งจะได้มีบันทึกข้อความแจ้งเป็นการภายในไปยังผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั่วประเทศว่า กรณีไม่ปรากฎชื่อผู้สมัครส.ส.ในระบบฐานข้อมูลสมาชิกพรรคการเมือง เนื่องจากพรรคการเมืองยังไม่ได้นำเข้าข้อมูลสมาชิกพรรคการเมืองให้ยึดหลักฐานการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่ผู้สมัครนำมาแสดงคือ สำเนาใบสมัครเป็นสมาชิกพรรค สำเนาหลักฐานการชำระเงินค่าบำรุงพรรค และสำเนาหลักฐานการลาออกจากสมาชิกพรรคการเมืองอื่น เป็นหลักฐานในการพิจารณารับสมัคร ส่วนกรณีการนับระยะเวลาการเป็นสมาชิกพรรคของผู้สมัครที่เป็นผู้ร่วมกันจดแจ้งจัดตั้งนั้นให้ยึดหลักฐานสำเนาใบคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง และสำเนาหลักฐานการรับทุนประเดิมของผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมือง เป็นหลักฐานในการพิจารณารับสมัคร จึงทำให้ ขณะนี้ในกรุ๊ปไลน์สำนักงานกกต.ที่ใช้สื่อสารกับผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั่วประเทศ ทางผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ได้พยายามขอความชัดเจนว่าตกลงแล้วจะให้แจ้งผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขต ยึดข้อมูลของสำนักงานที่แจ้งไป หรือหลักฐานที่ผู้สมัครนำมาแสดง เป็นหลักในการพิจารณาประกาศรับรองรายชื่อผู้สมัคร เพราะตามกฎหมายจะต้องประกาศรับรองรายชื่อผู้สมัคร ในวันพรุ่งนี้แล้ว แต่ก็ยังไม่มีคำตอบจากทางสำนักงานฯ นอกจากนี้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดยังแสดงความกังวลใจว่า หากยึดข้อมูลตามรายงานผลการตรวจสอบ ซึ่งก็จะมีผู้สมัคร ส.ส.เขต ถูกตัดสิทธิไม่ได้รับการประกาศชื่อจากทั้ง 3 เหตุผลมากถึง 506 คน รวมถึงผู้สมัครที่จะถูกตัดสิทธิไม่ประกาศรายชื่อจากเหตุผลอื่น ไปยื่นร้องต่อศาลฎีกา และผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตก็ต้องไปชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ซึ่งก็จะถือเป็นภาระหนักพอสมควร ขณะเดียวกัน ก็จะเกิดปัญหาตามมา ถ้าที่สุดแล้ว ศาลฎีกายืนตามความเห็นของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ที่ไม่ประกาศรายชื่อผู้นั้นให้เป็นผู้สมัคร สำนักงานกกต. ก็ต้องแจ้งความดำเนินคดีทั้งกับผู้สมัครและหัวหน้าพรรคการเมืองนั้นที่เซ็นรับรองส่งสมัครอีกด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ตามมาตรา 49 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. กำหนดว่ากรณีที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งไม่รับสมัครผู้ใด หรือไม่ประกาศรายชื่อบุคคลใดเป็นผู้สมัครตามมาตรา 46 ให้บุคคลนั้นมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาภายใน 7 วันนับแต่วันที่ไม่รับสมัครหรือไม่ประกาศรายชื่อ โดยการพิจารณาและวินิจฉัยของศาลฎีกาให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 3 วัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตามข้อมูลที่ผู้สมัครส.ส.เขต อาจถูกตัดสิทธิไม่ได้รับการประกาศชื่อให้เป็นผู้สมัคร จากเหตุดังกล่าวพบว่ามีทั้งพรรคเก่า พรรคใหม่ แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นพรรคการเมืองขนาดเล็กที่ตั้งขึ้นใหม่ อาทิ พรรคมหาชนถูกระบุว่าผู้สมัครแบบแบ่งเขตไม่พบชื่อในระบบฐานข้อมูลมากถึง 133 คน พรรคผึ้งหลวงมากถึง 40 คน พรรคประชาธรรมไทย 16 คน พรรคประชาธิปัตย์ 1 คน พรรคอนาคตใหม่ 3 คนที่ไม่พบข้อมูลในระบบ และไม่เป็นผู้ร่วมจัดตั้งพรรค ขณะที่ผู้สมัครแบบแบ่งเขตของพรรคเศรษฐกิจใหม่พบเป็นสมาชิกซ้ำซ้อนกับพรรคการเมืองอื่น 27 คน พรรคเพื่อชาติ 20 คน พรรคประชาชาติ 18 คน พรรคเสรีรวมไทย 6 คน พรรคชาติพัฒนา 3 คน พรรคภูมิใจไทย 2 คน ส่วนผู้สมัครพรรคครูไทยสังกัดการเมืองไม่ครบ 90 วัน จำนวน 18 คน พรรครวมพลังประชาชาติไทย 7 คน ที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่ครบ 90 วันและไม่เป็นผู้ร่วมจัดตั้งพรรคการเมือง เป็นต้น