สั่งชะลอสร้างบ้านมอแกนเกาะสุรินทร์ พีมูฟพอใจผลการประชุม-แยกย้ายกลับบ้านหลังประชุมยาวกว่า 7 ชั่วโมง “สุวพันธุ์เร่งทำเอกสารเตรียมชงเรื่องเสนอนายกฯ-ครม.ระบุแก้ไม่สำเร็จส่งต่อรัฐบาลหน้า เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 การชุมนุมของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟในวันที่ 3 ได้ข้อสรุปภายหลังจากที่นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้เรียกประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ที่แก้ไขปัญหาของชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนกว่า 100 กรณี โดยเชิญคณะอนุกรรมการทั้ง 8 ชุด ทั้งผู้แทนหน่วยงานราชการและผู้แทนชาวบ้านร่วมกันพิจารณาตั้งแต่เวลา 09.00 น.โดยใช้เวลากว่า 7 ชั่วโมง เวลา 17.00 น.นายสุวพันธุ์ได้เดินทางมาพบชาวบ้านที่ชุมนุมอยู่ข้างทำเนียบโดยนายสุวพันธุ์ได้กล่าวกับชาวบ้านว่า บางเรื่องอาจเร็วบางเรื่องอาจล่าช้าแต่ไม่เคยละเลยหรือไม่เคยไม่เอาใจใส่ โดยก่อนประชุมกับพีมูฟตนมักจะรู้สึกเครียดก่อน 1 วันเพราะต้องรับมือกับประเด็นต่างๆ แต่เมื่อประชุมเสร็จทุกอย่างก็ราบรื่นและรัฐบาลได้รู้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ความเอาใจใส่และให้คำแนะนำมาโดยตลอด นายสุวพันธุ์กล่าวว่า ในวันนี้ได้ประชุมกันหลายเรื่อง บางเรื่องเป็นเชิงนโยบายรัฐบาลก็รับเอาไปหารือกับภาคส่วนต่างๆ แต่สิ่งที่สำคัญคือวันนี้ปัญหาทั้งหมดของชาวบ้านไม่ว่าจะกี่ร้อยกี่พันปัญหา เราจะรวบรวมเอาความคืบหน้าหรือปัญหาอุปสรรครวมทั้งแนวทางในการแก้ปัญหาเป็นเอกสารเพื่อส่งให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)และมอบให้นายกรัฐมนตรี เพราะต้องการให้ครม.รับทราบเพื่อส่งปัญหาให้รัฐบาลชุดใหม่ได้รับรู้และแก้ปัญหาต่อไป “เราจะรีบทำเอกสารชุดให้สมบูรณ์ที่สุดเพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไขเร็วที่สุด อยากให้พี่น้องสบายใจ และอยากให้กลับภูมิลำเนาดูแลครอบครัว ใช้ชีวิตสะดวกสบายกว่าอยู่ตรงนี้ วันนี้รัฐบาลได้รับทราบ และการประชุม 7 ชั่วโมงในวันนี้เพราะเราต้องการเอาใจใส่ปัญหาของชาวบ้าน ผมอยากเห็นกรณีต่างๆได้รับการแก้ไข ระหว่างนี้ไปจนถึงมีรัฐบาลใหม่ เราจะทำงานต่อ อนุกรรมการชุดต่างจะยังประชุมต่อ คณะกรรมการชุดใหญ่ก็ยังเปิดรับฟังปัญหาต่อไป ขอให้อยู่บ้านฉลองสงกรานต์กันให้ยาว ไม่ต้องมาแล้ว”นายสุวพันธุ์ กล่าว นานสุวพันธุ์กล่าวว่า นายกฯรัฐมนตรีฝากมาว่าอยากให้ทุกคนได้อยู่กับครอบครัว หากมีปัญหาอะไรขอให้บอกกับตัวแทนของทุกคน ซึ่งทุกคนต่างทำงานกันด้วยความจริงใจด้วยดีเสมอมา ปัญหาทุกปัญหาหากมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันก็จะแก้ไขปัญหาได้ และภาคราชการเองก็ทำงานด้วยความเต็มใจแม้ต้องฟังเสียงตำหนิและถูกถล่มในที่ประชุม แต่ก็รับเรื่องราวของชาวบ้านไปแก้ไข บางเรื่องที่ยังทำไม่ได้ก็จะถูกนำไปแก้ไขในวันข้างหน้า นายประยงค์ ดอกลำไย แกนนำพีมูฟกล่าวว่าปัญหาทั้งหมด 120 กรณี ไม่ได้มีการพิจารณาทั้งหมด โดยเรื่องที่จะผ่านคณะกรรมชุดใหญ่คือเรื่องเร่งด่วน เช่น ไฟไหม้ชุมชนมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ เรื่องคดีที่จะสู่การพิจารณาของศาล กลุ่มที่สองที่พิจารณาคือเรื่องที่ผ่านอนุกรรมการฯมาแล้ว โดยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯมีข้อจำกัดคือไม่สามารถสั่งการรัฐมนตรีกระทรวงอื่นได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นบทเรียนในการเคลื่อนไหวยุคต่อไปว่าประธานควรเป็นรองนายกฯ แต่รัฐบาลชุดนี้รองนายกฯไม่ค่อยเข้าใจปัญหาของชาวบ้าน จึงเลือกเอารัฐมนตรีประจำสำนักนายก ซึ่งเมื่อได้มติใดๆก็ต้องประสานกับรัฐมนตรีอื่นๆอีกที นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดอีกประการเมื่อรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯเป็นประธาน อนุกรรมการชุดต่างๆไม่สามารถแต่งตั้งรัฐมนตรีเป็นประธานได้เพราะศักดิ์ศรีเท่ากัน จึงเห็นประธานอนุกรรมการฯมักไม่มาประชุมเพราะหากได้ข้อยุติแล้วรัฐมนตรีไม่เห็นด้วยก็จะซวย มีตัวอย่างชัดเจนคือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม “วันนี้เราประสบความสำเร็จในเป้าหมายหลายเรื่อง แม้แก้ปัญหาไม่จบแต่หลายเรื่องก็ยันอยู่ อย่าตั้งคำถามว่าสู้มา 4 ปีในรัฐบาลนี้ได้อะไรบ้าง แต่โปรดตั้งคำถามว่าถ้าไม่สู้เราจะเสียอะไรบ้าง หลายคนจะได้สู้อยู่ที่นี่หรืออยู่ในเรือนจำ เราต้องเชื่อมั่นในพลัง แม้จะถูกดูถูกจากนายกฯว่ามาโหวกเหวง แต่ก็ต้องสู้”นายประยงค์ กล่าว นายจำนง จิตรนิรัตน์ แกนนำพีมูฟ กล่าวว่าที่ประชุมได้มีการพิจารณากรณีสร้างบ้านหลังใหม่ให้ชาวมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา แทนบ้านที่ถูกไฟไหม้กว่า 60 หลัง แต่เนื่องจากบ้านที่สร้างใหม่มีความคับแคบดังนั้นจึงอยากให้มีการชะลอตอกเสาและพิจารณาในเรื่องการวางผังบ้านให้ขยายขึ้น ซึ่งในที่ประชุมนายสุวพันธุ์เห็นด้วยที่จะชะลอการสร้างบ้านไว้ก่อนและให้คณะกรรมการชาวเลพิจารณาสนับสนุนในประเด็นนี้ด้วย “การประชุมคณะกรรมชุดใหญ่ครั้งนี้ สามารถผลักดันปัญหา 60-70 % ให้ขับเคลื่อนสู่การแก้ปัญหาได้ เช่น กรณีคดีความที่ชาวบ้านถูกฟ้องขับไล่ ก็ให้มีการชะลอหรือถอนคดี หรือกรณีห้วยฝั่งแดงที่ชาวบ้านขอค่าชดเชยก็ได้ข้อยุติโดยเปลี่ยนจากคำว่าค่าชดเชยเป็นค่าสูญเสียโอกาสในการประกอบอาชีพ”นายจำนง กล่าว ทั้งนี้ภายหลังจากทราบมติ ชาวบ้านต่างพอใจในผลการประชุมและแยกย้ายกันเดินทางกลับภูมิลำเนา