จันทนา กูรีกัน//สตูล สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจับมือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศูนย์ออกแบบสร้างสรรค์ TCDC และนักธุรกิจรุ่นใหม่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการจัดการนวัตกรรมสำหรับพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 1 Deep South Innovation Business Coaching Program ในระหว่างวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ถึง วันที่ 28 เมษายน 2562 ณ โรงแรมเซนทารา หาดใหญ่ และจะหมุนเวียนไปจัดในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งคาดหวังในการเร่งรัดให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในพื้นที่และพัฒนาความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา หน่วยวิจัยและองค์กรรัฐ-เอกชนต่างๆ ผลักดันให้เกิดการพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ (new business model) โดยได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ “การส่งเสริม Startup/SMEs ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้” ในการดำเนินการผลักดันธุรกิจนวัตกรรมและวิสาหกิจเริ่มต้นที่จะเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ ที่สามารถสร้างความแตกต่างและมูลค่าเพิ่ม ก่อให้เกิดการยกระดับศักยภาพทางการแข่งขันในเชิงเศรษฐกิจ รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคมของประเทศให้ทัดเทียมสังคมโลก โดยรูปแบบธุรกิจดังกล่าวสามารถทำซ้ำ (Repeatable) และขยายตลาด(Scalable) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและเติบโตอย่างก้าวกระโดด (Exponential growth) ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการ “การส่งเสริมการสร้างผู้ประกอบการใหม่และวิสาหกิจเริ่มต้นในภูมิภาคชายแดนใต้ (Deep South Innovative Startup)” ที่ สนช. ได้ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) เพื่อสร้างผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการทำธุรกิจสูงแต่ยังขาดการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อการสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืน โดยกิจกรรมจะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ 1.กิจกรรม 3 Days Smart SMEs/Startup เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ และบุคคลทั่วไปที่แนวคิดทางธุรกิจ และนวัตกรรม ได้นำเสนอแนวคิด เพื่อที่จะได้รับการคัดเลือก เป็น 30 ราย ที่จะได้ร่วมกิจกรรมในช่วงต่อไป 2.กิจกรรม Startup 101 / Smart SMEs 101 (8 Weeks coaching) เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากกิจกรรมช่วงแรก โดย ผู้ที่ได้คัดเลือก 30 ราย จะได้เข้าเรียนในหลักสูตรการวางแผนทางธุรกิจ และนวัตกรรม อย่างเข้มข้น ในทุกวันเสาร์ และวันอาทิตย์ ตลอด 8 สัปดาห์ เพื่อเสริมสร้างแผนธุรกิจ กำจัดจุดอ่อนทางธุรกิจ และต่อยอดทางธุรกิจสู่ธุรกิจนวัตกรรมต่อไป ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมทั้ง 30 ราย จะได้เรียนในคอร์สที่มีมูลค่ากว่า 100,000 บาทต่อคนแล้ว ยังจะสามารถขอรับการพิจารณาทุนสนับสนุนไม่เกิน 1,500,000 บาท จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์การมหาชน)อีกด้วย ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ทางเรากับทางศอบต. ร่วมงานกันมาสักประมาณ 2 ปีแล้วเริ่มต้นที่การลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ สนับสนุนและส่งเสริมให้น้องๆผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่อยากจะทำธุรกิจในแนวของวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ startup มีโอกาสในการเข้าถึงระบบนิเวศน์สตาร์ทอัพระดับประเทศและก็พัฒนาไปประมาณ 2 รุ่น แต่ทีนี้ โจทย์ มันคงไม่ใช่แค่ startup อย่างเดียว จะมีโจทย์ที่เกี่ยวข้องกับ OTOP และวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมร่วมด้วยก็จะเป็นที่มาที่ไปว่าในระยะต่อมาเริ่มขยายงานที่ทำงานกับศอบต. ครอบคลุมทั้งในส่วนของ startup OTOP วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในเรื่องที่เกี่ยวกับธุรกิจด้านนวัตกรรม ต้องบอกว่าปีนี้เป็นปีที่ 3 ในการที่เราเริ่มทำงานต่อเนื่องร่วมกับ ศอบต. ช่วงปีที่ 2 เริ่มเห็นบริษัทสตาร์ทอัพในพื้นที่ทั้งน้องๆที่เป็นคนพื้นถิ่นอยู่แล้วตัดสินใจย้ายมาทำธุรกิจ startup ที่มีผู้ประกอบการในพื้นที่ผันตัวเองมาเป็น startup มีธุรกิจเริ่มเกิดขึ้นมาที่ตอบสนองตามความต้องการของท้องถิ่นปีนี้เราคงเน้นอยู่ 3 เรื่อง เรื่องแรกคือสนับสนุนบรรดาวิสาหกิจเริ่มต้นโดยเฉพาะ startup การสนับสนุนทั้งในเชิงองค์ความรู้และก็ทุนที่เราให้ไปแล้ว เติบโตต่อไปได้มีโอกาสในการเข้าไปนำเสนอธุรกิจในส่วนกลางด้วย โดยเฉพาะในส่วนของงาน startup Thailand ที่จะจัดขึ้นประมาณเดือนพฤษภาคมนี้ ในตัวที่สองก็จะเกี่ยวข้องกับกลุ่ม OTOP กับ SME ก็จะมีการยกระดับโครงการนวัตกรรมเชิงภูมิภาค ตอนนี้ทาง สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เราก็แบ่งส่วนงานที่ดูแลโครงการ ในระดับภูมิภาคออกมาชัดเจน เราก็จะมีแผนมีแนวทางในการสนับสนุนสิ่งที่เราเรียกว่าระเบียงนวัตกรรม อย่างน้อยเราก็น่าจะมีระเบียงนวัตกรรม อีกส่วนหนึ่งเรามองไปในระดับที่ตอบสนองกลุ่มธุรกิจ อาลาล ที่กินได้และกินไม่ได้เรามองว่าตลาดนี้ไม่ต่ำกว่าหลายพันล้านปี เพราะฉะนั้นสาขาธุรกิจเหล่านี้ก็จะมุ่งเป้าไปที่บริเวณนั้นเช่นกัน แน่นอนครับมันเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินนโยบายในการยกระดับโอกาสใหม่ๆให้กับน้องๆในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีโอกาสทำธุรกิจรูปแบบใหม่ๆในขณะเดียวกันของ SME เราก็มีอยู่หลากหลายเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอาหาร และเกษตร นวัตกรรมเป็นตัวตอบคำถามในการเติบโตเช่นกัน ในขณะเดียวกันก็เป็นการตอบคำถามเชิงนวัตกรรมทำให้เกิดความยั่งยืน เกิดความสันติสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เช่นกันนี้คนรุ่นใหม่ๆได้มีโอกาสทางธุรกิจในพื้นที่ ด้าน พลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า วันนี้ต้องขอขอบคุณทาง ผู้อำนวยการนวัตกรรมแห่งชาติกระทรวงวิทยาศาสตร์เป็นหลัก ศอบต. เป็นหน่วยงานในพื้นที่ที่ได้รับความกรุณาจากท่านได้รับความกรุณาจากหลายๆองค์กรในเป้าหมายเราในฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ ก็คือพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกมิติ เศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรมนุษย์ สำหรับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีทรัพยากรพื้นฐานที่พร้อมสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจทุกรูปแบบ ทั้งเกษตรฐานราก ทั้งในภาคประมง ทั้งด้านการท่องเที่ยว มีงานวิจัยของอยู่มากมายวันนี้เป็นวันที่เราจับทุกอย่างมาเชื่อมต่อกันในรอยต่อนำงานวิจัยนำองค์ความรู้จากต่างๆนำทรัพยากรต่างๆ มีข้อกลางคือเยาวชนคนรุ่นใหม่จะมาเป็นผู้ประกอบการ และเริ่มจาก startup ที่เราทำอยู่แล้วมาเชื่อมต่อกัน และใช้ศักยภาพขององค์กรนวัตกรรมแห่งชาติมาช่วยเติมเต็ม มาบ่มเพาะมาถ่ายทอดองค์ความรู้ และก็ใช้บุคลากรและงบประมาณส่วนหนึ่ง ต้องใช้เวลาประมาณสัก 8 สัปดาห์ หวังว่าเยาวชนที่อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มาวันนี้ประมาณซัก 2-3 ร้อยท่านซึ่งต่อไปเมื่อผ่านการบ่มเพาะไปสักระยะเวลาหนึ่ง ก็จะเป็นหัวกระบวนในภาคใต้ที่จะนำผลผลิตมาเข้าสู่การแปรรูปผลิตใหม่เพื่อดำเนินการใหม่และนำสู่ออกตลาดโลกทำให้เยาวชนเห็นว่าทุกคนมีงานรองรับในแผ่นดินใต้ก็จะมีงานอย่างแน่นอน