ส.ผู้ค้าปลีกไทย ชี้ค้าปลีกปี 62 น่าห่วง ส่อแววซึมยาว วอนรัฐหนุนภาคค้าปลีกจริงจัง ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า จากแนวโน้มการประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ของสถาบันต่างๆ ที่คาดว่าจะขยายตัวในแบบชะลอจากปี 2561 เนื่องจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวจะชะลอตัวลงอย่างชัดเจน , ความไม่ชัดเจนของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน , ราคาสินค้าเกษตรที่ทรงตัว และความไม่แน่นอนของการเมืองหลังการเลือกตั้ง ซึ่งธุรกิจค้าปลีกคงต้องเฝ้าติดตาม บรรยากาศโดยภาพรวม ซึ่งจะส่งผลเกี่ยวข้องโดยตรงกับการตัดสินใจเดินหน้าการค้าและการลงทุนในปีต่อๆไป ดังนั้นจากปัจจัยลบดังกล่าวทำให้สมาคมฯมองว่าโดยรวมแล้วอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยปี2562กลุ่มฐานผู้บริโภคกลางลงล่างยังซึม กลุ่มฐานผู้บริโภคกลางขึ้นบนทรงตัว และทั้งภาคค้าปลีกยังคงต้องยังเสี่ยงกับความไม่ชัดเจนและความไม่แน่นอน ส่วนการการคาดการณ์สถานการณ์ค้าปลีกครึ่งปีแรก2562 สมาคมฯมองว่าอุตสาหกรรมภาคค้าปลีกคงหวังไม่ได้กับ “มาตรการ อังเปาช่วยชาติ” ที่จะช่วยกระตุ้นการบริโภคซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะมีการจับจ่ายกว่าแสนล้านโดยมีผู้บริโภคเข้าร่วมโครงการกว่า 6 ล้านคน แต่ข้อมูลล่าสุดมีผู้เข้าร่วมลงทะเบียนเพียงหลักหมื่นคน ทำให้การจับจ่ายเหลือเพียงประมาณหมื่นล้านบาท เมื่อรวมถึงการเลือกตั้งที่จะมีเงินสะพัดราว 50,000 ล้านบาท ทำให้ครึ่งปีแรกจะมีเงินสะพัดเพียงประมาณ 60,000 ล้าน ซึ่งถือว่าอยู่ค่อนข้างน้อย ดังนั้นภาพรวมค้าปลีกครึ่งปีแรก คงจะไม่เห็นการเติบโตภาคค้าปลีกเพิ่มขึ้นแต่อย่างไร ขณะที่ครึ่งปีหลัง2562หากภาครัฐจะเร่งให้มีการประมูลโครงสร้างพื้นฐานให้ได้ภายในไตรมาสหนึ่ง ผลจากการลงทุนนี้จะส่งผลต่อการเติบโตแก่ภาคค้าปลีกในปลายไตรมาสที่สามต่อต้นไตรมาสที่สี่ แต่หากไม่เป็นตามระยะเวลาดังกล่าว ครึ่งปีหลังก็คงจะ ซึม ถึง ทรุด ในบางกลุ่มประเภทธุรกิจ Segment “โดยรวมดัชนีค้าปลีกปีนี้ อาจจะทรงตัวหรืออาจจะต่ำกว่าเดิมเล็กน้อย เมื่อเทียบกับ ปี2561 คาดว่า การเติบโตน่าจะอยู่ราว 3.0-3.1% แต่ซึ่งก็ยังน้อยกว่า GDP ทั้งประเทศ ที่คาดการณ์ว่าน่าจะเติบโตราว 3.5-4.0%” นายวรวุฒิ กล่าว สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐบาลจากส.ผู้ค้าปลีกไทย คือ 1.รัฐบาลควร ให้ความสำคัญต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งอย่างจริงจัง เนื่องจากภาคค้าปลีกเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ 2.เพื่อแก้ไขปัญหาโครงสร้างภาษีที่ถูกบิดเบือน รัฐบาลควรศึกษาและพิจารณาเรื่องการลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์หรูอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในกลุ่มแฟชั่น เครื่องสำอาง เครื่องหนัง และนาฬิกาชั้นนำ (Luxury Brand) เพื่อกระตุ้นยอดจับจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในเมืองให้เพิ่มขึ้น 3. สร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายในประเทศและผู้บริโภคที่เป็นนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดย ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประกาศจัดงาน “Thailand Brand Sale” ระยะเวลา 3 เดือน (ช่วง low season ของการท่องเที่ยว หรือช่วงเดือน มิถุนายน ถึง เดือนสิงหาคม) 4. ภาครัฐต้อง ไม่ปิดกั้นผู้ประกอบการรายอื่นๆ ให้เข้ามาดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีในสนามบิน และพื้นที่ค้าปลีกนอกสนามบิน เพื่อเปิดแข่งขันเสรีในทุกภาคส่วนในประเทศไทย เพื่อรัฐจะสามารถสร้างรายได้มากขึ้น, 5 รัฐจะต้องกำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนผลักดันให้มีการออกกฎระเบียบประกาศค่าจ้างขั้นต่ำเป็นรายชั่วโมง ของกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มบุคคลหลังเกษียณ ซึ่งเป็นกลุ่มไม่สามารถทำงานได้เต็มเวลา 8 ชั่วโมง เหมือนกลุ่มแรงงานปกติ 6. นโยบายการจ้างงานผู้สูงอายุ ขอให้พิจารณาปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างผู้สูงอายุที่สามารถใช้ลดหย่อนภาษี ทั้งนี้ปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 15,000 บาท และขอให้พิจารณากรณีค่าจ้างสูงกว่า 15,000 บาท ให้สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุดที่ 15,000 บาท เพราะปัจจุบันหากค่าจ้างสูงกว่า 15,000 บาท จะไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เลย และสามารถจ้างงานเป็นรายชั่วโมงตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมง ตามข้อ 5 7. ภาครัฐต้อง สร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมค้าปลีก-ค้าส่ง ตลอดจนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจบริการให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาระบบทวิภาคี โดยชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ และอาจให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น การลดหย่อนภาษีหรือสิทธิพิเศษอื่นๆ อีกทั้งภาครัฐจะต้องมีมาตรการสนับสนุนการนำคุณวุฒิวิชาชีพมาเป็นมาตรฐานการจ้างงานโดยเริ่มที่การจ้างงานภาครัฐก่อน 8. รัฐต้องมีมาตรการส่งเสริมการค้าชายแดนอย่างชัดเจน โดย พิจารณาผ่อนผันการเปิดด่านต่างๆ การเพิ่มจำนวนด่าน และอำนวยความสะดวก รวมทั้งพิจารณาให้มี VAT Refund for Tourist ในกรณีนักท่องเที่ยวเพื่อนบ้านเดินทางเข้ามาในประเทศไทยโดยใช้เส้นทางบก