โครงการรถไฟความเร็วสูงอย่างที่ทุกคนทราบว่าเป็นรูปแบบของโครงการการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership) พูดง่ายๆคือ การมาทำธุรกิจร่วมกัน ถ้ากำไรก็แบ่งกำไรด้วยกัน แต่ถ้าเกิดเสี่ยงอะไรขึ้นมาก็ต้องรับความเสี่ยงร่วมกัน ดังนั้นการหาทางออกในการเจรจาในการรับความเสี่ยงที่ทุกฝ่ายรับได้ จึงถือเป็นประตูด่านสุดท้ายของการเจรจา งานนี้รออัศวินขี่ม้าขาวมากดปุ่มเดินหน้าแบบกล้าตัดสินใจ และได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย รวมถึงประชาชนคนไทยก็จะถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของรัฐบาล หากสามารถขับเคลื่อนโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ถือว่าเป็นกุญแจดอกแรกของอีอีซี ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม และสิ่งที่สำคัญคือ ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับคนไทย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับโครงการอื่นๆในอีอีซี ทั้งนี้ที่ผ่านมาต้องเห็นใจทีมกรรมการคัดเลือกที่มีอำนาจจำกัด หากโครงการเสี่ยงน้อยรัฐก็สามารถกดปุ่มเดินหน้าได้ทันที แต่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีความเสี่ยงสูงหลายด้าน ทำให้เอกชนต้องไปคิดหนักว่า หากจะร่วมลงทุนกับรัฐให้สำเร็จได้จริง ทางภาครัฐเองต้องช่วยลดความเสี่ยงด้านใดได้บ้าง ซึ่งภาครัฐต้องปรับวิธีคิด ซึ่งจะคิดเป็นฝ่ายได้อย่างเดียวและไม่ร่วมเสี่ยงเลยไม่ได้ ดังนั้นการพิจารณารับความเสี่ยงได้บ้าง จึงเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จโครงการ งานนี้ต้องส่งต่อให้ผู้มีอำนาจ และอาศัยภาวะผู้นำในการตัดสินใจในระดับการรับความเสี่ยงและพิจารณาเงื่อนไขที่รับได้ เพื่อเดินหน้าต่อ เพราะหากยังไม่มีใครกล้าตัดสินใจ ปล่อยให้ยึดเยื้อไป อาจลากเข้าสู่การประมูลใหม่ ซึ่งไม่เป็นผลดีกับทุกฝ่าย รวมถึงความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ อย่างไรก็ดีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่ยังอยู่ระหว่างเจรจากับกลุ่มซี.พี.นั้นว่า คณะกรรมการคัดเลือกที่ทำหน้าที่เจรจาทราบดีอยู่แล้วว่า ต้องเจรจาให้จบโดยเร็วตามกรอบที่วางไว้ในเดือน มี.ค.นี้ จากสัญญานที่ดีในหลายๆด้าน คงต้องมาส่งแรงใจเชียร์บิ๊กตู่ ให้เข้ามาพิจารณาเงื่อนไข และหาทางกดปุ่มโครงการ เพื่อให้โครงการรถไฟความเร็วสูงเกิดขึ้นได้จริง เพราะหากเข้าสู่การประมูลใหม่ ก็ไม่รู้ว่า จะคุ้มค่ากับความเชื่อมั่นของประเทศหรือไม่...