คุยเฟื่องเรื่องต่างประเทศ/ดร. วิวัฒน์ เศรษฐช่วย                                  การเมืองเป็นเรื่องที่ทุกๆคนต่างก็ทราบกันเป็นอย่างดีว่า "ช่างแสนจะสลับซับซ้อน" โดยนักการเมืองส่วนใหญ่มักจะทำทุกอย่าง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเองเหนือประเทศชาติ อย่างไรก็ตามสถาบัน Pew Research หรือ “องค์กรพิว” ซึ่งเป็นสถาบันค้นคว้าและวิจัยตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ที่ก่อตั้งมาแล้ว 25 ปี และขณะนี้ได้กลายเป็นองค์กรที่ได้รับความเชื่อถือเป็นอย่างสูงนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2001 โดยองค์กรนี้มุ่งเน้นทำการศึกษาเฉพาะทางเกี่ยวกับท่าทีของนานาประเทศที่มีต่อสหรัฐอเมริกา!!! ในช่วงสมัยที่รัฐบาลของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู.บุช เข้าสู่ทำเนียบขาวนั้น เนื่องจากเขาขาดประสบการณ์ทางด้านการต่างประเทศ เขาจึงได้ปล่อยให้รองประธานาธิบดีดิก เชนีย์ ซึ่งเป็นเหยี่ยวสงครามเข้าไปเป็นฝ่ายกำหนดนโยบายต่างประเทศ และเขายังเป็นผู้บงการให้เปิดฉากถล่มอิรักเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2003โดยได้เริ่มกุข่าวว่าประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซ็น ผู้นำของอิรักมีอาวุธสงครามร้ายแรง โดยเขาเขียนสคริปให้รัฐมนตรีต่างประเทศโคลิน พาวเวลล์ กล่าวถ้อยแถลงในสหประชาชาติ ทั้งนี้ประธานาธิบดีจอร์จ เอ็ช.ดับเบิ้ลยู.บุชผู้พ่อ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านการต่างประเทศได้ออกมาให้สัมภาษณ์แสดงความเห็นเมื่อปี 2015 ตอนที่เขามีอายุได้ 91 ปีว่า “ในฐานะที่ข้าพเจ้าชราภาพแก่ปูนนี้แล้ว ข้าพเจ้าจะพูดในสิ่งที่ข้าพเจ้าอยากจะพูด”  โดยประธานาธิบดีบุชผู้พ่อได้อธิบายในกรณีรองประธานาธิบดีดิค เชนีย์ ว่า ”ดิค เชนีย์เปลี่ยนไปจากคนที่เคยเป็นรัฐมนตรีกลาโหมในสมัยข้าพเจ้า เป็นคนละคน จากการที่เป็นรองประธานาธิบดีในสมัยของประธานาธิบดีบุชลูกชายของข้าพเจ้า โดยเขาเปลี่ยนท่าทีกลายเป็นพวกขวาตกขอบ แถมยังต้องการใช้กำลังทหารกับทุกๆประเทศ และยังวางตัวเป็นจอมบงการในกระทรวงต่างประเทศอีกด้วย” (จากนิวยอร์กไทมส์ 4 พฤศิจายน 2015) อย่างไรก็ตามผู้ตรวจสอบด้านอาวุธของสหประชาชาติมีบทสรุปออกมาว่า ไม่มีหลักฐานว่าซัดดัม ฮุสเซ็นมีอาวุธร้ายแรงอยู่ในครอบครอง และ คณะมนตรีความมั่นคงก็ไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังทหารที่มีอาวุธครบมือบุกอิรัก แต่จากการหว่านล้อมด้วยวิธีต่างๆนานาของประธานาธิบดีบุชและรองประธานาธิบดีดิค เชนีย์ ทำให้คนอเมริกันหลงเชื่อ และในที่สุดประธานาธิบดีบุชด้วยความเห็นชอบของสภาคองเกรสก็ได้สั่งยกพลเข้าไปถล่มอิรัก จนกลายเป็นสงครามยืดเยื้อกว่าแปดปี แต่ในที่สุดเมื่อปี 2011ยุคของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ก็ได้สั่งให้ถอนการยึดครองอิรัก มีผลทำให้ขณะนั้นภาพพจน์ของสหรัฐอเมริกาต้องพบกับความตกต่ำแบบสุดๆในสายตาของโลกมุสลิม สืบเนื่องมาจากการตัดสินใจอันแสนจะผิดพลาดของประธานาธิบดีบุช ที่ยอมปล่อยให้รองประธานาธิบดีดิค เชนีย์เป่าหูในเรื่องที่เขาปั้นน้ำเป็นตัว!!! อย่างไรก็ตามหลังจากที่ประธานาธิบดีบุชและรองประธานาธิบดีเชนีย์สั่งบุกอิรักสามวันแรก จากการหยั่งเสียงของ “องค์กรพิว” ระบุว่าคนอเมริกันถึง 70% เห็นชอบด้วย         ทั้งนี้ความคิดเห็นของคนอเมริกันตอนแรกเริ่มของสงครามอิรักนั้น มีความใกล้เคียงกับเมื่อตอนเริ่มต้นสงครามเวียดนาม โดยกัลลัพโพลระบุว่า คนอเมริกันเห็นพ้องกับสงครามเวียดนามถึง 64% ดูๆไปแล้วเสมือนดั่งว่า คนอเมริกันมีอารมณ์ค่อนข้างจะไหวหวั่นในการสร้างสถานการณ์กุข่าวเต้าเรื่องของรัฐบาลแทบจะทุกยุคทุกสมัย!!!      แต่ทันทีที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาวภาพลักษณ์ของสหรัฐอเมริกาก็ได้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยนานาชาติต่างมีความเชื่อมั่นต่อประธานาธิบดีโอบามาสูงมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศเยอรมันมีเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าตัว และประเทศอังกฤษจากที่เคยเชื่อมั่นประธานาธิบดีบุชแค่เพียง16%  แต่กลับเพิ่มสูงขึ้นเป็น 86% ทันทีที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาว!!! ทั้งนี้ประธานาธิบดีโอบามายังได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงเรื่อยมาตลอดวาระทั้งสองสมัยหรือแปดปีในการบริหารประเทศของเขา แตกต่างจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งทันทีที่เขาเข้าสู่ทำเนียบขาวก็ได้สร้างความแตกแยกให้แก่สหรัฐฯเป็นอย่างสูง ซึ่งองค์กรพิวได้ออกมาสรุปว่า"สหรัฐฯเกิดการแตกแยกมากที่สุดในรอบหกสิบปีที่ผ่านมา" และจากการสำรวจขององค์กรพิวระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคมถึงวันที่ 12 สิงหาคม 2018 จากผลสำรวจผู้คน 26,112 คนจาก 25 ประเทศ ได้ออกมาระบุว่า ความเชื่อถือที่มีต่อประธานาธิบดีทรัมป์มีเพียง 27% และที่ไม่มั่นใจต่อประธานาธิบดีทรัมป์มีสูงถึง 70% จากการเปิดเผยครั้งล่าสุดขององค์กรพิว เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมนี้ก็ได้ระบุอีกว่า ขณะนี้สหรัฐอเมริกามีอิทธิพลต่อต่างประเทศเพียง 31% ขณะที่จีนมีเพิ่มมากขึ้นถึง 70% และเป็นที่น่าสนใจอีกว่า นานาประเทศต้องการให้สหรัฐอเมริกามีบทบาทในเวทีโลกเหนือจีน 63% ต่อ 19% ทั้งนี้นับตั้งแต่ประธานาธิบดีทรัมป์เข้าสู่ทำเนียบขาว เขาได้เรียกร้องให้นักการเมืองในพรรครีพับลิกันมีความจงรักภักดีต่อตน โดยข่มขู่ว่า หากนักการเมืองคนใดไม่ยอมก้มหัวซูฮกอยู่ในกรอบแล้วละก็ เขาจะใช้ทวิตเตอร์โจมตี จนมีผลทำให้นักการเมืองในค่ายพรรครีพับลิกันต่างหดหัวไม่กล้าที่จะตอบโต้ !!!       อีกทั้งประธานาธิบดีทรัมป์ใช้กลยุทธ์สร้างความหวาดกลัว แถมบางครั้งยังข่มขู่ประเทศพันธมิตรเกี่ยวกับสงครามเศรษฐกิจอีกด้วยดังเช่น กล่าวข่มขู่ประเทศเม็กซิโก แคนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมันโ ดยนางอังเกลา แมร์เกิล นายกรัฐมนตรีของเยอรมันนีถึงกับออกมาให้สัมภาษณ์ว่า "เธอไม่สนใจและไม่อยากแยแสกับประธานาธิบดีทรัมป์แต่อย่างใด" ทว่าเมื่อเร็วๆนี้เหล่าบรรดานักการเมืองค่ายพรรครีพับลิกันทนไม่ไหวต่อกรณีที่ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการจะถอนกำลังทหารออกจากซีเรีย โดยวุฒิสมาชิกมิช แม็คคอนเนลล์ ผู้นำของพรรครีพับลิกันในวุฒิสภาได้ออกโรงมาประกาศต่อต้านเท่ากับว่า ขณะนี้ผู้นำของพรรครีพับลิกันเริ่มมีความหน่ายแหนงต่อประธานาธิบดีทรัมป์อย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งวุฒิสมาชิก มิชท์ แม็คคอนเนลล์ ยังได้ออกมาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยอีกเช่นกันในเรื่องที่ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการจะประกาศมาตรการฉุกเฉิน หากสภาคองเกรสไม่ยอมอนุมัติในการสร้างกำแพงกั้นพรมแดนระหว่างสหรัฐอเมริกากับเม็กซิโก!!! ถือเป็นสัญญาณอันตรายลางร้ายของประธานาธิบดีทรัมป์ที่มีภายในพรรคและนอกเหนือไปจากนั้นแล้วยังมีข่าววงในลอดออกมาว่า "นักการเมืองในพรรครีพับลิกันกำลังวางแผนที่จะลงแข่งขันท้าทายต่อประธานาธิบดีทรัมป์ในการเลือกตั้งปี 2020" อีกทั้งขณะนี้คะแนนนิยมของ "ประธานสภาผู้แทนราษฎรแนนซี เพโลซี" ผู้ที่ออกมาประกาศตัวเป็นไม้เบื่อไม้เมาต่อประธานาธิบดีทรัมป์ กลับปรากฏว่า ได้รับคะแนนนิยมเหนือประธานาธิบดีทรัมป์ 42% ต่อ 40% อนึ่งผมขอให้ข้อคิดว่าการกล่าวสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ถ่ายทอดสดทั่วประเทศเมื่อเย็นวันอังคารนี้น่าจะเป็นการโฆษณาหาเสียงแบบฟรีๆเท่านั้นเอง กล่าวโดยสรุปทั้งนี้และทั้งนั้นจะเห็นได้อย่างเด่นชัดว่า ภาพลักษณ์ด้านความเชื่อมั่นของสหรัฐอเมริกาที่มีจากสายตาของนานาชาติในสมัยของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช นั้นไม่แตกต่างไปจากยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในขณะนี้เท่าใดนัก ซึ่งย่อมจะส่งผลเสียให้แก่สหรัฐอเมริกามากมายมหาศาล และเป็นการยากส์อย่างยิ่งที่สหรัฐฯจะกอบกู้เรียกความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาได้ดังเดิม ตราบใดก็ตามที่ยังมีประธานาธิบดีที่ชื่อว่า "โดนัลด์ ทรัมป์" นั่งอยู่ในตำแหน่งละครับ