ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 62 มีมติ 4 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อปี ส่วนอีก 2 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 2.00% ต่อปี ขณะที่กรรมการ 1 คนลาประชุมโดย กนง. มองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แม้ภาคการส่งออกสินค้าจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง ผลของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ขณะที่การท่องเที่ยวมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวตามรายได้ครัวเรือนทั้งในและนอกภาคเกษตรที่รับตัวดีขึ้น โดยที่ประชุม กนง.ให้ความกังวลกับเสถียรภาพการเงินที่มองว่ายังมีความเสี่ยงกับเศรษฐกิจในอนาคต หลายด้านเช่น ระดับหนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาส 2/2561 ที่อยู่ที่ 77.7% ต่อจีดีพี และเพิ่มขึ้นเป็น 77.8% ในไตรมาส 3/2561 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในไตรมาส 4 โดยมาจากการเร่งตัวขึ้นของสินเชื่อรถยนต์ สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ที่พุ่งขึ้นสูงมากในช่วงปลายปี อีกทั้งต้องติดตามสินเชื่อที่อยู่อาศัย การขยายสินทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ และการอนุมัติสินเชื่อให้กับธุรกิจขนาดใหญ่ที่ธนาคารพาณิชย์อาจจะประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ส่วนการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวตามการย้ายฐานการผลิตมายังไทย และโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ตามการเบิกจ่ายจริงและกรอบวงเงินงบประมาณทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน รวมถึงความล่าช้าในโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจบางแห่ง ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้รับแรงกดดันจากราคาพลังงานที่ลดลงและมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากความผันผวนของราคาพลังงานและอาหารสด สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทยังมีความผันผวนต่อเนื่อง ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พร้อมที่จะเข้าไปดูแล และติดตามอย่างใกล้ชิดหากพบการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติเกินควร ยอมรับว่า การที่ค่าเงินสหรัฐฯอ่อนค่าจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน รวมกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอ ทำให้ค่าเงินในสกุลเงินเกิดใหม่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น เงินบาทไทยตั้งแต่สิ้นปี 2561 จนถึงปัจจุบันแข็งค่า 4.1% ซึ่งอยู่ในระดับกลางๆ ไม่ได้เป็นเงินสกุลที่แข็งค่าที่สุดในโลก โดยแข็งค่าน้อยกว่าอินโดนีเซีย ที่ 4.3% ส่วนความผันผวนของค่าเงินบาท อยู่ที่ 4.3% ผันผวนน้อยกว่าสกุลเงินของญี่ปุ่น,เกาหลีใต้,จีน และอินโดนีเซีย ขณะที่นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.)ได้ออกมาระบุว่า กกร.ได้ประเมินทิศทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ว่าจะขยายตัวได้ในกรอบประมาณการเดิมที่ 4-4.3% จากปีที่แล้วที่คาดว่าจะเติบโต 4.1% ขณะที่ส่งออกขยายตัว 5-7% จากปีที่ผ่านมา ที่ขยายตัว 6.7% ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากปัจจัยสงครามการค้า โดยขณะนี้ ภาคเอกชนเห็นตรงกันว่า สิ่งที่น่ากังวลคือ อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท เมื่อเทียบกับเหรียญสหรัฐฯที่เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องหากเคลื่อนไหวหลุดไปจากระดับ 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ และพบว่าประเทศคู่แข่งทางการค้าในภูมิภาคอาเซียนยังอยู่ระดับเดิม กกร.จะขอไปหารือกับ ธปท.เพื่อหามาตรการดูแลเรื่องนี้เป็นการเร่งด่วน เนื่องจากผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมในกลุ่มสินค้าเกษตร และการค้าชายแดนจะได้รับผลกระทบมาก อยากให้มีการซื้อขายด้วยเงินบาทจะดีที่สุด ทั้งนี้ กกร.ได้หารือร่วมกันในกลุ่มสมาชิกในเรื่องบาทแข็งค่า และเห็นว่าหาก 6 เดือนแรกของปีนี้ หากเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการส่งออกของไทยในปีนี้ และหากนับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-1 ก.พ.62 พบว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้น 3.4% ถือว่าเป็นอัตราที่แข็งค่ามากสุดเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียน เป็นรองเพียงค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียที่แข็งค่าขึ้น 3.7% ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนอีกปัจจัยที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าคือ กนง.ควรชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลอดทั้งปีนี้ เพราะธนาคารกลางโลก(เฟด)ของสหรัฐฯได้ส่งสัญญาณที่ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว หากประเทศไทยขึ้นดอกเบี้ยอีกจะยิ่งกระทบกับภาคการผลิตมากขึ้น ทำให้เกิดการไหลเข้ามาของเงินทุนต่างชาติและจะส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือน มี.ค.62 ส.อ.ท.คาดหวังว่าจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลเพราะขณะนี้ประเทศไทยมีปัญหาการคอร์รัปชันมาตลอดทั้งอดีตและปัจจุบัน จึงอยากให้รัฐบาลมีมาตรการแก้ปัญหานี้ให้ได้ หากรัฐบาลสามารถแก้ไขได้จะเป็นประโยชน์ภาพรวม แม้ว่าทุกพรรคการเมืองมีนโยบายที่ดีหมด แต่ขอแค่ทำตามนโยบายให้ได้ โดยเฉพาะลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน ด้าน น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) กล่าวยอมรับว่ามีความเป็นห่วงว่าการส่งออกในปีนี้อาจเติบโตได้ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ที่ 5% เนื่องจากมีความเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญคือ บรรยากาศการค้าโลกบนความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและจีนที่จะมีการเจรจากันอีกครั้งในวันที่ 27-28 ก.พ.62 รวมถึงการเจรจาระหว่างสหภาพยุโรปและอังกฤษในกรณีของ Brexit และเหตุจลาจลในภาคพื้นยุโรป นอกจากนั้นยังมีความผันผวนของค่าเงิน และราคาน้ำมันดิบ โดยเฉพาะค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ส่วนราคาน้ำมันมีความผันผวนจากมาตรการคว่ำบาตรประเทศผูค้าน้ำมัน และทิศทางการจัดการของ OPEC ทำให้ผู้ส่งออกมีความเสี่ยงและต้นทุนที่ต้องจัดการมากขึ้น ขณะที่รายได้ในรูปของเงินบาทลดลง โดย สรท.ได้นัดหมายเข้าพบนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท.ในวันที่ 4 มี.ค.62 เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ต่างๆหลังค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้นมาอย่างมาก ทั้งนี้ ธปท.ต้องกำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่ให้แข็งค่าสูงกว่าคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญ ผู้ประกอบการส่งออกโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ต้องบริหารจัดการค่าเงินไม่ให้มีความผันผวนขึ้นลงมากเกินไป จนกระทบถึงต้นทุนการส่งออกโดยการพิจารณาใช้เครื่องมือทางการเงินที่ ธปท.ได้ออกมาตรการหรือเครื่องมือประกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนเช่น Fx-Forward /Option, FCD,Local Currency เป็นต้น ธปท.ควรดูแลเรื่องต้นทุนของ Fx-Forward ให้มีการกำหนดราคากลาง รวมถึงการเจรจาเพิ่มประเทศที่สามารถใช้ Local Currency ได้ งานนี้การที่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเป็นหน้าที่ของ ธปท.ต้องดูแล การชี้แจงและการดำเนินการจะต้องทำให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบันด้วย วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 สาเหตุมาจากนโนยบายการเงิน ทั้งนี้การดำเนินนโยบายการเงินในปัจจุบันต้องดูให้ดีไม่เป็นปัญหากับเศรษฐกิจเหมือนใน อดีตขึ้นอีก ทั้งนี้ ธปท.ไม่ควรปล่อยให้ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่ามากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เพราะทำให้กระทบการส่งออกและขีดความสามารถในการแข่งขัน ควรเข้าไปแทรกแซงให้อยู่ ในระดับที่เหมาะสมที่ต้องชั่งน้ำหนักผล กระทบต่อการลงทุนและการส่งออก สำหรับ กนง.มีกำหนดการประชุมรอบถัดไปในวันที่ 20 มี.ค.62 โดยผลการลงมติให้คงดอกเบี้ย 1.75% ดูเหมือนมีเหตุผลมากขึ้นที่สนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยด้วยการกล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังคงต่ำแม้ว่าได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา โดย กนง.ยังคงย้ำถึงความเสี่ยงจากการปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับต่ำเป็นเวลานานเกินไป ดังนั้นน่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ก่อนที่จะหยุดการปรับดอกเบี้ยตลอดปีนี้