การเลือกตั้งครั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคมนี้คือช่วงเวลาที่นักการเมืองทุกคน จากทุกพรรคต่างเฝ้ารอคอย ด้วยใจระทึกกันมาโดยตลอด ว่าจะมีขึ้นได้จริงหรือไม่ หลังจากที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)เลื่อนกันมาหลายครั้ง จนทำให้นักเลือกตั้ง แทบถอดใจ แต่แล้วเมื่อทุกอย่างมีความชัดเจน ว่าวันหย่อนบัตรคือ24 มีนาคม เป็นการแน่นอน จึงทำให้เสียงปี่เสียงกลองทางการเมืองต่างโหมประโคมกันอย่างคึกคัก ทว่าภายใต้อาการคึกคักและการเฝ้ารอคอยด้วยใจจดจ่อ ของนักการเมืองไม่ว่าจะเป็นพรรคเก่า ไปจนถึงพรรคใหม่ที่หวังแจ้งเกิดในสนามครั้งนี้ กลับต้องเผชิญกับอุปสรรค และปัญหาหนักหนาสาหัสอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น “ศึกใน” ที่ผุดขึ้นมาเป็นแรงกระเพื่อมด้วยกันหลายพรรค ทั้งประชาธิปัตย์ ที่ประกาศชู “อภิสิทิธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งพรรคเพื่อไทย ที่วันนี้ชัดเจนแล้วว่า ชื่อของ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เลือกตั้ง ของพรรค คือตัวแทนของเพื่อไทย รวมถึง พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกลไกสำคัญที่จะมาทำหน้าที่เป็นเสมือน “นั่งร้าน” ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ และคสช.ได้กลับเข้าสู่ตำแหน่งนายกฯเป็นรอบสอง เพื่อสืบทอดอำนาจ นับจากวันรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ให้ยาวนานออกไปให้มากที่สุด ในความเป็นจริงแล้ว 3 พรรคใหญ่ต่างเผชิญกับปัญหาภายในพรรค ที่ต้องบอกว่าวุ่นวาย และหนักหนาแทบไม่ต่างกัน ! ภาพสะท้อนที่ถูกจับตา และหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์ ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละพรรค ได้ถูกมองผ่านจาก รายชื่อส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ของแต่ละพรรคนั่นเอง ว่าใครถูกจัดวางให้อยู่ตรงไหน และใครมีโอกาสที่จะ “รอดตาย” ได้มากกว่า ประเด็นที่กลายเป็นเรื่องฮือฮา ชนิดที่เรียกว่าเป็นเซอร์ไพรซ์สำหรับพรรคเพื่อไทย มากที่สุดคือการที่ไม่มีชื่อ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อยู่ในบัญชีปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคเพื่อไทย ที่ส่งส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ทั้งสิ้น 97 คน ไม่ครบ150 คน ขณะที่ส่งส.ส.เขต 250 เขต ไม่ครบ 350 เขต ในกรณีของชัชชาติ กลายเป็นประเด็นที่ตอกย้ำให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวภายในพรรคเพื่อไทยด้วยกันหลายมิติ ทั้งในแง่ที่เป็นการตอกย้ำสมมติฐานที่ว่า คุณหญิงสุดารัตน์ เข้ามามีบทบาทจนโดดเด่นเหนือทุกคนในพรรค โดยเฉพาะชัชชาติ ที่ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี หลังจากที่มีข่าวว่าเขาคือ1ใน3แคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทย แต่ที่สุดแล้ว ชัชชาติ กลับกลายเป็นผู้ที่แบกรับความสุ่มเสี่ยง เสียเอง เพราะการที่ไม่มีชื่ออยู่ในปาร์ตี้ลิสต์ย่อมทำให้เขาเองขาลอย หมดโอกาสที่จะเดินเข้าสู่สภาฯ หากพรรคเพื่อไทยไม่สามารถเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และถึงแม้จะเกิดการพลิกล็อคทางการเมืองชนิดถล่มทลาย ก็ใช่ว่า ชัชชาติ จะถูกเลือกให้เป็นนายกฯ แซงหน้าคุณหญิงสุดารัตน์ แต่อย่างใด แน่นอนว่าแม้ชัชชาติ จะชี้แจงกับสื่อว่า เขาเองไม่ได้รู้สึกน้อยใจ และยังมีทางเดินต่อไป ในการเมืองสนามเล็ก อย่างศึกเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในวันข้างหน้า ก็ตาม ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ เองซึ่งเป็นพรรคที่ถูกจับตามองมากที่สุด ก็ยังต้องเจอกับปัญหา “ปลาคนละน้ำ” ด้วยความที่ภายในพรรคมีด้วยกันหลายก๊ก หลายกลุ่มอำนาจ ที่ถูกดึงมารวมกันเพื่อทำภารกิจ ผลักดัน พล.อ.ประยุทธ์ ให้กลับคืนสู่อำนาจรอบสอง แต่เอาเข้าจริง กลับกลายเป็นว่า เมื่อในถ้ำพลังประชารัฐ มี “เสือ” อาศัยอยู่ด้วยกันหลายตัว จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าจะเกิดปัญหาขัดแย้งกันเอง จนนำมาซึ่งการแย่งที่นั่งในปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมกันมาพักใหญ่ การตอบรับตกลงของพล.อ.ประยุทธ์ ในการเป็นแคนดิเดตนายกฯให้กับพรรคพลังประชารัฐที่ยืดเยื้อ จนหวุดหวิดจวนเจียนเอาวันท้ายๆของการเปิดรับสมัคร 8กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากความไม่พอใจของพล.อ.ประยุทธ์ เมื่อได้เห็นรายชื่อของผู้ที่อยู่ในปาร์ตี้ลิสต์ แม้ “อุตตม สาวนายน” หัวหน้าพรรค จะออกปฏิเสธกับสื่อว่าไม่เป็นความจริงก็ตาม แต่ดูเหมือนว่ากระแสข่าวที่ว่านั้นไม่ได้ลดน้อยลงไป โดยเฉพาะการที่ใส่ชื่อ อดีตแกนนำกปปส. ทั้ง ณัฐพล ทีปสุวรรณ และ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ที่เพิ่งย้ายมาสังกัดพลังประชารัฐ เอาไว้อันดับต้นๆเพื่อหนีตาย ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับ “แกนนำกลุ่มสามมิตร” ไม่น้อย ในฐานะ “หัวหมู่ทะลวงฟัน” ออกโรง ออกหน้า ตั้งแต่วันเลือกตั้งยังไม่ชัดเจน แต่กลับถูกจับให้ไปอยู่ในอันดับที่ต้องต่อคิวแกนนำกปปส. อย่างไรก็ดี ปัญหาการจัดคนลงปาร์ตี้ลิสต์นั้น กลายเป็นความขัดแย้งที่เรื้อรังกันมาพักใหญ่ และไม่เพียงแต่จะมีสัญญาณจากพล.อ.ประยุทธ์ เท่านั้น แต่ยังพบว่า แม้แต่กลุ่มบ้านริมน้ำ ของ “สุชาติ ตันเจริญ” เองก็เฝ้ามองอย่างไม่สบอารมณ์นัก โดยเฉพาะการที่อดีต ส.ส.ในหลายจังหวัดที่มาร่วมชายคาพลังประชารัฐ กลับมาแย่งกันลงปาร์ตี้ลิสต์ แทนการลงไปสู้ในสนามเลือกตั้ง สำหรับพรรคไทยรักษาชาติเอง ซึ่งเป็น “พรรคสาขา” ของพรรคเพื่อไทย ก็กำลังเจอกับมรสุม ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงวันที่เคาะรายชื่อปาร์ตี้ลิสต์ เพราะปรากฎว่าบรรดา “มือทำงาน” กลับต้องอยู่ท้ายแถว แต่ “เด็กนายใหญ่-นายหญิง” ที่ไม่มีฐานคะแนนเสียง กลับได้ไปอยู่อันดับต้นๆซึ่งมีแต่จะรอดตาย ได้เดินเข้าสภาฯกันฉลุย สถานการณ์ความวุ่นวายภายในพรรคไทยรักษาชาตินั้นส่อเค้ามาตั้งแต่เมื่อครั้งที่ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ สั่งให้แกนนำในพรรคเพื่อไทยทยอยกันลาออก แล้วย้ายไปอยู่บ้านหลังใหม่ที่ไทยรักษาชาติ แต่ในเวลานั้น หลายคนไม่มีใครต้องการทำตามคำสั่ง “นายใหญ่” เพราะรู้ดีว่า “ความขลัง” ระหว่างยี่ห้อ เพื่อไทยกับไทยรักษาชาตินั้นแตกต่างกัน แต่เมื่อเจอกับไฟท์บังคับ จึงต้องจำใจหอบผ้าหอบผ่อน ออกจากพรรคเพื่อไทย แล้วมาอยู่ที่ไทยรักษาชาติ แต่กลับต้องเจอปัญหา “เด็กเส้น” เต็มพรรคจนแทบไม่มีที่ว่าง สำหรับ “คนทำงาน” จนวันนี้มือทำงานในพรรคไม่น้อย จึงอยู่อย่างถอดใจ ! ฤดูกาลเลือกตั้งมาถึงแล้ว กำหนดนัดหมายหย่อนบัตรเลือกตั้งกันในวันที่24 มีนาคมนี้ แต่ดูเหมือนว่าพรรคการเมืองใหญ่ๆ ที่จะต้องทำหน้าที่เป็นตัวหลักในฐานะจัดตั้งรัฐบาล กำลังอยู่ในสภาวะ รบไป ละล้า ละลัง ไปในคราวเดียวกัน เสียอย่างนั้น !