รางวัลเกียรติยศ เจตนาดี อวอร์ดส 2561 (JETTANADEE AWARDS 2018) สาขาผู้บริหารรัฐวิสาหกิจดีเด่นแห่งปี และรางวัลธรรมาภิบาล “สิงห์ทอง” สาขาผู้บริหารและนักพัฒนาองค์กรดีเด่นแห่งปี 2562 ถือเป็นเครื่องการันตีผลงาน ของ “ดร.ธัชพล กาญจนกูล” หลังจากเข้านั่งในตำแหน่งผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยน้อมนำหลักศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาเป็นหลักในการทำงาน ประกอบกับ เป็นคนชอบอ่านหนังสือ ชอบเล่นดนตรี และเล่นกีฬา ซึ่งช่วยให้ผ่อนคลาย พัฒนาความคิด ค้นหาไอเดียใหม่ๆ ดังเช่น ผลสำเร็จการดำเนินงานของการเคหะแห่งชาติ ในปีงบประมาณ 2561 ที่ผ่านมา สามารถสร้างผลกำไรสุทธิ 1,713 ล้านบาท สูงขึ้นกว่าปีงบประมาณ 2560 ที่ทำผลกำไร 1,143 ล้านบาท คิดเป็น 49.86 % และย้อนหลังไปในปีงบประมาณ 2559 ทำกำไรสุทธิได้เพียง 572 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 มีกำไรสูงขึ้น 100 % อย่างไรก็ตาม ปีงบประมาณ 2562 ตั้งเป้ากำไรสุทธิไว้ 1,374 ล้านบาท แต่แค่ผลประกอบการในไตรมาสแรก (เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2561) ก็ทำกำไรสุทธิเบื้องต้น 328 ล้านบาท สำหรับทิศทางการดำเนินงาน ปี 2562 ดร.ธัชพล กาญจนกูล ได้ประกาศให้เป็น “ปีแห่งคุณภาพและนวัตกรรม (Year of Quality & Innovation)” โดยเน้นคุณภาพ (Quality) การดำเนินงานในด้านต่างๆ ทั้งด้านความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคีเครือข่าย ด้านการก่อสร้าง ด้านการบริหารทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่องค์กร และด้านบริการ รวมถึงการนำนวัตกรรม (Innovation) ใหม่ๆ มาใช้ในการก่อสร้างที่อยู่อาศัย ทั้งด้านการออกแบบที่อยู่อาศัย ด้านการก่อสร้าง ด้านการตลาด และด้านการเงิน ภายใต้การขับเคลื่อน 5 Re ได้แก่ 1.Re-Corporate การปรับโครงสร้างองค์กร สภาพสิ่งแวดล้อม การพัฒนาระบบงาน และคน โดยมุ่งเน้นลูกค้าเป็นสำคัญ 2.Re-Brand การสร้างภาพลักษณ์องค์กร 3.Re-Assests การบริหารสินทรัพย์และรายได้ 4.Re-Liability การบริหารหนี้ และ5.Re-Equity การลงทุน ขณะที่แนวทางการขับเคลื่อนที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ มี 5 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่ เพื่อช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง 10,246 หน่วย โครงการบ้านพักข้าราชการ (บ้านหลวง) จัดสร้างที่อยู่อาศัยในรูปแบบรัฐสวัสดิการ 6,055 หน่วย โครงการติดตาม/ประเมินผลสัมฤทธิ์และส่งเสริมสมรรถนะให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้ “โครงการจัดทำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยและแผนป้องกัน/แก้ไขปัญหาชุมชนแออัด” เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการวางแผนพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชนและเมือง ตามพระราชบัญญัติกําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 โดยมีกลุ่มพื้นที่เป้าหมาย 19 กลุ่ม 73 พื้นที่ โครงการเคหะประชารัฐร่วมทุน เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมลงทุนในการพัฒนาที่อยู่อาศัยกับการเคหะแห่งชาติ 3 รูปแบบ ได้แก่ โครงการร่วมลงทุนกับเอกชน (Joint Investment) โครงการร่วมดำเนินกิจการระหว่างภาครัฐและเอกชน (Joint Operation) โครงการร่วมสนับสนุนภาคเอกชน (Joint Support) และโครงการบ้านล้านหลัง โดยพัฒนาบ้านโครงเหล็ก (Smart Home) ให้มีการออกแบบ Universal Design และเป็นบ้านประหยัดพลังงาน เพิ่มทางเลือกให้ผู้มีรายได้น้อยซื้อเป็นเจ้าของ “การเคหะแห่งชาติ มีความมุ่งมั่น ที่จะพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ ของรัฐได้เป็นอย่างดี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม”ดร.ธัชพล กาญจนกูล กล่าวทิ้งท้าย