สทนช.เดินหน้าจัดประชุมคณะกรรมการลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันตก ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์เร่งขับเคลื่อนการบริหารทรัพยากรน้ำของประเทศในระดับพื้นที่ลุ่มน้ำ รับการบังคับใช้พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 วันนี้ (7 ก.พ.62) ดร.พัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันตก ครั้งที่1/2562 โดยมีนายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เจ้าหน้าที่สทนช. คณะกรรมการลุ่มน้ำ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมช่องกระจก ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ภายหลังจากที่พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2561และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2562 สทนช.จึงเร่งเดินหน้าการจัดประชุมคณะกรรมการลุ่มน้ำในระดับพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้ปฏิบัติของหน่วยงานระดับท้องถิ่น เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ การบังคับใช้กฎหมาย เพื่อประโยชน์ในการร่วมบูรณาการบริหารทรัพยากรน้ำของประเทศอย่างเป็นระบบโดย “คณะกรรมการลุ่มน้ำ”จะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับพื้นที่ ประกอบด้วย กรรมการลุ่มน้ำโดยตำแหน่ง ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ และผู้ทรงคุณวุฒิ มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ จัดทำแผนแม่บทการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟูและการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(กนช.) เพื่อให้ความเห็นชอบ จัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง และแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม เสนอ กนช. เพื่อให้ความเห็นชอบ พิจารณาปริมาณการใช้น้ำ การจัดสรรน้ำ และจัดลำดับความสำคัญในการใช้น้ำในเขตลุ่มน้ำ และควบคุมการใช้น้ำให้เป็นไปตามกรอบ หลักเกณฑ์ และแนวทางที่ กนช. กำหนด ให้ความเห็นชอบการอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สอง เป็นต้น ทั้งนี้ บทบาทของ สทนช. ภายใต้ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 จะทำหน้าที่เป็นเสนาธิการน้ำและเป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) โดยมีหน้าที่และอำนาจสำคัญ ในการจัดทำผังน้ำเชื่อมโยงการดำเนินงานกับคณะกรรมการลุ่มน้ำ หน่วยงานของรัฐ /องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และภาคส่วนต่างๆ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติฯ อำนวยการและกำกับดูแลโครงการสำคัญระดับชาติหรือโครงการเร่งด่วน ตลอดจนบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยการแก้ไขปัญหาภาวะวิกฤติน้ำ โดยการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ ที่มีนายกรัฐมนตรีบัญชาการและจะดำเนินการจัดตั้งสทนช.ภาค เพื่อทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการลุ่มน้ำ และดำเนินการให้มีการจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและจัดทำกฎหมายลำดับรองตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำฯ ให้แล้วเสร็จ ตามลำดับต่อไป อย่างไรก็ สทนช. ได้ดำเนินการศึกษาทบทวนการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำที่เหมาะสมสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและผลกระทบจากการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำ (ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ในมาตรา 25 ที่ระบุว่า เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ให้มีการกำหนดลุ่มน้ำโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงสภาพอุทกวิทยา สภาพภูมิศาสตร์ระบบนิเวศ การตั้งถิ่นฐาน การผังเมืองผังน้ำ และเขตการปกครองประกอบด้วย) และภายหลังจากการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศ มีผลสรุปให้แบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำใหม่จากเดิม 25 ลุ่มน้ำหลัก 254 ลุ่มน้ำสาขา ปรับเป็น 22 ลุ่มน้ำหลัก 353 ลุ่มน้ำสาขาซึ่งในการประชุม กนช. ครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่19 ธันวาคม 2561 ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ และมอบหมาย สทนช. ดำเนินการจัดทำแผนที่แสดงแนวเขตลุ่มน้ำ เพื่อออกเป็นพระราชกฤษฎีกาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป สำหรับพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันตกนั้น จากเดิมมี 5 ลุ่มน้ำสาขา 3 จังหวัด 12 อำเภอ มีพื้นที่ 7,133 ตารางกิโลเมตร ได้มีการแบ่งลุ่มน้ำใหม่ให้เหมาะสมสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบองค์รวม โดยได้รวมลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลประจวบคีรีขันธ์และลุ่มน้ำเพชรบุรีเข้าด้วยกัน ในชื่อใหม่ว่า “ลุ่มน้ำชายฝั่งอ่าวไทยตะวันตก” เป็น 1 ลุ่มน้ำหลัก ปรับใหม่เป็น 9 ลุ่มน้ำสาขา มีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขต 5 จังหวัด 20 อำเภอ ได้แก่ ราชบุรี สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 13,370 ตารางกิโลเมตร