กรมชลฯ สุดเจ๋ง!! คว้ารางวัล IFIA สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมยอดเยี่ยมนานาชาติ จากผลงาน โทรมาตรสำหรับการชลประทาน แบบลอยน้ำได้ ส่งข้อมูลผ่านแอฟ เข้าใกล้เป้าหมายเป็นองค์กรอัจฉริยะด้านน้ำ วันนี้ (6 ก.พ.62) นายมนัส กำเนิดมณี รองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายบริหาร เป็นผู้แทนกรมชลประทานขึ้นรับรางวัล IFIA Spacial Award for the Best Invention จากสหพันธ์สมาคมนักประดิษฐ์นานาชาติ-International Federation of Inventors' Association (IFIA) โดยมี Dr. Alireza Rastegar ประธานสหพันธ์สมาคมนักประดิษฐ์นานาชาติ เป็นผู้มอบรางวัลในงานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ภายหลังเข้าร่วมจัดแสดงสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมในงาน "วันนักประดิษฐ์" ประจำปี 2562 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ นายมนัส กำเนิดมณี รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า รางวัลที่กรมชลประทาน ได้รับนับว่าเป็นความภาคภูมิใจของชาวกรมชลประทานทุกคน เพราะทีมพัฒนาต้องใช้ความคิด ความพยายามในการพัฒนาจนเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้มีความสะดวกมากขึ้น แต่ใช้งบประมาณน้อยลง รางวัลนี้ทำให้กรมชลประทาน เข้าใกล้เป้าหมายขององค์กรในการเป็นองค์กรอัจฉริยะ ที่มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำต่อไป ด้าน นายประทีป ภักดีรอด ผู้อำนวยการสำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา กล่าวว่า สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลมาจากผลงานที่มีชื่อว่า "โทรมาตรสำหรับการชลประทาน" สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อการเกษตร ที่สำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา กรมชลประทาน ได้พัฒนาต่อยอดจากผลงานนวัตกรรมเครื่องมือสำรวจ ชลประทาน ภายหลังได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์ ประเภทสิ่งประดิษฐ์เพื่อการใช้งานในอนาคต ในวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2559 จนเป็นระบบโทรมาตรที่สามารถแสดงข้อมูลต่างๆ แบบ Real Time ทั้งข้อมูล ช่วงเวลาที่วัด ระดับผิวน้ำ ปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำ ปริมาณน้ำฝน ความชื้น และอุณหภูมิ เป็นต้น โดยการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารแบบ NB-IOT (Narrow Band Internet of Things) ที่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ทางแอปพลิเคชัน RID Telemeter ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้มากต่างจากระบบเดิมที่ใช้การสื่อสารแบบ 2G และ 3G นอกจากนี้โทรมาตรแบบใหม่ถูกพัฒนาให้สามารถลอยน้ำได้ จึงไม่จำเป็นต้องสร้างอาคารเพื่อติดตั้งโทรมาตรแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองใช้งานที่อ่างเก็บน้ำทับเสลา อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นฯ และบึงบอระเพ็ด เมื่อพัฒนาแล้วเสร็จจะทำให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น