สทนช. เดินสายแจงคณะกรรมการลุ่มน้ำวัง ดึงภาคส่วนร่วมถกแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำงบปี’ 63 ภายใต้กฎหมายน้ำ และแผนแม่บทน้ำ 20 ปี ก่อนเสนอ กนช.เห็นชอบ พร้อมแจงปฏิทินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในฤดูแล้งและฤดูฝน หวังย้ำเดินหน้ามาตรการเชิงป้องกันในลุ่มน้ำวัง วันนี้ (6 ก.พ.62) นายประดับ กลัดเข็มเพชร ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการลุ่มน้ำวัง ครั้งที่ 1/2562 โดยมีนายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธาน พร้อมด้วยตัวแทนจาก สทนช. คณะกรรมการลุ่มน้ำวังและผู้ช่วยเลขานุการ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ผู้สังเกตการณ์ ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมเวียงละกอน ชั้น 4 จ.ลำปาง นายประดับ กลัดเข็มเพชร ผู้ช่วยเลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการลุ่มน้ำวัง และการประชุมเชิงปฏิบัติการลุ่มน้ำวัง ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 8 ก.พ.นี้ เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะรายละเอียดแนวทางและหลักเกณฑ์และกระบวนการ รวมทั้งปัญหาอุปสรรคที่ผ่านมา ของคณะกรรมการลุ่มน้ำวังที่มีต่อแผนปฏิบัติการสำหรับรองรับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี และการจัดทำงบประมาณรายจ่ายแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ให้เกิดประสิทธิภาพในพื้นที่มากที่สุด โดย สทนช.จะประชุมเชิงปฏิบัติการทุกลุ่มน้ำให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อเสนอแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาเห็นชอบตามลำดับ “จากผลการศึกษาและวิเคราะห์การแบ่งลุ่มน้ำใหม่ของลุ่มน้ำวัง พื้นที่ 10,794 ตารางกิโลเมตร ยังคงเป็น 1 ลุ่มน้ำหลัก ขณะที่ลุ่มน้ำสาขาแบ่งใหม่เป็น 11 ลุ่มน้ำสาขา จากเดิมมี 7 ลุ่มน้ำสาขา ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด 15 อำเภอ ปริมาณฝนเฉลี่ย 1,165 มม./ปี น้ำท่าเฉลี่ย 1,617 ล้าน ลบ.ม./ปี ความต้องการใช้น้ำทั้งสิ้น 763 ล้าน ลบ.ม./ปี โดยในแต่ละปีพบว่า ครัวเรือนมีน้ำอุปโภคบริโภคพอเพียงตลอดปี ร้อยละ 50.80 ขณะที่พื้นที่เกษตรขาดแคลนน้ำร้อยละ 3.66 ซึ่งปัจจุบันแหล่งน้ำลุ่มน้ำวังที่มีการพัฒนาแล้วจำนวน 395 แห่ง ปริมาณน้ำ 454 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ชลประทาน 3 แสนไร่เศษ ดังนั้น ยังมีปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำ ปริมาณเก็บกักไม่เพียงพอ ที่คณะกรรมการล่มน้ำต้องร่วมกันกำหนดแผนงานโครงการ แผนปฏิบัติการเพื่อเสนองบประมาณดำเนินการตามแผนพัฒนาแหล่งน้ำในระยะต่อไปด้วย”นายประดับ กล่าว สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ (Area Based) และแผนงานโครงการเพื่อแก้ไขปัญหา (Area based) แผนงานที่มีผลสัมฤทธิ์สูงที่ดำเนินการในปี 2562-2565 ในพื้นที่ลุ่มน้ำวังรวม 12 พื้นที่ รวม 8.651 ล้านไร่ 10 พื้นที่ปัญหา 6.664 ล้านไร่ พื้นที่พัฒนา 1.987 ล้านไร่ โดยโครงการสำคัญที่มีศักยภาพดำเนินการได้ในปี 62 ภาคเหนือ ตัวอย่างโครงการสำคัญ เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาว จ.แม่ฮ่องสอน ฝายน้ำยาว จ.น่าน แก้มลิงพร้อมอาคารประกอบข้างคลองส่งน้ำสายใหญ่ โครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษาแม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเมื่อโครงการต่างๆ แล้วเสร็จส่งผลให้ความจุเพิ่มขึ้น 4.66 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 15,963 ไร่ ขณะเดียวกัน สทนช.ยังได้ใช้โอกาสนี้ชี้แจง สร้างการรับรู้และทำความเข้าใจกับคณะกรรมการลุ่มน้ำวังเกี่ยวกับพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ. 2561 การแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำวังใหม่ตามมติ กนช. และคุณลักษณะของลุ่มน้ำวังในทุกมิติ แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) และผลงานตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2557-2561 ที่ผ่านมาของลุ่มน้ำวัง การแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ (Area Based) และแผนงานโครงการเพื่อแก้ไขปัญหา (Area based) แผนงานปี 2562-2565 รวมถึงปฏิทินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในฤดูแล้งและฤดูฝน เพื่อหารือมาตรการเตรียมการในระดับลุ่มน้ำวังในเชิงป้องกันต่อไป