กลุ่มทรู จับมือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปั้น “TRUELAB@CHULAENGINEERING: 5G & INNOVATIVE SOLUTION CENTER” ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อเป็นพื้นที่ศูนย์กลางในการพัฒนานวัตกรรมและสร้างสรรค์เทคโนโลยี 5G ตลอดจนโซลูชั่นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมหนุนทุนวิจัยแก่นิสิตตั้งแต่ระดับปริญญาตรีไปจนถึงปริญญาเอก เพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศในการเข้าสู่ยุค 5G นายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า กลุ่มทรู จับมือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้าง “TrueLab@ChulaEngineering: 5G & Innovative Solution Center” ที่อาคาร 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พื้นที่กว่า 600 ตร.ม.ให้เป็นพื้นที่ศูนย์กลางเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยเทคโนโลยี 5G ที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทั้งด้านการศึกษา การแพทย์ การขนส่ง ความปลอดภัย รวมถึงการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ตลอดจนเป็นพื้นที่จัดแสดงผลงาน Use case/Showcase นอกจากนี้ TrueLab@ChulaEngineering: 5G & Innovative Solution Center” ยังเป็นพื้นที่ในการคิดค้น (Innovative Idea) แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ฝึกอบรม และถ่ายทอดประสบการณ์ต่างๆ ในรูปแบบของ Open Innovation ซึ่งกลุ่มทรูจะสนับสนุนทั้งทางด้านเทคโนโลยี อุปกรณ์เครื่องมือ และความเชี่ยวชาญของบุคลากร รวมทั้งการสนับสนุนทุนวิจัยให้แก่นักวิจัย และนักศึกษาอีกด้วย “ความร่วมมือในครั้งนี้ เกิดขึ้นตามแนวทางของกสทช. ที่มุ่งขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล โดยเราตั้งใจให้ “TrueLab@Chula Engineering: 5G & Innovative Solution Center” เป็นพื้นที่หลักในการทดสอบและวิจัยเทคโนโลยี 5G ตลอดจนพัฒนาและสร้างสรรค์รูปแบบการใช้งานต่างๆ (Use Case) โดยจะเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา หน่วยงาน และองค์กรธุรกิจต่างๆ ที่สนใจเข้าใช้งานได้ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ของประเทศ และเอื้อประโยชน์ต่อภาคการศึกษาให้ได้เรียนรู้ และสร้างนวัตกร เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติ” นายวิเชาวน์ กล่าว รศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความร่วมมือกับกลุ่มทรูครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญที่ภาคการศึกษาไทยจะได้ทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด ซึ่งรวมถึงการเปิดพื้นที่แห่งการพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมและโซลูชั่นที่ TrueLab @ChulaEngineering: 5G & Innovative Solution Center ตลอดจนการให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคณาจารย์ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงนิสิตนักศึกษาให้ได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง สามารถทดสอบและทดลองโซลูชั่นหรือ Use Case ต่างๆ ด้วยตัวเอง รวมทั้งจะเป็นการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอีกด้วย ด้าน น.พ. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า สำหรับการลงทุนจัดตั้ง True Lab นี้ เชื่อว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี 5G ของประเทศไทยมีความรุดหน้าอย่างรวดเร็วและนำพาให้ไทยเข้าสู่ 5G ได้ตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้คือภายในปี 2563 นี้ โดยกสทช.มีความตั้งใจที่จะช่วยผลักดันเอกชนให้เกิดบริการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และที่สำคัญคนไทยได้ทำความรู้จักกับเทคโนโลยี 5G ได้รับประโยชน์จากการประยุกต์ใช้งานต่างๆ อย่างทั่วถึง