เกษตรกรมือใหม่ปลูกข้าวโพดหลังนาไม่หวั่น แม้เพิ่งเริ่มต้นเพาะปลูก หลังปรับพื้นที่นาข้าวมาเป็นพืชชนิดอื่น มั่นใจหน่วยงานภาครัฐและเอกชนพร้อมดูแลให้โครงการราบรื่นและสำเร็จ วันนี้ (31 ม.ค.62) นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้สนองนโยบายรัฐบาล ดำเนินงานโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ร่วมกับหน่วยงาน 5 เสือภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และหน่วยงานภาคเอกชน ได้แก่ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย ส่งผลให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวรอบ 2 ไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ตลาดต้องการ ปรับสมดุลการผลิตข้าวให้เหมาะสมตามกลไกตลาด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชใช้น้ำน้อย จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เหมาะสม สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย สร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การดำเนินการตามโครงการฯ กรมส่งเสริมการเกษตรได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั้ง 37 จังหวัด ติดตามการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด พร้อมให้ความรู้ด้านวิชาการแก่เกษตรกรก่อนการเพาะปลูก สร้างความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้การปลูกข้าวโพดตามโครงการฯ เป็นไปอย่างเหมาะสมตามสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ลักษณะวิถีชีวิตในแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างกันตั้งแต่การเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสม การเตรียมดิน การดูแลการเก็บเกี่ยวที่ถูกวิธี ตลอดจนการหาตลาดและแหล่งรับซื้อที่เหมาะสม ใกล้กับแหล่งเพาะปลูกมากที่สุด ด้าน นายทรงพันธ์ จันทร์สว่าง เกษตรจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จังหวัดขอนแก่น เข้าร่วมโครงการ 18 อำเภอ เกษตรกร จำนวน 911 ราย รวมพื้นที่ 5,434 ไร่ สำหรับที่อำเภอบ้านฝาง เกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกข้าว อ้อย และข้าวโพดข้าวเหนียว เป็นหลักแต่เมื่อมีโครงการฯ นี้เข้ามา เกษตรกรบางรายมีความประสงค์ที่จะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากมีมาตรการจูงใจที่น่าสนใจ จึงได้แบ่งพื้นที่ปลูกข้าวโพดฝักสดส่วนหนึ่ง เพื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งสำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานเกษตรอำเภอได้ให้ข้อมูลการเพาะปลูก เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพทั้ง 2 ชนิด ตั้งแต่การวางแผนการปลูก เช่น แปลงปลูกควรมีระยะห่างจากกันอย่างน้อย 200 เมตร เพื่อป้องกันละอองเกสรปลิวถึงกัน หรือให้ปลูกเหลื่อมระยะเวลาระหว่างกันอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ ไปจนถึงการป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืช โดยชีววิธี เช่น การปล่อยแตนเบียน แมลงหางหนีบ ให้ธรรมชาติดูแลกันเอง เป็นต้น ในปัจจุบันเกษตรกรหลายรายในพื้นที่ได้ดำเนินการตามคำแนะนำ ทำให้สามารถผลิตข้าวโพดได้ทั้ง 2 ชนิด ในพื้นที่ใกล้เคียง อย่างไม่เกิดปัญหา จากการวางแผนอย่างเป็นระบบ ซึ่งเจ้าหน้าที่นักส่งเสริมการเกษตรในทุกพื้นที่พร้อมให้ข้อมูล คำแนะนำ เพื่อให้เกษตรกรทำการเกษตรอย่างถูกวิธี ตามข้อกำชับของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมส่งเสริมการเกษตร ก่อให้เกิดผลผลิตและรายได้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืนต่อไป นายรุ่งโรจน์ โชติกวี เกษตรกรตำบลหนองบัว อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า เดิมทีเกษตรกรปลูกข้าวในฤดูทำนา และปลูกข้าวโพดข้าวเหนียวต่อหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว แต่เมื่อได้รับฟังมาตรการต่างๆ ของโครงการฯ จากเกษตรตำบล จึงเกิดความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการฯ เพราะมีตลาดรับซื้อที่แน่นอน ราคาขายน่าจะได้ราคาดี และเป็นการปลูกพืชหมุนเวียน พอทำนาเสร็จจึงแบ่งพื้นที่เพื่อปลูกข้าวโพดข้าวเหนียวส่วนหนึ่ง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ส่วนหนึ่ง และปลูกปอเทืองเพื่อบำรุงดินให้เป็นแปลงคั่นกลาง ห่างกันประมาณ 200 เมตร ระหว่างแปลงปลูกข้าวโพดทั้ง 2 ชนิด ตามคำแนะนำของเกษตรตำบล ถึงแม้ว่าจะปลูกข้าวโพดทั้ง 2 ชนิดในเวลาไล่เลี่ยกัน และพื้นที่ใกล้กัน จึงไม่ได้วิตกในเรื่องนี้แต่อย่างใด พร้อมกันนี้ได้นำความรู้ด้านชีววิธี มาป้องกันแมลงในไร่ข้าวโพดด้วย