“ในภาพรวมต้องบอกว่าวันนี้ยังไม่ถึงเวลาของนักการเมือง ชนิดที่เรียกว่าเต็มที่ร้อยเปอร์เซนต์ แต่ต้องเป็นลักษณะของการผสมผสานในส่วนของข้อเท็จจริงที่มีอยู่ ดังนั้นการที่นักการเมืองรีบเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่วงจรการเมือง จะให้เป็นเหมือนในอดีตก็คงจะเป็นไปไม่ได้ คงต้องใช้เวลา รอให้สถานการณ์ต่างๆเข้าที่ เข้าทาง” แม้จะห่างหายจากสังเวียนการเมือง ไปพักใหญ่ แต่เมื่อการเมืองคือส่วนหนึ่งของชีวิต อย่าง “สมศักดิ์ เทพสุทิน” แกนนำกลุ่มมัชฌิมา จึงไม่ต้องสงสัยว่าทุกความเป็นไป ทุกความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลากว่าสองปีที่ผ่านมา เมื่อ “อำนาจ” ถูกเปลี่ยนผ่าน จากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาอยู่ในมือ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือคสช. จนมาถึงช่วงโค้งสำคัญของการเมืองไทย ที่กำลังจะมีการทำประชามติ ในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ “สยามรัฐ” ได้มีโอกาสสนทนากับ สมศักดิ์ เพื่อพูดคุยถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง เวลานี้ ทั้งในประเด็นสาระของ ร่างรัฐธรรมนูญ บทบาทของ “นักการเมือง” ตลอดจนการไขคำตอบถึงการตัดสินใจหวนคืนสู่สนามการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ อย่างไร -ภาพรวมการเมืองวันนี้ เป็นอย่างไรบ้าง ในภาพรวมต้องบอกว่าวันนี้ยังไม่ถึงเวลาของนักการเมือง ชนิดที่เรียกว่าเต็มที่ร้อยเปอร์เซนต์ แต่ต้องเป็นลักษณะของการผสมผสานในส่วนของข้อเท็จจริงที่มีอยู่ ดังนั้นการที่นักการเมืองรีบเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่วงจรการเมือง จะให้เป็นเหมือนในอดีตก็คงจะเป็นไปไม่ได้ คงต้องใช้เวลา รอให้สถานการณ์ต่างๆเข้าที่ เข้าทาง คงไม่ใช่เฉพาะเรื่องของทหารอย่างเดียว แต่น่าจะเป็นส่วนอื่นๆด้วย ที่จะต้องทำให้บ้านเมืองของเราปลอดภัยก่อน - ประเมินความรุนแรงจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ จากฝ่ายหนุน ฝ่ายต้าน มีกำลังมากน้อยแค่ไหนที่จะสร้างสถานการณ์อย่างใด อย่างหนึ่ง ก่อนการทำประชามติ พูดถึงคนที่จะมาต่อต้าน ผมคิดว่าคงไม่มีนะ หรือถ้ามีก็จะมีน้อย ในส่วนของผู้บริหารบ้านเมือง ก็คงเชื่อมั่นว่าจะเอาอยู่ ดูจากสถานการณ์โดยทั่วไปที่มีการยึดอำนาจกันมา ตั้งแต่ปี 2557 ราวสองปีเศษ ก็คิดว่าฝ่ายที่เคยเคลื่อนไหว เคลื่อนขบวนต่างๆก็คงท้อ สีต่างๆที่มีอยู่ ก็กลัวและท้อกันอยู่ ดังนั้นจึงทำให้การทำงานของ คสช.สามารถทำได้ง่ายกว่า อีกทั้งระบบการจัดการ การควบคุมของคสช.ก็ถือว่าได้ผล แต่ต้องยอมรับว่าความคิดเรื่องของอุดมการณ์ ทางการเมืองนั้นยังคงมีอยู่ แต่คสช.คุมอยู่ คุมถึง นี่คือข้อเท็จจริง ดังนั้นเชื่อว่าก่อนวันที่ 7 สิงหาคมนั้นไม่มีอะไรที่น่ากังวล - แล้วหลังจากการทำประชามติ 7 สิงหาคมไปแล้ว เมื่อปรากฎผลออกมาแล้ว ประเมินว่าว่าจะมีการเคลื่อนไหวหรือไม่ ถ้าไม่รับ ผลก็จะออกมาด้านหนึ่ง ถ้ารับผลก็จะออกมาอีกด้านหนึ่ง เพราะถ้าลงประชามติว่ารับร่างรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างก็จะเดินไปตามโรดแมป ที่คสช.วางไว้ แต่ถ้าไม่รับ ก็ต้องเปลี่ยนกันใหม่ ซึ่งในจุดนี้คิดว่ามีหลายรูปแบบที่จะสามารถปรับเปลี่ยนให้สถานการณ์เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ ผมก็มองว่า เรื่องของการปฏิรูปความขัดแย้ง มีความสำคัญ โดยต้องทำให้ความขัดแย้งที่มีอยู่ต้องหายไป พร้อมกับการที่ได้รัฐธรรมนูญใหม่ เพราะถ้าความขัดแย้งไม่หายไป ก็ไม่เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ และจะทำให้ส่วนรวม ประชาชนต่างเสียโอกาสด้วยกันทั้งนั้น - ความขัดแย้งที่เราอยากให้หายไปนั้น สามารถบอกได้หรือไม่ว่า วันนี้ มีสัญญาณในทางที่พอจะบอกได้ว่าเป็นบวกหรือเป็นลบมากขึ้น ยังไม่มีสัญญาณ มันต้องอยู่ที่ตัวรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมไม่รู้ว่าได้มีการดีไซน์ไว้หรือให้ว่ากันไปตามมี ตามเกิด ในส่วนของรัฐธรรมนูญนั้นก็อาจจะเขียนเอาไว้เพื่อป้องกัน หรืออาจจะมองเห็นรูปแบบของการแก้ไขปัญหา แบบใด แบบหนึ่งชัดเจนเพื่อไม่ให้ก้าวออกไปในทิศทางที่ไม่พึงประสงค์ - มีเงื่อนไขปัจจัยอะไรบ้าง ที่จะช่วยทำให้ความขัดแย้งในบ้านเมืองลดน้อยถอยลงไปได้ มันมีเรื่องของสี ซึ่งสีก็พัฒนามาจากเรื่องของสิ่งที่ผู้คนมองดูแล้วรู้สึกว่า ไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน แล้วเมื่อเป็นเช่นนี้ก็พัฒนามาสู่พรรคการเมือง มองเห็นว่าเป็นความขัดแย้งของการเมืองหรือไม่ แต่จริงๆแล้วเป็นเรื่องของมาตรฐาน ที่เรียกว่าสองมาตรฐานหรือไม่ ก็เริ่มจากตรงนี้ ซึ่งจุดนี้ผมว่าหากรัฐธรรมนูญดีๆก็สามารถแก้ไขได้ แต่ในมุมมองของผม มองว่าหากประชามติไม่ผ่าน ก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญใหม่ แต่ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติก็ต้องใช้ฉบับนี้ต่อไป ซึ่งผู้ร่างก็คงดีไซน์มาแล้วว่า ต้องการให้ผ่านแล้วไปอยู่ในกรอบของคณะทำงานที่หลากหลายที่ได้มีการระดมสมองกันไว้ - ประเมินว่าหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ผ่านประชามติ ทางไหนน่าจะเป็นบวกต่อประเทศมากกว่า หลายฝ่ายก็มองดูแล้วว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือว่ายังไม่ดีที่สุด ยังมีอุปสรรค มีปัญหา และประโยชน์ยังไม่สูงสุด เมื่อถึงจุดนั้นก็อาจจะต้องมาทำลายกันอีก ก็จะเสียเวลาประเทศชาติหรือไม่อย่างไร ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน จากกลุ่มต่างๆ แต่โดยส่วนตัวมองว่าหากไม่ผ่านก็ต้องมีทางออก ที่เขาสามารถเขียนรัฐธรรมนูญชั่วคราว แต่ที่ดูแล้วก็เห็นว่าหลายๆฝ่าย ก็ไม่ได้ตึงเครียดอะไรมากนัก - หลังจากการทำประชามติได้แล้ว มีการตั้งข้อสังเกตจากฝ่ายการเมือง นักวิชาการ ด้วยความกังวลว่าโรดแมป ของคสช.อาจจะมีการขยับ ยืดระยะเวลาออกไป คสช.จะอยู่ยาว มองได้ทั้งสองอย่าง ว่ามีเงื่อนไขที่จะทำให้คสช.ต้องอยู่ยาวหรือไม่ บางทีก็อาจจะมองว่ามันมีเงื่อนไขให้เขาต้องอยู่ยาว - มีเสียงเรียกร้องให้มีการเปิดพื้นที่แสดงความเห็น ก่อนถึงวันลงประชามติ มองว่าจะนำไปสู่การเปิดช่องให้มีการเคลื่อนไหวสร้างความวุ่นวาย หรือจะส่งผลต่อการตัดสินใจออกเสียงประชามติ ถ้าให้วิพากษ์วิจารณ์ออกมามากๆ ประชามติ มีแนวโน้มในทางที่ไม่ผ่านมากกว่า เพราะดูแล้วนักการเมืองจะเห็นในส่วนที่ไม่อยากให้ผ่านมากกว่า เท่าที่ประเมินจากท่าทีของพรรคการเมืองที่ประกาศจุดยืนออกมาก่อนการลงประชามติ เพราะพรรคการเมืองจะมีคนอยู่ทั่วไปหมด ดังนั้นการเปล่งเสียงออกมาว่าไม่ผ่าน ไม่เห็นด้วยจะทำให้คนที่สนับสนุนพรรคการเมืองนั้นๆ เมื่อได้ฟังแล้วก็จะเชื่อ แต่ในทางกลับกัน หากให้หยุดวิพากษ์วิจารณ์ งดแสดงความเห็น แต่ให้ข้าราชการไปตามคนมาลงคะแนนมากๆ อย่างนี้โอกาสที่ผ่านจะมีมาก แต่ผมคิดว่าไม่ว่าจะเปิดเวทีหรือไม่ บรรยากาศก็คงไม่ตึงเครียดมากไปกว่านี้แล้ว - มองการเลือกตั้งในปี 2560 อย่างไร มันอยู่ที่รัฐธรรมนูญ ว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน และผมมองเรื่องการปฏิรูปความขัดแย้งเราอย่าเพิ่งไปพูดถึงเรื่องความมี ความจนของคนส่วนใหญ่ของประเทศกันเลย แต่เมื่อมองเรื่องความขัดแย้งเป็นเรื่องใหญ่ที่เราจะต้องผ่านจุดนี้ไปให้ได้ - ใครจะมีส่วนช่วยในเรื่องปฏิรูปความขัดแย้งตรงนี้ได้บ้าง ก็ทุกคนมีส่วนหมดนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวรัฐธรรมนูญเอง ถ้าออกมาดีๆ มีอะไรเพิ่มเติมที่เป็นประโยชน์ส่วนการที่จะเปิดทั้งหมด เลยก็คงต้องใช้เวลาบริหาร ลดความขัดแย้งไปสักระยะหนึ่ง อาจจะราว 4-5ปี ซึ่งมันต้องมีการเลือกตั้ง แต่รัฐธรรมนูญก็จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยในเรื่องของการปฏิรูปความขัดแย้งได้ - เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทุกคนในสังคมวันนี้ต้องมองและช่วยกันจึงไม่ใช่เรื่องของการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมองเรื่องของการปฏิรูปความขัดแย้ง เพื่อลดความขัดแย้งด้วย ใช่ครับ - การแสดงท่าทีของพรรคการเมืองต่อร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดภาพ แนวร่วมมุมกลับ คือทั้งพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ บางส่วนเห็นเหมือนกันว่าไม่รับร่างร้ฐธรรมนูญ ผมว่าไม่ใช่นะ แต่มันเป็นเรื่องของการมองเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญมากว่า ซึ่งตามปกติแล้วสองพรรคใหญ่ คงจะไม่เห็นเหมือนกันแน่ แต่เมื่อพรรคประชาธิปัตย์และเพื่อไทย เห็นเหมือนกัน ก็แสดงว่าต้องมีอะไรที่เป็นจุดที่มองว่าต้องมีการปรับ อย่าไปโทษสองพรรคนี้เลย เพราะนานๆจะมีมุมมองและความเห็นที่เหมือนกัน แสดงว่ามันต้องหนักพอสมควร - มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาโดยตลอดว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ถูกเขียนขึ้นมาภายใต้แนวคิดที่ว่านักการเมืองคือต้นเหตุแห่งวิกฤติ จึงมีการร่างในลักษณะที่วางกับดักนักการเมืองเอาไว้ ก็มองมันเป็นอำนาจของผู้เขียน ที่จะใช้อำนาจ ในส่วนที่มีอยู่ เอามาใช้ประโยชน์ อาจจะใช้ในลักษณะที่เรียกว่า ไม่ต้องใช้แรง ใช้ปืน ก็เป็นอีกมุมหนึ่งที่ไม่ได้เสียหายอะไร แต่น่าห่วงว่าผู้ใช้อำนาจเองจะเหนื่อยเกินไปหรือไม่ เพราะมีเรื่องราวสารพัด คนที่จะมาบริหารอำนาจจะเหนื่อยไปหรือไม่ - วันนี้นายกฯโดดเดี่ยวหรือไม่ตลอดกว่าสองปีที่ผ่านมา ผมว่านายกฯก็มีความตั้งใจดีนะ ซึ่งนายกฯเองก็ต้องเลือกทีมเดิม และไม่สามารถที่จะเลือกอะไรได้มากนัก นอกจากการฟังทีมเดิม ผมไม่วิจารณ์ท่านนะ แต่ก็ให้กำลังใจท่าน - มีอะไรที่อยากจะฝากไปถึงนักการเมืองด้วยกันหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าให้ใจเย็นๆอย่ารีบร้อน เข้าใจว่าหลายฝ่ายมีภารกิจสำคัญที่จะต้องทำ ขณะที่ในส่วนของผู้มีพลังทั้งหลายต่างเห็นด้วยกันแล้ว นักการเมืองก็เป็นเศษเสี้ยว ที่จะไปพลิกหรือเปลี่ยนอะไรต่างๆ แต่อาจจะยังไม่สำเร็จ เพราะเป็นสิ่งที่ฝ่ายผู้มีอำนาจเองยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ เราก็ต้องมองในจุดนั้นด้วย ก็ต้องบอกว่าให้ใจเย็นๆ ใครรอได้ก็รอ - คุณสมศักดิ์ รอได้หรือไม่ (หัวเราะ) ก็ต้องรอ เพราะเรามีเงื่อนไขเรื่องของเวลา ก็อาจจะเป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายการเมืองรุ่นใหม่ๆหรือไม่ - การเลือกตั้งในปี2560 จะได้เห็นคุณสมศักดิ์ คืนสังเวียนหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญด้วยว่าจะเป็นอย่างไร เราจะไม่บอกว่าเราจะเลิก หรือไม่เลิกหรือจะไปบอกว่าจะสู้ต่อหรืออะไรนะ แต่สำหรับเราแล้วอย่างไรก็ได้ เพราะเราไม่ใช่ activist แต่เป็นนักการเมืองแบบคิด พัฒนา ซึ่งเมื่อเราไม่มีการเมือง เราก็ไปทำอย่างอื่นได้ ไปหางานอย่างอื่นทำ ความจริงผมไม่ได้เล่นการเมืองมาเป็นสิบปีแล้ว ทุกวันนี้ก็มาช่วยงานลูกๆ เรื่องธุรกิจครอบครัว มากกว่า งานหลักๆของผมวันนี้คือการกลับไปเป็นเกษตรกร เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงไก่สวยงาม