จาก สถานการณ์ปัจจุบันของอุตสาหกรรมไมซ์ที่สร้างความท้าทายใหม่ ๆ ต่อธุรกิจไมซ์ไทยที่จะต้องปรับตัวให้ทันกับเทรนด์โลก เช่น การสร้างประสบการณ์ใหม่ ให้แก่ผู้เข้าร่วมงานไมซ์ การสร้างความพึงพอใจและความประทับใจให้กับผู้เข้าร่วมงาน ตลอดจนการนำเนื้อหาจากชุมชนและท้องถิ่นในประเทศมา สร้างอัตลักษณ์ให้กับการจัดงานไมซ์โดยเน้นการทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์ ด้วยเหตุนี้ทางสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ จึงเร่งเข้ามาบูรณาการการทำงานของภาครัฐ เอกชน และภาคการศึกษา เพื่อพัฒนาสถานประกอบการ และชุมชนรองรับการจัดงานไมซ์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ขยายเส้นทางสู่เมืองรอง ในเรื่องนี้ นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ในปีนี้ทีเส็บเตรียมแผนขยายโครงการพัฒนาเส้นทางไมซ์ในอีก 5 เมืองรอง โดยขยายเส้นทางจากเมืองรองที่อยู่รอบเมืองไมซ์ซิตี้ และวางแผนทำ โมบาย แอพพลิเคชั่น รวมถึงการเชื่อมโยงกับหน่วยงาน องค์กร ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิ่มการรับรู้ในเส้นทางดังกล่าวมากขึ้น จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อีกทั้งยังสอดรับกับ ยุทธศาสตร์การพัฒนาไมซ์ซิตี้ และนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาเมืองรอง ร่วมขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่การเป็นจุดหมายปลายทางการจัดกิจกรรมไมซ์ที่หลากหลายระดับคุณภาพ ยกระดับสินค้าบริการ และสถานประกอบการไมซ์ใหม่ๆ ทั่วทุกภูมิภาค สร้างรายได้ และโอกาสในการพัฒนาไมซ์ทั่วประเทศ ซึ่งน่าจะกระตุ้นนักเดินทางไมซ์ทั้งใน และต่างประเทสได้ตามเป้าหมาย รวมทั้งสิ้น 35,982,000 คน สร้างรายได้ 221,500 ล้านบาท แบ่งออกเป็นนักเดินทางกลุ่มไมซ์ต่างประเทศ 1,320,000 คน สร้างรายได้ 100,500 ล้านบาท และนักเดินทางชาวไทยที่เข้าร่วมงานไมซ์ในประเทศ 34,662,000 คน สร้างรายได้ 121,000 ล้านบาท ทั้งนี้ด้วยงบประมาณปี 2562 ประมาณ 800 กว่าล้านบาท ได้แบ่งสัดส่วนในหมวดต่างๆ โดยมุ่งเน้นปัจจัยหลักๆ คือ การสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจด้วยการพัฒนาทางนวัตกรรม เพื่อสามารถกระจายรายได้สู่ชุมชนทุกภาคส่วนของสังคม และในปีงบประมาณ 2563 ได้ตั้งเป้าการใช้จ่ายในสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีก 10% ในการมุ่งหวังให้เกิดการบูรณาการอย่างเป็นระบบทั้ง บุคลากร และหน่วยงานต่างๆ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับงบประมาณที่ได้ขอเพิ่มไปกับรัฐบาล เพื่อส่วนดังกล่าวนี้ด้วย ตอบโจทย์ลูกค้าเป้าหมาย โดย นาง ศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการสายงานพัฒนาและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมไมซ์โดยเฉพาะกลุ่มการประชุม มีความจำเป็นต้องสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อดึงดูดนักเดินทางไมซ์คุณภาพเข้าสู่ประเทศ หรือเมืองของตัวเอง ดังนั้นทางทีเส็บจึงได้เริ่มโครงการศึกษา และวิเคราะห์ศักยภาพเส้นทางไมซ์ภายในประเทศ เพื่อส่งเสริมศักยภาพของอุตสาหกรรมไมซ์ภายในประเทศ หรือ Thailand 7 MICE Magnificent Themes หนึ่งในการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาไมซ์ซิตี้ทั้ง 5 เมือง ในการค้นหาเส้นทางใหม่ๆ และพัฒนาสถานประกอบการ และชุมชน สำหรับการจัดงานไมซ์ทั่วประเทศ ศุภวรรณ ตีระรัตน์ ในปีนี้หลังจากทีเส็บบูรณาการความร่วมมือในระดับจังหวัดกับทุกภาคส่วน ทั้ง ภาครัฐ เอกชน ภาคการศึกษา พร้อมทั้งจัดทำเวิร์คชอปร่วมกับจังหวัดใน 4 ภูมิภาค คือ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคอีสาน ระดมความคิดเห็น และหารือร่วมกันถึงศักยภาพของสถานประกอบการ และชุมชน ที่สามารถรองรับการจัดงาน และนักเดินทางไมซ์ได้จริง รวมถึงการลงพื้นที่จริง ร่วมศึกษา และหารือกับสถานที่ประกอบการที่ตรงตามหลักเกณฑ์ หารือ และดำเนินการร่วมกับสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) หรือ ทิก้า พัฒนาเส้นทางไมซ์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเป้าหมาย ได้แก่ผู้จัดงาน และองค์กรหน่วยงานรัฐ และเอกชน จนสามารถพัฒนา 25 เส้นทางไมซ์ภายใต้ 7 มุมมองใหม่ใน 5 เมืองไมซ์ได้สำเร็จ โอกาสดีของบริษัทจัดงาน ซึ่ง นางสาวกฤษณี ศรีษะทิน ประธานร่วมฝ่ายส่งเสริมการขาย และเหรัญญิกสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) หรือ ทิก้า และเจ้าของบริษัทรับจัดการธุรกิจไมซ์ (Destination Management Company : DMC) กล่าวว่า เป็นโอกาสดีของบริษัทรับจัดการธุรกิจไมซ์ ที่จะมีสินค้าใหม่ในการไปนำเสนอลูกค้าในอุตสาหกรรมไมซ์เพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ในส่วนของ DMC ที่ได้มาตรฐานสากลมีเพียง 10 กว่าบริษัทเท่านั้นที่สามารถนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาตอบสนองลูกค้าเป้าหมาย ที่มีโจทย์ให้นำเสนอ ตั้งแต่เรื่องงบประมาณ และเงื่อนไขต่างๆ ที่ฝ่าย DMC จะต้องจัดการให้ตรงความต้องการ เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุด กฤษณี ศรีษะทิน อย่างไรก็ตามจากที่ ทีเส็บได้พัฒนา 25 เส้นทางไมซ์ ภายใต้ 7 มุมมองใหม่ใน 5 เมืองไมซ์ได้สำเร็จ ถือเป็นเรื่องที่ดี ที่ DMC มีสินค้าไปนำเสนอลูกค้ามากขึ้น เพราะกลุ่มลูกค้าต่างๆ ต้องการที่จะได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากเส้นทางเดิมๆ ที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้คงต้องขึ้นอยู่กับการพัฒนาศักยภาพของชุมชน และบุคคลากรในพื้นที่นั้นๆ ไว้รองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวในธุรกิจไมซ์ที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย นาง ศุภวรรณ ได้กล่าวถึงการพัฒนาบริษัทรับจัดการธุรกิจไมซ์ ที่ได้มาตรฐานสากลให้เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับนักเดินทางกลุ่มไมซ์ ว่า ช่วงที่ผ่านมา ได้จัดทำหลักสูตร DMC เป็นเวลา 2 วัน เพื่อให้ผู้ที่ต้องการพัฒนาองค์กรได้เข้ามาเรียนรู้ และในปี 2562-2563 จะจัดทำหลักสูตรพื้นฐานทั่วไป ที่ผู้จัดงานทั่วประเทศสามารถเข้าอบรมได้ พร้อมมีใบรับรองมอบให้ ซึ่งจะเป็นหลักสูตรที่นำมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าจัดปีละ 2 ครั้ง แบ่งเป็นหลักสูตรนาชาติ และหลักสูตรในประเทศ