จากที่สหภาพยุโรป (EU) ประกาศปลดใบเหลืองการทำประมงที่ผิดกฎหมายและไร้ระเบียบ (IUU) ทำให้ประเทศไทยสามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อส่วนรวม ในภาพรวมการทำประมงของประเทศ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าอาหารทะเลเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ได้ให้สัมภาษณ์ “สยามรัฐรายวัน” ถึงแผนพัฒนาการทำประมงของไทยสู่ความยั่งยืน มีรายละเอียดที่น่าสนใจว่า ต่อจากนี้ยังเดินตามมาตรการ ที่ยึดเป็นกรอบการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 3 ปี จนนำมาสู่ใบเขียว IUU โดยพัฒนาให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น ได้แก่ การปรับกฎหมาย พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 และฉบับปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2560 ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยชาวประมงมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น การบริหารจัดการประมงให้เกิดความสมดุล ไม่ให้มีการทำประมงกันมากกว่าธรรมชาติจะผลิตขึ้นทดแทนได้ทัน (Over Fishing) โดยใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุด ได้แก่ MSY (Maximum Sustainable Yield) คือ ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้อย่างยั่งยืน เป็นการคำนวณว่า ในแต่ละปีสามารถจับสัตว์น้ำได้กี่ตัน ถ้าดำเนินตามนี้ จะทำให้ทรัพยากรฟื้นกลับมา สามารถจับสัตว์น้ำได้ในปริมาณที่ใกล้เคียงกับของเดิม และมีความยั่งยืน รวมทั้งเครื่องมือในทำการประมง มีหลายแบบ และแต่ละฤดูกาลมีความแตกต่างกันไป จึงต้องมีการกำหนดการบริหารจัดการ เช่น การปิดอ่าวไทยตอนกลาง ปิดอ่าวไทยตอนใน รูปตัว ก เมื่อก่อนปิดในพื้นที่บริเวณกว้าง ต่อมาปรับเปลี่ยนแบ่งปิดพื้นที่แคบลง มาตรการเหล่านี้จะปรับเปลี่ยนตลอดเวลาตามข้อมูลในปัจจุบัน และตามข้อตกลงกับชาวประมง หรือเครื่องมือ ก็มีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมเช่นกัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำต่อไปข้างหน้า การบริหารจัดการต้องปรับเปลี่ยนตามสภาวะที่เป็นอยู่จริง การใช้ระบบควบคุม ติดตามเรือประมง ( Vessel Monitoring System : VMS) ขณะนี้มีการนำมาใช้กับเรือประมง 30 ตันกรอสขึ้นไป เพราะเป็นเรือที่มีความเสี่ยงสูง แต่ตอนนี้เรือประมงต่ำกว่า 30 ตันกรอส ยังไม่มีการติดตั้งระบบ VMS ซึ่งต้องมีการพิจารณาความจำเป็น ความเหมาะสม และต้นทุน รวมทั้งการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง ผ่านศูนย์แจ้งเข้า-แจ้งออกเรือประมง (PIPO) มีการตรวจสอบในทะเล โดยจะมีเรือตรวจของกรมประมง หน่วยงานทหารเรือที่เกี่ยวข้อง การตรวจสอบทางอากาศโดยใช้อากาศยานไร้คนขับ (UAV) และการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) โดยชาวประมงต้องบันทึกการทําการประมง (Fishing Logbook) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะมีการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ลดภาระชาวประมง และภาคเอกชน ส่วนสุดท้ายการบังคับใช้กฎหมาย กรมประมง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตำรวจอัยการ ศาลยุติธรรม มีการทำงานร่วมกัน แลกเปลี่ยนความรู้ ความเข้าใจ เพื่อสามารถทำให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายมีความยุติธรรม -ใบเหลือง IUU ถือเป็นบทเรียน ช่วยรักษามาตรฐานการทำประมงในอนาคต มองว่าใบเหลืองของ EU เป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่ปัญหาทำประมง IUU เกิดสะสมมาอย่างยาวนาน จนมาระเบิดเมื่อปี 2558 จะเห็นได้จากข่าวตามหนังสือพิมพ์จากทั่วโลกแรงมาก มีองค์กรที่เป็น NGO และองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง สะท้อนจุดที่เป็นปัญหาออกมาชัดเจนหลายเรื่อง โดยไทยก็ได้นำมาเป็นบทเรียน และช่วงปรับเปลี่ยนตั้งแต่ปี 2558 ได้วางกรอบการบริหารจัดการ โดยยึดบทเรียนใหญ่นั้นมาใช้ จากนี้จะเป็นการปรับตัวย่อยที่กล่าวไปข้างต้น -ปัจจัยเสี่ยง ที่อาจจะนำไทยกลับไปสู่ใบเหลือง IUU สิ่งที่สำคัญ คือ การเปลี่ยนรัฐบาล อาจจะมีการปรับนโยบายใหม่ ทำให้ต่างประเทศมีความกังวล และเป็นห่วง หากเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ จะมีนโยบายใหม่ในเรื่องเหล่านี้หรือไม่ แต่คิดว่าสูอย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า กรอบการดำเนินงานที่ทำอยู่ทุกวันนี้ เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดไว้แล้ว ฉะนั้น รัฐบาลใหม่มา ก็จะมีการเปลี่ยนแก้กฎหมาย แต่จะมีกระบวนการที่ชัดเจน มีความสมดุลในการปรับแก้ ในฐานะที่เป็นข้าราชการ ไม่มีความกังวล เพราะสิ่งที่ทำมีเหตุ และมีผล รวมทั้งมีผลให้เห็นชัดเจนในช่วง 3 ปี และไม่คิดว่าจะมีผลชัดเจนเร็วขนาดนี้ เช่น ทรัพยากร ที่มีการแสดงถึงการฟื้นฟู ซึ่งปกติต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี เนื่องจากมีการเสียงสะท้อนจากชาวประมงว่า มีสัตว์น้ำให้จับจำนวนมากขึ้น และหลายชนิดที่ขึ้นว่าจะสูญพันธุ์ก็เริ่มกลับเข้ามา ถือเป็นสัญญาณที่ดี และเป็นการแสดงให้เห็นว่า เราเดินมาถูกทาง สามารถพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพ ใบแดง ใบเหลือง ก็ไม่น่าจะใช่ปัญหาใหญ่ และคิดว่า ชาวประมง ผู้ประกอบการ NGO ประชาชน เป็นคนที่ค่อยควบคุมรัฐบาล เพราะอำนาจอยู่ที่ประชาชน ซึ่งกรมประมง พยายามที่จะดำเนินการ และวางกรอบการทำงานที่ชัดเจนไว้ เราอยู่ในประเทศประชาธิปไตย กระบวนการประชาธิปไตยต้องช่วยกันดูแล และพัฒนา ทรัพยากรประมงคนที่ใช่ คือ ชาวประมง จับมาก็ให้ประชาชนบริโภค รวมถึงส่งออก หน่วยงานราชการ คือคนคุมกติกาไม่ให้เอาเปรียบซึ่งกันและกัน มีความเป็นธรรม และมีความยั่งยืน -ยืนยันกรอบมาตรการที่ใช้ ช่วยแก้ปัญหาทำประมง IUU ได้อย่างยั่งยืน การทำประมง IUU คือ การทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งเราต่อต้านการทำผิดกฎหมาย แต่สิ่งสำคัญที่เราดำเนินการทุกวันนี้ ไม่ใช่เค่เพียงต่อต้าน IUU แต่ให้ความสำคัญเรื่องการทำประมงที่ยั่งยืน นโยบายรัฐบาลสร้างระบบขึ้นมาทั้งหมด ไม่ใช่เพื่อให้ได้ใบเขียว แต่สร้างขึ้นเพื่อให้การทำประมงเกิดความยั่งยืน ซึ่งเป็นความมั่นคงทางอาชีพของชาวประมง และผู้ประกอบการ แต่ส่วนสำคัญ เป็นความมั่นคงทางอาหารของประชาชนชาวไทย และความมั่นคงของทรัพยากรที่ยั่งยืน ทั้งนี้ การที่ EU ให้ใบเขียวไทย เป็นการบ่งชี้ว่า เรามาถูกทาง -กระแสตอบรับจากชาวประมง หลังไทยได้ใบเขียว ตอนแรกชาวประมงมองว่า ถูกบีบ ถูกบังคับจาก EU จากที่ทำประมงแบบอิสระ แต่ต้องเข้ามาสู่ระบบที่มีการควบคุมทำให้รู้สึกอึดอัด แต่แท้จริงแล้ว EU เตือนว่าอยู่ในสถานะที่ไม่มั่นคง มีการทำประมง IUU มากเกินไป ถ้าไม่สามารถควบคุมได้ ถูกมองว่า ไม่ให้ความร่วมมือ จนถึงขั้นได้ใบแดง อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าประมงไทย ไม่มีใครรับซื้อ ก็จะได้รับความเดือดร้อนกันหมด ฉะนั้น การแก้ปัญหา IUU ที่ผ่านมา เป็นการแก้ของเราเอง แต่ EU มาให้ข้อมูล ให้ความรู้ เพราะมีประสบการณ์ รวมทั้งสหรัฐอเมริกาก็ช่วยเหลือ เช่น องค์กรโนอาห์ หน่วยงานด้านประมง มีข้อมูลต่างๆ ก็นำมาเทรน มาแลกเปลี่ยน เช่นเดียวกับประเทศเกาหลี ไต้หวัน สเปน ก็ให้ความช่วยเหลือ -มีมาตรการสร้างการรับรู้แก่ชาวประมง ถึงระบบการทำประมงยั่งยืน ที่ผ่านมา ติดปัญหาไม่สามารถพูดคุยได้ทั่วถึงทุกคนใน 22 จังหวัดชายทะเล จึงได้พยายามกระจายข้อมูล ข่าวสารในทุกด้านอย่างสม่ำเสมอ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และส่งเจ้าหน้าที่ประจำจังหวัด ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ เสียงตามสายประจำหมู่บ้าน รวมถึงพูดคุย หารือผ่านสมาคม ชมรม กลุ่มชาวประมง ที่เป็นตัวแทน และกำลังพัฒนาเรื่องนี้ โดยมีการประชาสัมพันธ์ข่าวสารผ่านสื่อโซเชียลมากขึ้น เช่น กลุ่ม Line Facebook เพราะชาวประมงเริ่มเปิดรับเทคโนโลยี -อยากให้ฝากถึงชาวประมง ร่วมบูรณาการพัฒนาอาชีพประมงยั่งยืน เรื่องแรก ชาวประมงต้องร่วมตัวกันเป็นกลุ่ม เป็นเครือข่าย ช่วยดูแลกันและกัน หากตั้งเป็นสมาคมได้ก็เป็นเรื่องดี เพื่อเป็นปาก เป็นเสียงแทน ช่วยส่งปัญหามายังภาครัฐ และร่วมแก้ไขปัยหาร่วมกัน เรื่องที่สอง ชาวประมงต้องช่วยเหลือตัวเองในเบื้องต้น โดยมีภาครัฐให้การสนับสนุน จะช่วยให้ง่ายขึ้นในกระบวนการ รวมทั้งศึกษากฎหมาย เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง สร้างองค์กรชาวประมงที่เข้มแข็ง เชื่อว่าจะนำไปสู่ความยั่งยืน