ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวถึงผลการสำรวจ หัวข้อ “สถานภาพผู้ประกอบการตลาดนัดจตุจักร” ว่า ข้อมูลจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในตลาดนัดจตุจักรมีแผงค้า 11,505 แผง โดยหลังสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นไป การลงทะเบียนผู้ค้า การบริหารจัดการตลาด จะย้ายจาก รฟท. ไปอยู่ภายใต้การบริหารของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งคาดว่าจะเก็บค่าเช่าเดือนละ 1,600 บาทต่อแผง ซึ่งผู้ประกอบการในตลาดนัดจตุจักร ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการค้า 85.15% ประเภทสินค้าที่ขายมากสุดคือ เสื้อผ้า-เครื่องนุ่งห่ม 40.97% โดยรูปแบบการดำเนินกิจการนั้น ส่วนใหญ่ทำในนามบุคคลธรรมดา 49.94% ไม่ได้จดทะเบียน 45.21% ส่วนที่เป็นนิติบุคคล มีเพียง 2.62% และอื่นๆ ในรูปแบบกลุ่มแม่บ้านและวิสาหกิจชุมชน 2.24% โดยกว่า 90.90% เป็นเจ้าของคนเดียว และต่อรายมีแรงงานเฉลี่ย 3 คน ส่วนใหญ่ 38.91% ดำเนินกิจการมาประมาณ 4-6 ปี มีรายได้รวมเฉลี่ย 139,518.42 บาทต่อเดือน สำหรับความเป็นเจ้าของร้านของผู้ประกอบการในตลาดนัดจตุจักรนั้น ผู้ค้าที่มีจำนวน 1 แผง 67.24% จะเช่าโดยตรงกับ รฟท. ค่าเช่าส่วนใหญ่อยู่ที่ 5,001-10,000 บาทต่อเดือน หรือเฉลี่ย 10,638.62 บาทต่อเดือน และ 79.16% ใช้วิธีเช่าช่วงต่อมา ซึ่งมีค่าเช่าส่วนใหญ่อยู่ที่ 10,001-50,000 บาท หรือเฉลี่ย 17,713.47 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ จำนวนวันที่ผู้ประกอบการจะเปิดหน้าร้าน ค้าขายในตลาดนัดจตุจักรนั้น จำนวน 70.42% บอกว่า 2 วัน ส่วนค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3 วัน และเมื่อถามว่า มีหน้าร้านที่อื่นอีกหรือไม่ กลุ่มตัวอย่างถึง 76.47% บอกว่า ไม่มี และลักษณะของช่องทางการค้าขายนั้น จำนวนถึง 61.33% ขายผ่านหน้าร้านอย่างเดียว ส่วน 38.67% มีหน้าร้านควบคู่กับขายออนไลน์ ขณะที่รายได้จากการขายในตลาดนัดจตุจักรนั้น ส่วนใหญ่ 43.86% อยู่ที่ 10,001-50,000 บาทต่อเดือน ส่วนเฉลี่ยอยู่ที่ 101,643.03 บาทต่อเดือน ด้านผลสำรวจสถานภาพทั่วไปของผู้ประกอบการตลาดนัดจตุจักร ยอดขายปัจจุบันเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่าง 36.67% บอกว่าลดลง 33.74% บอกว่าเท่าเดิม มีเพียง 29.58%บอกว่าเพิ่มขึ้น รวมถึง 40.12% บอกว่า จำนวนลูกค้าลดลง และ 40.15% มีสต็อกสินค้ารอการขายลดลง อย่างไรก็ตาม อีก 6 เดือนข้างหน้า ส่วนใหญ่ 42.27% เชื่อว่า ยอดขายจะเพิ่มขึ้น 44.87% บอกว่า กำไรจะเพิ่มขึ้น 39.68% เชื่อว่าสภาพคล่องจะเพิ่มขึ้น 36.31% เชื่อว่า จำนวนลูกค้าจะเพิ่มขึ้น 36.31% และ 35.86% เชื่อว่า สต็อกสินค้ารอการขายจะลดลง เมื่อถามถึงหนี้สินจากการดำเนินธุรกิจและแหล่งที่มาของหนี้สินนั้น ผู้ประกอบการค้าในตลาดนัดจตุจักร 53.32% บอกว่า ไม่มีหนี้สิน ส่วน 46.68% บอกว่ามีหนี้สิน โดย 69.84% เป็นหนี้ในระบบอย่างเดียว 17.43% เป็นหนี้นอกระบบอย่างเดียว และ 12.73% เป็นหนี้ทั้งในและนอกระบบ โดยภาระหนี้ เฉลี่ย 288,013.70 บาท อัตราผ่อนชำระ 7,375.76 บาทต่อเดือน และเมื่อเทียบกับปีทีผ่านมา มีภาระหนี้ทั้งในและนอกระบบเพิ่มขึ้น โดยนำไปใช้เพื่อหมุนเวียน ซื้อสินค้า/วัตถุดิบ ชำระเงินกู้ ขยายธุรกิจ ลงทุนเริ่มธุรกิจ และใช้จ่ายอื่นๆภายในครอบครัว กลุ่มตัวอย่างระบุทัศนะเกี่ยวกับภาระหนี้ในอนาคต เชื่อว่าในอีก 1 ปีข้างหน้าจะลดลงทั้งในและนอกระบบ ส่วนปัจจุบันนั้น ยอมรับว่า หนี้ในระบบมีผลกระทบด้านลบต่อการดำเนินธุรกิจ 88.9% และหนี้นอกระบบมีผลกระทบด้านลบต่อการดำเนินธุรกิจ 86.0% ซึ่งจำนวน 36% บอกว่า เคยผิดนัดชำระหนี้ เพราะหมุนเงินไม่ทัน เงินขาดมือ ภาระหนี้สินสูง ขายของไม่ดี มีเหตุฉุกเฉินในการใช้จ่าย และต้นทุนการดำเนินธุรกิจสูงขึ้น ตามลำดับ ขณะที่ส่วนใหญ่ 49.28% เชื่อว่ามีโอกาส Refinance ในการกู้ในระบบ ผศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวว่า ส่วนความต้องการสินเชื่อนั้น ปัจจุบัน 32.96% มีความต้องการ โดย 100% บอกว่าต้องการกู้ในระบบ โดยมีสัดส่วนกลุ่มที่เชื่อว่ากู้ได้ คือ 58.17% วัตถุประสงค์เพื่อนำไปปรับปรุงสินค้า ซื้อสินค้าเพิ่มเติม ลงทุนเทคโนโลยี ขยายธุรกิจ และชำระหนี้เก่า ตามลำดับ ส่วนกลุ่มที่เชื่อว่า กู้ไม่ได้ 19.90% นั้น สาเหตุเพราะไม่มีหลักประกัน/หลักประกันไม่พอ โครงการไม่เป็นที่น่าสนใจ ไม่มีแผนธุรกิจที่ดี ไม่มีประวัติการเคลื่อนไหวทางการเงิน ประวัติการชำระหนี้ไม่ดี เป็นกิจการใหม่ ไม่รู้ติดต่อธนาคารอย่างไร งบการเงินไม่ดี และไม่มีบัญชีที่ชัดเจน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการค้าในตลาดนัดจตุจักร เผยความต้องการให้สถาบันการเงิน ปรับปรุงด้านสินเชื่อ ลดขั้นตอนเงื่อนไขในการกู้ ปรับลดดอกเบี้ย ระยะเวลาในการอนุมัติ หลักทรัพย์ค้ำประกัน ตามลำดับ ส่วนใหญ่ 41.51% อยากได้วงเงินสินเชื่อ 11-20% ของยอดขาย ส่วนเฉลี่ย คือ 27.41% ของยอดขาย ที่สำคัญ ผู้ประกอบการมีทัศนคติว่า หากสามารถกู้เงินได้จะทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 36.54% โดย 47.38% เชื่อว่า หากได้สินเชื่อในระบบจะทำให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นน้อยกว่ากำไรที่เพิ่มขึ้น เมื่อสอบถามถึงการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน กลุ่มตัวอย่าง 58.84% มีการใช้ เช่น จัดทำเว็บไซต์ ขายสินค้าออนไลน์ ประชาสัมพันธ์ จัดทำบัญชี และเช็คสต็อกสินค้า ขณะที่ 41.16% ไม่มีการใช้ จากสาเหตุไม่รู้จะใช้อย่างไร คิดว่าไม่จำเป็น มองว่ายุ่งยาก เคยทำแล้วแต่ไม่สำเร็จ ค่าใช้จ่ายสูง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลจัดโครงการส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพการค้าขายออนไลน์ ส่วนใหญ่สนใจจะเข้าร่วม ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ได้แก่ แก้ปัญหาฟื้นฟูเศรษฐกิจ ฟื้นฟูการท่องเที่ยว แก้ปัญหาความยากจน ลดหย่อนภาษี แก้ปัญหาความสงบของบ้านเมือง ลดต้นทุนสินค้า ช่วยให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จัก และหาแหล่งเงินทุนในการต่อยอด ส่วนข้อเสนอและสิ่งที่ต้องการได้รับจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank นั้น คือ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ขั้นตอนกู้ไม่ยุ่งยาก เพิ่มวงเงินกู้ ไม่มีค่าธรรมเนียม ป้องกันข้อมูลส่วนตัวลูกค้า การให้ข้อมูลสินเชื่อ และให้โอกาสกิจการเกิดใหม่ นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า ผู้ประกอบการในตลาดนัดจตุจักร มีความสำคัญมาก เพราะทั้งหมดคือกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย และยังเป็นแหล่งค้าปลีกค้าส่ง เชื่อมโยงไปสู่ผู้ประกอบรายจิ๋วอีกมากมายทั้งประเทศ ธนาคารจึงเตรียมร่วมมือกับ กทม. ในฐานะผู้บริหารตลาด ยกระดับตลาดนัดจตุจักร เช่น จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด ช่วยทำการประชาสัมพันธ์ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ค้าภายในตลาดแห่งนี้สามารถจะค้าขาย สร้างรายได้ตลอด 7 วันของสัปดาห์ นอกจากนั้น “เติมทักษะ” ยกระดับความสามารถให้ผู้ค้าในตลาดขยายตลาดออนไลน์ ซึ่งกำลังเติบโตอย่างสูง ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น อบรมการค้าออนไลน์ หรือ e-commerce ปักหมุดธุรกิจแจ้งเกิดบนโลกออนไลน์ พาจับคู่ธุรกิจกับผู้ให้บริหารตลาดออนไลน์ อย่าง Shopee นำไปเปิดตลาดต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง จีน และอินเดีย รวมถึง มีโครงการพัฒนาด้านดีไซน์และบรรจุภัณฑ์ ให้โดนใจตลาด เป็นต้น ตามด้วย “เติมทุน” ด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ให้ผู้ประกอบการนำไปยกระดับธุรกิจ เช่น สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) บุคคลธรรมดาปีที่ 1-3 เพียง 0.42% ต่อเดือน และนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1-3 เพียง 0.25% ต่อเดือน และสินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 (กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ) อัตราดอกเบี้ยคงที่ 1% ต่อปี เป็นต้น และ “เติมคุณภาพชีวิต” พาเข้าถึงสิทธิ์ประโยชน์และสวัสดิการภาครัฐ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างความมั่นคงในอาชีพ และลดภาระให้ครอบครัว รวมถึง ธพว. จะนำข้อเสนอแนะจากกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ ไปพัฒนาบริการ ขั้นตอน รวมถึง ผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ เพื่อตอบความต้องการผู้ประกอบการในตลาดนัดจตุจักรได้อย่างดีที่สุด