เป็น “วิกฤติการเมือง” ที่หนักหนาสาหัสหนักหนา จนต้องจัดเป็นวาระเข้าสู่ที่ประชุม “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ” หรือ “ยูเอ็นเอสซี” กันเลยทีเดียว สำหรับ วิกฤตการเมืองของประเทศเวเนซุเอลา เจ้าของฉายาแดนสาวงาม ในภูมิภาคอเมริกาใต้ หรือลาตินอเมริกา ที่กำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์อันดุเดือดเลือดพล่าน ณ เวลานี้ ประชาชนชาวเวเนซุเอลา ยังคงชุมนุมประท้วงตามท้องถนนในกรุงคารากัส เพื่อขับไล่นายนิโคลัส มาดูโร ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี ด้วยปรากฏการณ์ของการชุมนุมประท้วงตะเพิดไล่ให้ “นายนิโคลัส มาดูโร” พ้นจาก “มิราฟลอเรส” ทำเนียบประธานาธิบดี ในกรุงคารากัส เมืองหลวงของประเทศ ก่อนนำไปสู่ปรากฏการณ์ประเทศมีประธานาธิบดี 2 คน เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อ “นายฆวน กัวอิโด” ผู้นำฝ่ายค้าน วัยเพียง 35 ปี จาก “พรรคเจตจำนงปวงชน ( (Popular Will Party)” ประกาศสถาปนาตนเองขึ้นดำรงตำแหน่ง “ประธานาธิบดีเฉพาะกาล” หรือ “รักษาการประธานาธิบดี” ก็ส่งผลให้แดนสาวงามแห่งนี้ มีประธานาธิบดี 2 คน ไปในทันที คือ ประธานาธิบดีมาดูโร วัย 56 ปี ที่เพิ่งผ่านพ้นพิธีสาบานตนรับตำแหน่งสมัยที่ 2 เมื่อช่วงต้นเดือน ม.ค. และนายกวยโด ผลที่ติดตามมาของปรากฏการณ์หาได้สงบจบลงไปไม่ ไม่ว่าจะทั้งในและนอกเวเนฯ เมื่อปรากฎว่า ในเวเนฯ นั้น ประชาชีจำนวนหนึ่ง ซึ่งต้องบอกว่า หาน้อยไม่ ได้สนับสนุนต่อนายกุยโด หลังแสดงพลังสนับสนุนกันมารอบหนึ่งแล้ว ผ่านบัตรเลือกตั้ง เมื่อเดือน พ.ค.ปีที่แล้ว ที่พลพรรคฝ่ายค้านได้รับชัยชนะเหนือพรรครัฐบาลของประธานาธิบดีมาดูโรอย่างถล่มทะลาย จนได้ “ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ” หรือ “ประธานรัฐสภา” ที่สามารถกล่าวได้ว่า มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองเวเนฯ ซึ่งมิใช่ใครอื่น แต่เป็น “นายกัวอิโด” ผู้มีอายุเพียง 35 ปี เท่านั้น นั่นเอง โดยกลุ่มประชาชนชาวเวเนฯ ข้างต้น ยังคงเดินหน้าชุมนุมประท้วงกันต่อ แม้ว่าจะมีปะทะกันอย่างดุเดือดเลือดพล่านกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจล จนมีผู้เสียชีวิตเกือบ 30 ราย และถูกจับกุมคุมขังไปอีกจำนวนหลายร้อยคน แต่ทว่า หาได้หยุดม็อบให้ลงถนนในแดนสาวงามกันต่อไปไม่ ขณะที่ ในต่างประเทศ ก็เกิดปรากฏการณ์ “แบ่งขั้วเลือกข้าง” อย่างแทบจะทำให้ “เวเนซุเอลา” ไม่ผิดอะไรกับสมรภูมิของ “สงครามตัวแทน” ระหว่างชาติมหาอำนาจของสองขั้วค่าย กันเลยทีเดียว โดย “มหาอำนาจชาติตะวันตก” ภายใต้การนำของ “สหรัฐอเมริกา” แสดงความสนับสนุนต่อนายกัวอิโด ซึ่งกลุ่มชาติที่อยู่ทางฟากนี้ ก็มีเช่น อังกฤษ แคนาดา บราซิล คอสตาริกา อาร์เจนตินา เปรู โคลอมเบีย เอกวาดอร์ ชิลี สเปน และองค์การนานารัฐอเมริกัน หรือโอเอเอส พร้อมกันนี้ ทางนายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ก็ออกมาเรียกร้องต่อนานาชาติให้มาสนับสนุนต่อนายกัวอิโด โดยระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่ชาติต่างๆ จะเลือกข้างกัน ล่าสุด ก็เป็น “สหภาพยุโรป” หรือ “อียู” 28 ประเทศ ซึ่งสนับสนุนไม่สนับสนุนเปล่า แต่ถึงขั้นออกแถลงการณ์มา “กดดัน” ให้ทางการเวเนซุเอลาของประธานาธิบดีมาดูโร จัดเลือกตั้งกันใหม่ภายใน 8 วัน กันเลยทีเดียว เรียกว่า วัดกันใหม่ด้วยเสียงประชาชนชาวเวเนฯ ว่าจะเลือกใคร ซึ่งเมื่อตามกระแสเสียงคะแนนนิยม ณ ชั่วโมงนี้ ต้องบอกว่า ทางฝั่งรัฐบาลมาดูโร เป็นรองฝ่ายค้านอยู่หลายขุม แบบถ้าฝ่ายรัฐบาลจะชนะได้ ก็ต้องมี “อภินิหาร” จากอะไรต่อมิอะไรหลายประการ จึงจะคว่ำฝ่ายค้านที่กำลังมาแรงแซงโค้ง ณ เวลานี้ได้ ด้วยประการฉะนี้ ทางการคารากัสของประธานาธิบดีมาดูโร โดยนายฆอร์เก อาร์เรียซา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเวเนซุเอลา ออกมาบอกปัดต่อการเรียกร้องของอียูข้างต้น ขณะที่ ทางฝ่ายประธานาธิบดีมาดูโร ก็หาได้ยืนโดดเดี่ยวเดียวดายไม่ เพราะมีเหล่าชาติมหาอำนาจของอีกฟากประกาศตัวให้การสนับสนุน ได้แก่ รัสเซีย จีนแผ่นดินใหญ่ เม็กซิโก ตุรกี อิหร่าน และซีเรีย โดยการแบ่งขั้วค่ายของทั้งสองฝ่าย ยังได้แสดงออกไปถึงการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอสซี ซึ่งหยิบยกประเด็นวิกฤติการเมืองเวเนซุเอลา ขึ้นหารือในการประชุมเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยซีกฟากสหรัฐฯ มหาอำนาจชาติสมาชิกถาวร ก็สนับสนุนต่อนายกัวอิโด เช่นเดียวกับ รัสเซียที่เป็นชาติสมาชิกถาวรระดับมหาอำนาจด้วยเหมือนกันนั้น ก็ให้ความสนับสนุนแก่นายมาดูโร ให้นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีในทำเนียบ “มิราฟลอเรส” ต่อไป การประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอสซี ว่าด้วยประเด็นเรื่องวิกฤติการเมืองในเวเนซุเอลา อย่างไรก็ดี แรงสนับสนุนหรือต่อต้านที่ว่า ถ้าดำเนินไปแบบเดี่ยวๆ เพียงประการเดียว บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า ไม่น่าจะสร้างความสะเทือนแก่นายมาดูไรเท่าไรนัก โดยสถาบันองค์กรที่จะสร้างความสั่นไหวให้แก่นายมาดูโร น่าจะเป็น “กองทัพ” เสียมากกว่า ว่าจะยืนเคียงข้างใคร ดูเหมือนว่า ชาติมหาอำนาจตะวันตก อย่างสหรัฐฯ ก็ทราบถึงเหตุปัจจัยนี้ โดยล่าสุด ก็มียุทธวิธีดึงเอานักการทหารคนสนิทของนายมาดูโร อย่าง นายพัน “โฆเซ หลุยส์ ซิลวา” ทูตทหารเวเนซุเอลา ประจำสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ที่ประธานาธิบดีมาดูโร ตั้งมากับมือนั้น ก็ได้แปรพักตร์ไปให้ความสนับสนุนนายกัวอิโดเรียบร้อยโรงเรียนอเมริกาแล้ว พ.อ. โฆเซ หลุยส์ ซิลวา ทูตทหารเวเนซุเอลา ประจำประเทศสหรัฐฯ พร้อมกันนั้น ทางการอังกฤษ ชาติพันธมิตรคู่หูของสหรัฐฯ ก็มีคำสั่งให้ธนาคาร “แบงก์ ออฟ อิงแลนด์” ไม่ถอนสินทรัพย์เป็นทองคำ ซึ่งมีมูลค่า 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้นายมาดูโร ที่ลอบมาฝากไว้กับธนาคาร แบบตัดท่อน้ำเลี้ยงของนายมาดูโร ที่อาจใช้เป็นกระสุนเม็ดเงินทุนหว่านล้อมกองทัพให้ยืนเคียงข้างเขาอีกต่อไป ก็ส่งผลให้นายมาดูโรขอเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อจัดตั้ง “สำนักงานดูแลรักษาผลประโยชน์” ของทั้งสองฝ่าย เป็นเวลา 30 วัน แบบยื้อขอซื้อเวลา หลังเก้าอี้ประธานาธิบดีในทำเนียบมิลาฟลอเรสที่นายมาดูโรนั่งอยู่นั้น “สั่นคลอน” อย่างรุนแรงหนักขึ้น