หลังเผยผลวิจัยพบสารก่อมะเร็งลอยละล่องในอากาศทั้งสารหนู ซีลีเนียม แคดเมียม ทั้งยังพบทังสเตน ซึ่งล้วนมีฤทธิ์ก่อมะเร็งได้ ระบุต้องพิจารณาหลากหลายประเด็นอย่างรอบคอบ จับมือญี่ปุ่นกำลังเร่งทำบัญชีระบายฝุ่นพิษ คาดเดือนเม.ย.นี้จะได้เสนอผลศึกษา จากกรณีที่ นายศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลวิจัยเกี่ยวข้องกับโลหะหนักในฝุ่นละออง PM 2.5 ที่วัดได้ในชั้นบรรยากาศทั่ว กทม. ประเด็นที่ 1.ผลวิจัย 1 ปี พบธาตุทางเคมีที่เป็นโลหะหนัก ซึ่งเป็นธาตุก่อมะเร็งปะปนอยู่ในอากาศระดับต้องเฝ้าระวังอยู่ถึง 3 ชนิด คือ “สารหนู” “ซีลีเนียม” และ “แคดเมียม” โดยกลุ่มธาตุพวกนี้เกิดจากการเผาไหม้ของอุตสาหกรรมและยานพาหนะ 2.คณะวิจัยฯ ได้เก็บค่าระดับความเข้มข้นของโลหะหนักในฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 จากสถานีตรวจวัดฝุ่นละออง ที่จุฬาฯเป็นเวลา 2 ปี พบธาตุโลหะหนักเพิ่มอีก 2 ชนิดคือ “ทังสเตน” และ “แคดเมียม” โดยธาตุ 2 ชนิดนี้พบในส่วนผสมของโลหะดิสก์เบรกยานยนต์ เพราะปริมาณโลหะหนักที่ปนเปื้อนในอากาศตอนนี้ทั้งหมดมีฤทธิ์ก่อมะเร็งในร่างกายได้ หากสะสมไว้ปริมาณมาก นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ. ได้กล่าวชี้แจงว่า ปริมาณฝุ่น รวมทั้งองค์ประกอบของฝุ่นจะแตกต่างกันตามฤดูกาล และกิจกรรมในบริเวณใกล้เคียง การวิเคราะห์องค์ประกอบของฝุ่นสามารถใช้เพื่อศึกษาแหล่งกำเนิดของฝุ่นได้ เช่น โปแตสเซียม (K) เป็นองค์ประกอบจากแหล่งกำเนิดการเผาไม้ (wood burning), สังกะสี (Zn) เป็นองค์ประกอบจากแหล่งกำเนิดเผามูลฝอย , โซเดียม (Na) เป็นองค์ประกอบของฝุ่นละอองจากทะเล, นิกเกิล (Ni) เป็นองค์ประกอบจากแหล่งกำเนิดการเผาไหม้น้ำมัน (oil burning), อะลูมิเนียม (Al) เหล็ก (Fe) แมงกานีส (Mn) แคลเซียม (Ca) เป็นองค์ประกอบของฝุ่นในเมืองหรือฝุ่นฟุ้งกระจายจากถนน และ สารหนู (As) แคดเมียม (Cd) เป็นองค์ประกอบของฝุ่นจากอุตสาหกรรม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม บุคคลมีความแตกต่างกันอย่างมากในหลายประการ เช่น ความแข็งแรง โรคประจำตัว อุปนิสัย เป็นต้น การพิจารณาผลกระทบจากปริมาณฝุ่นและองค์ประกอบทางเคมีของฝุ่นที่บุคคลได้รับ ในประเด็นนี้ จึงต้องพิจารณาประเด็นต่างๆ อย่างรอบคอบ นายประลองกล่าว่า ปัจจุบัน หลายประเทศ รวมถึงไทย ได้กำหนดค่ามาตรฐานสำหรับองค์ประกอบทางเคมีของฝุ่นบางชนิดเป็นค่ามาตรฐานแล้ว เช่น ตะกั่ว มีแหล่งกำเนิดหลักเป็นองค์ประกอบในน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับไทยได้กำหนดค่ามาตรฐานของตะกั่วซึ่งเป็นองค์ประกอบของฝุ่นมาตั้งแต่ปี 2538 (ค่ามาตรฐานตะกั่วในบรรยากาศ เฉลี่ย 1 เดือน ไม่เกิน 1.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) นอกจากนี้ คพ. มีโครงการความร่วมมือ ไทย-ญี่ปุ่น ด้านการจัดการคุณภาพอากาศ ซึ่งกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ การจัดทำบัญชีการระบายฝุ่นละอองขนาดเล็ก การวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีและแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง และการพัฒนานโยบายมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองสำหรับประเทศไทย โดยมีระยะเวลาดำเนินการอย่างน้อย 2 ปี (2561-2563) ทั้งนี้ ผลการศึกษาของโครงการความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น รวมทั้งโครงการความร่วมมือกับ ม.เทคโนโลยีสุรนารี ได้กำหนดให้มีการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีต่าง ๆ สำหรับการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีที่ไม่สามารถดำเนินการในประเทศไทยได้ เช่น ปริมาณธาตุคาร์บอน(elemental carbon) ปริมาณอินทรีย์คาร์บอน (organic carbon) ได้รับความอนุเคระห์จาก Asia Center for Air Pollution Reserch ภายใต้กระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่น ดำเนินการ คาดว่าจะนำเสนอผลการศึกษาดังกล่าวในการสัมมนาครั้งที่ 3 ในเดือนเม.ย.62