สทนช. ชูแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ (Area Based) พร้อมเดินตาม พรบ.น้ำ’61 เน้นการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการลุ่มน้ำ ลดความขัดแย้งในพื้นที่ วันนี้ (27 ม.ค.62 นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ตามที่“กลุ่มเครือข่ายปกป้อง ดิน-น้ำ-ป่า บนผืนแผ่นดินใต้” เสนอให้ยุติโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ โดยมีความเข้าใจว่าโครงการที่เกิดขึ้นนั้น รัฐบาลเร่งดำเนินการเพื่อรองรับแหล่งอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตตามที่ปรากฏเป็นข่าวนั้น สทนช. ขอเรียนว่า รัฐบาลมีนโยบายให้จัดทำแผนแม่บทเพื่อวางรากฐานการบริหารจัดการน้ำให้เป็นระบบ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน ไม่ได้เน้นการผลักดันโครงการขนาดใหญ่ หรือการก่อสร้างเท่านั้น แต่ใช้การดำเนินการแบบคู่ขนาน โดยเริ่มจากการวางแผนยุทธศาสตร์น้ำตั้งแต่ปี 2558 เพื่อหาความต้องการน้ำที่แท้จริงของประเทศไทย หาแนวทางการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม คุณภาพน้ำ มีรูปแบบการพัฒนาที่หลากหลาย เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และปัญหาน้ำ โดยไม่ทิ้งการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก และขนาดกลาง ตลอดจนการฟื้นฟูดูแลป่าต้นน้ำ เป้าหมายเร่งด่วน คือ การจัดทำระบบน้ำประปาหมู่บ้านให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ และในช่วงฤดูแล้งปี 2558/2559 รัฐบาลใช้แนวทางเร่งด่วน จัดทำแก้มลิงเพื่อเก็บกักน้ำก่อนไหลออกนอกประเทศ ควบคู่กับการน้ำโครงการสำคัญที่ยังติดขัดเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาศึกษาให้ชัดเจน พร้อมเสนอแผนป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งน้อมนำศาสตร์พระราชาและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมาดำเนินการ หลังจากนั้น จึงได้จัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในปี 2560 เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลงานนโยบายด้านน้ำของทุกหน่วยงานให้ดำเนินการในทิศทางเดียวกัน ลดความซ้ำซ้อนของแผนงานงบประมาณ และตรงกับความต้องการของพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านน้ำแบบบูรณาการของประเทศตามนโยบายและเป้าหมายของรัฐบาล สทนช. จึงได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายการการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ (Area Based) โดยวางแผนการดำเนินการที่ใช้ทั้งมาตรการที่ใช้สิ่งก่อสร้างและไม่ใช้สิ่งก่อสร้างร่วมกัน รวม 66 พื้นที่ โดยพิจารณาจากพื้นที่ประสบปัญหาด้านน้ำซ้ำซากทั้งท่วม แล้ง และคุณภาพน้ำ ตลอดจนจัดหาน้ำเพื่อส่งเสริมพื้นที่พิเศษ เช่น การท่องเที่ยว และเขตเศรษฐกิจพิเศษ สำหรับในพื้นที่ภาคใต้ มีพื้นที่ที่ต้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ (Area Based) 15 แห่ง รวม 2.393 ล้านไร่ ใน 11 จังหวัด เป็นพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัย 11 แห่ง ประสบปัญหาทั้งอุทกภัย-ภัยแล้ง 1 แห่ง และพื้นที่พิเศษสนับสนุนการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ 3 แห่ง เมื่อได้พื้นที่เป้าหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำแผนปฏิบัติการหรือโครงการแบบบูรณาการ เพื่อแก้ปัญหาในแต่ Area-based ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการดังกล่าว ต้องนำความเห็นของกรรมการลุ่มน้ำเสนอประกอบการพิจารณา เสนอตามขั้นตอนของการพิจารณาเห็นชอบแผนงานโครงการและงบประมาณต่อไป ในส่วนของการดำเนินงานเพื่อหาจุดร่วมของการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ปัจจุบันประเทศไทยมีพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นกฎหมายน้ำฉบับแรก ระบุให้มีกรรมการลุ่มน้ำในทุกลุ่มน้ำทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนในพื้นที่ มีสิทธิและหน้าที่ในการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำ ดังนั้นโครงการสำคัญ แผนปฏิบัติการระดับลุ่มน้ำ แผนป้องกันภัยแล้ง แผนป้องกันน้ำ ทุกลุ่มน้ำต้องจัดทำ โดยการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อสร้างความมั่นใจว่า โครงการจะก่อให้เกิดประโยชน์กับคนในพื้นที่อย่างแท้จริง และที่สำคัญ คือ การดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ ต้องทำให้ผู้ได้รับผลกระทบสามารถดำรงชีวิตได้โดยไม่ด้อยไปกว่าเดิม การจัดทำหมู่บ้านนิคมสำหรับผู้สูญเสียที่ดินทำกิน ควบคู่กับการส่งเสริมอาชีพ เป็นต้น ดังนั้นหน่วยงานต่างๆ ต้องดำเนินการขับเคลื่อนโครงการตามที่กฎหมายและระเบียบกำหนดไว้ทุกขั้นตอน