พด. แนะเกษตรกรในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ให้เลิกเผาทำลายตอซังพืช ฟางข้าว และเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นา สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมลพิษและปัญหาหมอกควันไฟทำลายคุณภาพดินให้เสื่อมโทรมปลูกพืชได้ผลผลิตที่ไม่คุ้มกับต้นทุน โดยใช้วิธีการไถกลบตอซังพืช ร่วมกับการใช้น้ำหมักชีวภาพคุณภาพสูงที่ผลิตจาก สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 เพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโลก วันนี้ (26 ม.ค.62) นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ปัญหาหมอกและควันจากการเกิดไฟป่า และจากการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำซากเป็นประจำทุกปีในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน พะเยา แพร่ น่าน และตาก โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคมของปีถัดไป จะมีสภาพหมอกควันปกคลุมหนาแน่นเป็นบริเวณกว้างและพบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐาน สาเหตุหลักเกิดจากเผาขยะเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นาและการเผาป่าไม้เพื่อเตรียมพื้นที่ทำการเกษตร ทำให้คุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยของประชาชน และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทำให้ลดทัศนวิสัยการมองเห็น ทำให้เกิดอุบัติเหตุอันตรายบนท้องถนน โดยในปี 2561 กรมพัฒนาที่ดิน ได้บูรณาการทำงานร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ ดำเนินโครงการส่งเสริมการไถกลบตอซังพืชและการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อป้องกันปัญหาหมอกควันในพื้นที่เกษตรกรรมภาคเหนือ โดยใช้ดาวเทียม Terra และ Aqua ระบบ MODIS ติดตามจุดความร้อนที่เกิดขึ้น และนำแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินมาซ้อนทับเพื่อจำแนกเขตพื้นที่เกษตร ป่าไม้ และอื่นๆ พบว่า ช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2560 มีปริมาณจุดความร้อนที่เกิดขึ้นทั่วประเทศจำนวน 15,949 จุด หลังจากดำเนินการโครงการในปี 2561 ปริมาณจุดความร้อนลดลงเหลือ 14,564 จุด นอกจากนี้ ยังพบว่าในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ มีปริมาณจุดความร้อนลดลงอีกด้วย โดยในปี 2560 พบจำนวนจุดความร้อน 5,397 จุด แต่ปี 2561 ลดลงเหลือ 4,721 จุด เนื่องมาจากการดำเนินงานของภาครัฐและประชาชน ที่ให้ความร่วมมือกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ส่งเสริมให้เกษตรกรลด ละ เลิก การเผาเศษวัสดุทางการเกษตร จึงมีมาตรการในการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ การเกิดไฟป่าและการเผาวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่ขนาดใหญ่ ซึ่งถ้าหากสามารถทราบถึงจุดพื้นที่ที่อ่อนไหวต่อการเผาเศษพืชเศษวัสดุทางการเกษตรจะทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถที่จะทำการรณรงค์ ส่งเสริม ลด ละ เลิก การเผา และแนะนำการบริหารจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรให้เข้าถึงเกษตรกรได้อย่างถูกต้องตรงกับพื้นที่เป้าหมาย จึงได้จัดทำ “โครงการส่งเสริมการไถกลบและการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อป้องกันหมอกและควันไฟในพื้นที่ภาคเหนือ” ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561–กันยายน 2562 โดยให้สถานีพัฒนาที่ดินทั้ง 9 จังหวัดภาคเหนือ ร่วมกับหมอดินอาสาประจำหมู่บ้านต่างๆ ในชุมชน เร่งรณรงค์ให้ความรู้แก่เกษตรกรถึงผลเสียของการเผาตอซังพืชและผลดีที่จะได้รับ เช่น ถ้าไม่เผาเลยจะช่วยลดปัญหาหมอกควันได้อย่างดี ไม่เป็นการทำลายโครงสร้างของดิน ให้ใช้วิธีไถกลบลงในดินแทนเพื่อเป็นปุ๋ยบำรุงคุณภาพดินให้ดี ซึ่งการไถกลบตอซังข้าว ข้าวโพด ซังอ้อย และตอซังพืชต่างๆ ในพื้นที่ 1 ไร่ จะเป็นเพิ่มธาตุอาหารลงดิน ได้แก่ ธาตุไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโพแตสเซียม (K) คิดเป็น มูลค่า 900 บาท/ไร่ จะทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ "ขอความร่วมมือจากประชาชนให้เลิกพฤติกรรมการเผาเศษไม้ ใบไม้ เศษหญ้า วัชพืชในพื้นที่โล่งเตียนและไม่จุดไฟเผาป่า พร้อมทั้งให้การสนับสนุนเกษตรกรในการทำปุ๋ยหมักคุณภาพสูง สูตรพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้เกษตรกรนำใช้ในพื้นที่ปลูกข้าว ข้าวโพด และอ้อย พื้นที่เป้าหมาย 100,000 ไร่ ทั้งนี้ เพื่อให้มีความรู้ความสามารถที่จะบริหารจัดการเศษวัสดุตามหลักวิชาการในพื้นที่ของตนเอง และให้ปรับเปลี่ยนความคิดตลอดจนวิธีการทำเกษตรกรรมจากเดิมที่เป็นการเผาทำลายทิ้ง ให้เป็นการใช้วิธี ไถกลบแทนโดยนำมาผลิตเป็นปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นการทำเองใช้เองเพื่อช่วยลดต้นทุนในการปรับปรุง บำรุงดินให้มีคุณภาพที่ดี รวมทั้งเป็นการป้องกันการเกิดจุดความร้อน (Hotspot) มิให้เพิ่มขึ้นและช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมทางอากาศ ที่ทำให้เกิดภาวะก๊าซเรือนกระจกสาเหตุที่ทำให้โลกร้อน เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไป จะได้รับผลกระทบด้านสุขภาพน้อยลง ที่สำคัญยังช่วยในการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำเพื่อความยั่งยืนได้เป็นอย่างดี"อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าว