“กฤษฏา" นั่งไม่ติด จี้กรมชลฯ สกัดม็อบต้านเขื่อนภาคใต้ นครศรี-เมืองลุง ด้านแกนนำเครือข่ายปกป้องดินน้ำป่า เตรียมยกระดับเคลื่อนไหวใหญ่ วันที่ 27 ม.ค.อีก 2 ม็อบมาสมทบ วันนี้ (26 ม.ค.62) นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการด่วนที่สุดให้นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน และคณะอนุกรรมการพัฒนาเกษตรและสหกรณ์ จ.นครศรีธรรมราช และพัทลุง ลงชี้แจงข้อเท็จจริงกับกลุ่มประชาชนจาก จ.นครศรีธรรมราชและจ.พัทลุงจำนวนหนึ่งได้คัดค้านโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งรวมทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัดรวม 4 โครงการโดยได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยให้เร่งทำความเข้าใจใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1.ถึงที่มาหรือต้นเรื่องของการจัดทำโครงการทั้ง 2 จังหวัดเกิดจากปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม น้ำแล้ง จึงได้ร้องเรียนขอให้ทางราชการแก้ไขปัญหาและพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ดังกล่าว ดังนั้น โครงการทั้ง 4 แห่ง จึงไม่ใช่โครงการที่กรมชลประทานได้ริ่เริ่มแต่เพียงฝ่ายเดียวหรือคิดขึ้นมาเองโดยไม่มีเหตุผลและความจำเป็นแต่อย่างใด 2.กรมชลประทานในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่แก้ไขปัญหาของประชาชนตามข้อ 1 ได้ดำเนินการจัดทำโครงการแก้ไขปัญหาและพัฒนาแหล่งน้ำทั้ง 2 จังหวัดรวม 4 โครงการ ตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายรวมทั้งระเบียบของทางราชการที่กำหนดไว้ทุกประการ เช่น การขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการใช้พื้นที่ดำเนินการ/การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม/การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ เป็นต้น 3.โครงการทั้ง 4 แห่งส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้นตอนแรกคือการลงไปสำรวจบริเวณพื้นที่โครงการให้ชัดเจนก่อน เพื่อนำข้อมูลพื้นที่จริงมาเปรียบเทียบกับผลการศึกษาที่ได้ทำไว้แล้ว หากผลการสำรวจพื้นที่จริงมีปัญหาที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนก็จะได้ปรับแก้ไข ก่อนลงมือดำเนินการก่อสร้างจริง เช่นการปรับเปลี่ยนบริเวณก่อสร้างให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศจริง การลดหรือเพิ่มพื้นที่ก่อสร้างเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการให้มากที่สุด 4.ขอให้กรมชลประทานและอพก.ทั้ง 2 จังหวัด จัดเจ้าหน้าที่หรือหาวิธีประชาสัมพันธ์หรือลงไปชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนทั้งในพื้นที่และผู้สนใจได้เข้าใจและรับทราบการทำงานของหน่วยราชการต่างๆว่าได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้แล้วทุกประการ หากประชาชนรายใด กลุ่มใดมีข้อมูลที่ต้องการให้กรมชลประทานรับไปแก้ไขเพิ่มเติมหรือแม้กระทั่งการระงับโครงการก็สามารถยื่นข้อมูลมาได้เพื่อกรมชลประทานจะได้นำมาพิจารณาตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ และหากประชาชนยังเห็นว่าการดำเนินการของกรมชลประทานและหน่วยราชการที่ได้กระทำการลงไปแล้วเป็นการดำเนินการที่ผิดหรือขัดกับกฎหมายและหรือระเบียบราชการกำหนดไว้ก็สามารถยื่นคำคัดค้านต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราชได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้นและหากเห็นว่าหากการที่กรมชลประทานลงไปสำรวจพื้นที่เบื้องต้นจะทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จนไม่สามารถเยียวยาแก้ไขในภายหลังได้ประชาชนผู้คัดค้านก็สามารถยื่นคำขอต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราชให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อระงับการดำเนินการของกรมชลประทานไว้ก่อน ในระหว่างพิจารณาคดี ก็ได้ ด้าน นายประสิทธิชัย หนูนวล ผู้แทนเครือข่ายปกป้องดินน้ำป่านครศรีธรรมราช-พัทลุง ได้นำชาวบ้านกว่า200 คนที่ได้รับกระทบจากโครงการของกรมชลประทาน ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์เจตนารมณ์หน้ากระทรวงเกษตรฯว่ามีเครือข่ายเข้าร่วม 4 พื้นที่ เมื่อวานเดินขบวนมาจากหัวลำโพง จะรอฟังคำชี้แจงจากกรมชลประทานตามที่ได้ส่งหนังสือเรียกร้องให้ยุติการดำเนินการก่อสร้างเขื่อน-คลองผันน้ำ-ประตูกั้นน้ำ 4 แห่งในทั้ง 2 จังหวัด และกล่าวถึงกรณีที่ที่นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า หากประชาชนเห็นว่าการดำเนินการของหน่วยราชการนั้นผิดหรือขัดกับกฎหมาย ตลอดจนระเบียบราชการสามารถยื่นคำคัดค้านต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราชได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งหากเห็นว่า จากการกรมชลประทานลงไปสำรวจพื้นที่เบื้องต้นจะทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จนไม่สามารถเยียวยาแก้ไขในภายหลังได้ ประชาชนผู้คัดค้านสามารถยื่นคำขอต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราชให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อระงับการดำเนินการของกรมชลประทานไว้ก่อนในระหว่างพิจารณาคดีได้นั้น ทางเครือข่ายฯ มองว่า การยื่นฟ้องศาลปกครองอาจได้เพียงคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับโครงการ แต่สิ่งที่ต้องการคือ ให้ครม. มีมติยกเลิกโครงการโครงการเขื่อนวังหีบ อ.ทุ่งสง จ.พัทลุงและโครงการคลองผันน้ำเมืองนคร จ.นครศรีธรรมราชซึ่งครม. ได้อนุมัติให้ดำเนินการก่อนหน้านี้ ส่วนโครงการเขื่อนคลองสังข์ อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราชและโครงการประตูกั้นน้ำปากประ จังหวัดพัทลุงซึ่งยังไม่มีมติครม. ดังนั้นกรมชลประทานสมควรทำหนังสือยุติโครงการทันที เพราะจะปกป้องป่าคงสภาพเดิมเป็นป่าโบราณที่ยังมีธรรมชาติความสมบูรณ์ผืนสุดท้ายของประเทศเหมาะกับเป็นแหล่งท่องเที่ยวควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ให้ได้ ทั้งนี้ ทางเครือข่ายเห็นว่า ปัญหาอุทกภัยซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญในใช้อ้างอิงในการดำเนินโครงการนั้น เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกที่ เมื่อมีฝนตกหนัก แต่ด้วยสภาพภูมิประเทศของภาคใต้ซึ่งเป็นที่ลาด อีกทั้งมีทางออกสู่ทะเล ไม่ได้ทำให้น้ำท่วมขังนาน ไม่จำเป็นต้องแก้ปัญหาด้วยการใช้งบประมาณมหาศาลทำเขื่อนหรือโครงการขนาดใหญ่ซึ่งจากข้อมูล ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แต่รัฐบาลสามารถแก้ปัญหาและพัฒนาแหล่งน้ำโดยไม่ต้องใช้โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ได้ แล้วหันไปแก้ปัญหาโดยจัดผังเมือง กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเช่น สะพานหรือถนนที่ขวางทางระบายน้ำออกสู่ทะเล ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตชุมชน ในวันอาทิตย์ที่ 27 ม.ค.62 ทางเครือข่ายฯ ขอเรียกร้องต่อประชาชนทั่วประเทศได้ออกมาร่วมปกป้อง ดินน้ำป่า กับทางเครือข่าย เพราะมีเพียงอำนาจประชาชนเท่านั้นที่จะปกป้องทรัพยากรธรรมชาติไว้ได้ โดยขอเชิญเข้าร่วมกิจกรรม รวมพลคนรักดินน้ำป่า ประเทศไทย ครั้งที่ 1 หน้าสำนักงาน สปก.ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป สำหรับการยกระดับการเคลื่อนไหวต่อไป อยู่ระหว่างเตรียมการณ์ และในวันพรุ่งนี้จะมีชาวบ้านที่เดือดร้อนจากทั้ง 2 จังหวัดมาสมทบ