รัฐมนตรีเกษตรฯ ชู "กฤษฎาโมเดล" จากโครงการปลูกข้าวโพดหลังนา เป็นต้นแบบการวางแผนการผลิตภาคการเกษตรของประเทศ ซึ่งในอนาคตเกษตรกรจะทำเกษตรกรรมใด จะต้องรวมกลุ่มกันทำและผลิตตามความต้องการของตลาดเพื่อไม่ต้องประสบภาวะราคาผลผลิตตกต่ำและมีรายได้มั่นคงยั่งยืน วันนี้ (24 ม.ค.62) นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจความก้าวหน้าโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ณ บ้านเปือย หมู่ที่ 5 ตำบลโนนทัน อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นแปลงปลูกข้าวโพดของนางทองเที่ยง สุดจอมและนายสำลี ล้นทม สมาชิกสหกรณ์การเกษตรหนองเรือ จำกัด นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลังนาเป็นนโยบายสำคัญที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งหวังที่จะสร้างสมดุลของปริมาณผลผลิตข้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรัง แล้วหันมาปลูกพืชอื่นที่มีศักยภาพและสามารถบริหารจัดการด้านการตลาดได้ทดแทน ในปีนี้นำร่องส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นต้นแบบเนื่องจากได้ศึกษาความต้องการของตลาดพบว่า ไทยยังผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ปัจจุบันผลิตได้ปีละ 5 ล้านตัน แต่ตลาดต้องการ 8 ล้านตัน ยังขาดอยู่ 3 ล้านตัน ทั้งนี้ก่อนจะจัดทำโครงการนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ศึกษารูปแบบการทำการเกษตรของประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมถึงให้ผู้ช่วยทูตฝ่ายเกษตรซึ่งมี 11 สำนักงานใน 9 ประเทศเช่น สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย จีนญี่ปุ่น เป็นต้น พบว่า เกษตรกรจะทำเกษตรแบบรวมกลุ่ม และจะสำรวจความต้องการของตลาดก่อน แล้วจึงเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และทำประมงให้ผลผลิตสมดุลกับความต้องการของตลาดเพื่อไม่ให้ผลผลิตล้นเกิน จนราคาตกต่ำหรือถูกคนกลางกดราคา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้ปรับกระบวนการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงใหม่ให้บูรณาการกัน โดยก่อนเริ่มโครงการปลูกข้าวโพดหลังนานั้น กรมพัฒนาที่ดินจะสำรวจพื้นที่ที่ดินมีคุณสมบัติเหมาะสม กรมชลประทานสำรวจและเพิ่มศักยภาพการจัดสรรน้ำให้เพียงพอตลอดฤดูกาลเพาะปลูก 4 เดือน กรมส่งเสริมการเกษตรเข้ามาให้คำแนะนำในการปลูกและดูแลแปลง กรมวิชาการเกษตรเข้ามาช่วยแนะนำเรื่องการให้ปุ๋ยและการกำจัดแมลงศัตรูพืช กรมปศุสัตว์ประสานสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ในการเข้าทำข้อตกลงรับซื้อผลผลิต กรมส่งเสริมสหกรณ์สนับสนุนให้สหกรณ์การเกษตรทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรกิจจัดหาเมล็ดพันธุ์ ปัจจัยการผลิต รวมทั้งตั้งจุดรวบรวมและรับซื้อผลผลิตเพื่อส่งให้บริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์ต่อไป ซึ่งขณะนี้สามารถจัดตั้งจุดรับซื้อได้ครอบคลุมทุกอำเภอใน 37 จังหวัดของโครงการ ทำให้เกษตรกรไม่ต้องขนผลผลิตไปขายเป็นระยะทางไกล เพิ่มต้นทุนค่าขนส่งขึ้นอีก นายกฤษฎา กล่าวว่า ในจังหวัดขอนแก่น เกษตรกรเริ่มปลูกข้าวโพดได้ 45 วันแล้ว คาดว่า จะเก็บผลผลิตได้ปลายเดือนเมษายนถึงต้นพฤษภาคม ซึ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หน้าแล้งนั้น สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ระบุว่า มีคุณภาพดี ความชื้นต่ำเนื่องจากเมื่อข้าวโพดแก่ ยังไม่มีฝน เมล็ดเสียจึงน้อย อีกทั้งสมาคมผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ของไทยร่วมให้ความรู้ จัดทำแปลงสาธิต เป็นพี่เลี้ยงทุกขั้นตอนจนกระทั่งเก็บผลผลิต จึงคาดว่า ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 1,200 กิโลกรัม หากดูแลดีสามารถสูงถึง 1,500 ถึง 1,800 กิโลกรัมต่อไร่ดังเช่นที่แปลงนำร่องในจังหวัดอุตรดิตถ์และพิษณุโลกประสบผลสำเร็จมาแล้ว เมื่อหักต้นทุนการผลิตทั้งหมดจะมีกำไร 3,000 ถึง 4,000 บาท ขณะที่ข้าวนาปรังได้กำไรเพียง 300 ถึง 400 บาทต่อไร่ การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จึงได้กำไรมากกว่า 10 เท่า โดยกระทรวงเกษตรฯ จะใช้เป็นต้นแบบส่งเสริมเพื่อส่งเสริมการปลูกพืชชนิดอื่นๆ หลังฤดูทำนาในปีต่อๆ ไป เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และพืชผัก โดยจะต้องทำเกษตรแบบแปลงใหญ่หรือสหกรณ์เพื่อให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตและมีกำลังในการต่อรองราคาขายให้ได้รับความเป็นธรรม ไม่ถูกกดราคาจากคนกลางเหมือนที่ผ่านๆ มา "ตามฐานข้อมูลเกษตรกรนั้น ประเทศไทยมีผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม 7.5 ล้านครัวเรือนซึ่งจากนี้ไปจะต้องเข้าสู่แผนการผลิตภาคการเกษตรของประเทศเพื่อสร้างความมั่นใจว่า มีผู้รับซื้อผลผลิตทั้งหมด ได้รับราคาเป็นธรรม หากเกิดภัยพิบัติมีระบบประกันภัยจ่ายค่าชดเชยให้ ดังนั้นต่อไป รัฐไม่ต้องนำงบประมาณเป็นจำนวนมากมารับจำนำผลผลิตหรือรับซื้อในราคานำตลาด ซึ่งที่ผ่านมา แต่ละปีต้องใช้งบหลายแสนล้านบาท อีกทั้งเมื่อซื้อผลผลิตแล้ว ยังต้องเสียค่าเช่าโกดังเก็บรักษา ผลผลิตเสื่อมคุณภาพ หรือเกิดปัญหาผลผลิตที่เก็บไว้หาย ต้นแบบนี้เป็น 'กฤษฎาโมเดล' ซึ่งแม้ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาล ยังคงใช้เป็นแนวทางการดูแลเกษตรกรให้มีรายได้มั่นคงและยั่งยืนได้ต่อไป"นายกฤษฎา กล่าว ด้าน นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า สำนักงานสหกรณ์จังหวัดขอนแก่นร่วมกับหน่วยงานสำรวจเกษตรกรที่มีความพร้อมและสมัครใจเข้าร่วมโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อการสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาจำนวนทั้งสิ้น 1,053 ราย พื้นที่เพาะปลูก 6,389.75 ไร่ คาดว่าจะได้ปริมาณผลผลิตข้าวโพด 9781 ตัน ในจำนวนนี้เป็นสมาชิกสหกรณ์จำนวน 64 ราย พื้นที่เพาะปลูก 315 ไร่ ซึ่งสหกรณ์จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว โดยทำหน้าที่บริหารจัดการผลผลิตเริ่มตั้งแต่การส่งเสริมการผลิตให้เกษตรกร จัดหาเมล็ดพันธุ์ ปัจจัยการผลิตต่างๆ ประสานหน่วยงานที่มีนักวิชาการเกษตรเข้ามาถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการดูแลพื้นที่เพาะปลูก การเก็บเกี่ยวผลผลิต การรวบรวมผลผลิต ตลอดจนจัดหาตลาดมารับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกร ซึ่งในจังหวัดขอนแก่นมีสหกรณ์ภาคเกษตรที่มีความพร้อมเปิดจุดรับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรหนองเรือ จำกัด สหกรณ์การเกษตรบ้านฝาง จำกัด สหกรณ์การเกษตรภูเวียง จำกัด สหกรณ์การเกษตรชุมแพ จำกัด สหกรณ์การเกษตรน้ำพอง จำกัด สหกรณ์การเกษตรเขาสวนกวาง จำกัด สหกรณ์การเกษตรกระนวน จำกัด สหกรณ์การเกษตรอุบลรัตน์ จำกัด สหกรณ์การเกษตรมัญจาคีรี จำกัด สหกรณ์การเกษตรชนบท จำกัด ซึ่งสหกรณ์มีอุปกรณ์การตลาดทั้งโกดัง ลานตาก พร้อมสำหรับการเก็บรวบรวมข้าวโพดจากเกษตรกร ก่อนจะส่งขายให้กับบริษัทเอกชนในอำเภอชุมแพ เพื่อนำไปอบลดความชื้นและแยกสิ่งเจือปน เพื่อส่งให้กับโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งโครงการนี้เป็นการเชื่อมโยงความร่วมมือจัดการข้าวโพดแบบครบวงจรระหว่างภาครัฐ สหกรณ์ และภาคเอกชน รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า สำหรับแปลงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของนางทองเที่ยง สุดจอมและนายสำลี ล้นทม ซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรหนองเรือ จำกัด นั้น เกษตรกรทั้ง 2 รายนี้ได้เริ่มทดลองหันมาปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ พื้นที่เดิมเคยทำนาและปลูกผักสวนครัว และใช้น้ำใต้ดิน(น้ำบาดาล)ในการเพาะปลูก ซึ่งการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา เนื่องจากมีความมั่นใจในมาตรการที่ภาครัฐให้การสนับสนุน ทั้งการสนับสนุนสินเชื่อจากธกส.อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 การทำประกันภัยพืชผลเพื่อป้องกันความเสี่ยงเมื่อเกิดความเสียหายในการเพาะปลูก และยังได้มีการประสานกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์และภาคเอกชนในการเข้ามารับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ โดยมีสหกรณ์เป็นตัวกลางในการดูแลและบริหารจัดการผลผลิตให้กับเกษตรกร นายวิศิษฐ์กล่าวว่า ส่วนต้นทุนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของสมาชิกสหกรณ์/เกษตรกรในพื้นที่อำเภอหนองเรือ เฉลี่ย 4,980 บาทต่อไร่ โดยรวมต้นข้าวโพดมีความเจริญเติบโตสมบูรณ์ คาดว่าจะได้ผลผลิตเฉลี่ย 1,500–2,000 กก.ต่อไร่ ซึ่งสหกรณ์จะรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด โดยรับซื้อเป็นข้าวโพดฝักแก่เมล็ดติดฝักปลอกเปลือก ในราคาไม่ต่ำกว่า 5 บาทต่อกิโลกรัมในระดับความชื้น 27-30 % หรือหากสีแกะเมล็ด นำไปปรับปรุงคุณภาพจนได้ความชื้นร้อยละ 14.5 จะขายได้ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 8 บาทแน่นอน ซึ่งจากแปลงนำร่องที่เก็บเกี่ยวและขายแล้ว เกษตรกรมีรายได้ไม่ต่ำกว่าไร่ละ 9,000 บาท เมื่อหักต้นทุนการผลิตแล้วมีกำไรเฉลี่ย 4,020 บาทต่อไร่ และคาดว่าโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาจะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในจังหวัดขอนแก่นไม่น้อยกว่า 48 ล้านบาท