กรมชลประทาน ขอความร่วมมือชาวเกษตรกรลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไม่เพาะปลูกข้าวต่อเนื่องหลังการเก็บเกี่ยว พร้อมจัดรอบเวรสูบน้ำด้วยไฟฟ้า เพื่อช่วยให้การบริหารจัดการน้ำดำเนินไปตามแผนที่ได้วางไว้ และสำรองน้ำไว้ใช้ในอนาคตได้อย่างยั่งยืน วันนี้ (24 ม.ค.62) ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลัก ลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ปัจจุบัน(24 ม.ค.62) มีปริมาณน้ำรวมกัน 16,496 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 66 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 9,800 ล้าน ลบ.ม. สำหรับแผนการบริหารจัดการน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตชลประทานปี 2561/62 กรมชลประทาน ได้ทำการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง ในช่วงวันที่ 1 พ.ย. 61 ถึง 30 เม.ย. 62 จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตรและอื่นๆรวม 8,000 ล้าน ลบ.ม. ส่วนภาคการเกษตร ได้ทำการส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง 6.91 ล้านไร่ ประกอบด้วย ข้าวนาปรัง 5.30 ล้านไร่ ข้าวโพด 0.70 ล้านไร่ พืชไร่พืชผัก 0.07 ล้านไร่ และพืชอื่นๆ 0.83 ล้านไร่ ในส่วนของผลการจัดสรรน้ำ ล่าสุด (24 ม.ค.62) มีการใช้น้ำไปแล้ว(ตั้งแต่ 1 พ.ย.61-22 ม.ค.62) ประมาณ 3,852 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าแผนฯตามช่วงดังกล่าว 412 ล้านลูกบาศก์เมตร เนื่องจากมีการเพาะปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ตอนบนเกินกว่าแผนฯ ที่ตั้งไว้ ทำให้ต้องเพิ่มการระบายน้ำมากกว่าแผนฯเป็นช่วงๆ เพื่อการรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาและระบบชลประทาน พร้อมควบคุมคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด และจากการติดตามผลการเพาะปลูกในเขตชลประทาน (ข้อมูล ณ วันที่ 23 ม.ค.62) มีการเพาะปลูกข้าวแล้ว 5.54 ล้านไร่ ประกอบด้วย ข้าวนาปีต่อเนื่องรอเก็บเกี่ยว 0.05 ล้านไร่ และข้าวนาปรัง 5.49 ล้านไร่ ซึ่งเกษตรกรจะทยอยเก็บเกี่ยวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2562 ทั้งนี้ หากเกษตรกรเพาะปลูกข้าวต่อเนื่องทันทีจะส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำของข้าวที่อยู่ระหว่างการเพาะปลูก รวมถึงเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำ ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะทยอยลดการระบายน้ำลงจาก 4 เขื่อนหลัก ตามลำดับ ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กรมชลประทาน จึงขอความร่วมมือจากพี่น้องเกษตรกร ไม่ทำการเพาะปลูกข้าวต่อเนื่องหลังการเก็บเกี่ยว พร้อมรณรงค์ให้เพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยหลังการ ทำนา นอกจากนี้ ยังขอให้เกษตรกร และกลุ่มผู้ใช้น้ำ เข้าร่วมจัดรอบเวรการสูบน้ำของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าและการใช้น้ำของอาคารเชื่อมต่อแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตามข้อตกลงและความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำและการใช้น้ำเป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้ตลอดช่วงฤดูแล้งปี 2561/62 อีกทั้งยังเป็นการสำรองน้ำไว้ใช้ในอนาคตได้อย่างยั่งยืน