รัฐมนตรีเกษตรฯ ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนการส่งเสริมการปลูกพืชหลังฤดูทำนา พร้อมหนุนพืชเศรษฐกิจอื่นเพิ่มเติม หวังสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน วันนี้ (24 ม.ค.62) นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ในจังหวัดขอนแก่น ณ บ้านเปือย หมู่ที่ 5 ตำบลโนนทัน อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นแปลงปลูกข้าวโพดจำนวน 7 ไร่ ของนางทองเที่ยง สุดจอมและนายสำลี ล้นทม สมาชิกสหกรณ์การเกษตรหนองเรือ จำกัด ที่ได้ทดลองปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาเป็นปีแรก ต้นข้าวโพดมีความเจริญงอกงามดี ซึ่งจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในเดือนเมษายน 2562 คาดว่าจะได้ผลผลิตประมาณ 1800 กก./ไร่ สหกรณ์การเกษตรหนองเรือ จำกัด จะรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรเป็นข้าวโพดฝักแก่เมล็ดติดฝักปลอกเปลือก เพื่อส่งให้เอกชนนำไปอบลดความชื้นและส่งขายให้โรงงานผลิตอาหารสัตว์ในจังหวัดขอนแก่น โดยมีนายปานทอง สระคูพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นางวราลักษณ์ กุลบวรรัตน์ สหกรณ์จังหวัดขอนแก่น หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนสหกรณ์ และเกษตรกรในพื้นที่ ให้การต้อนรับ นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบาย "การตลาดนำการผลิต" โดยวางแผนการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ที่มีการบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้เกิดความสมดุล เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต มีตลาดรองรับที่แน่นอนผลผลิตไม่ล้นตลาด เกษตรกรมีรายได้และมีความมั่นคงในอาชีพการเกษตรมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ นโยบายการส่งเสริมการปลูกพืชหลังฤดูทำนาเพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกร โดยมีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นทางเลือกหนึ่ง เนื่องจากเป็นพืชเศรษฐกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง ใช้น้ำน้อย และปัจจุบันผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ทั้งนี้ได้นำร่องส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นโมเดลต้นแบบและจะขยายผลเพื่อส่งเสริมปลูกพืชชนิดอื่นๆ หลังฤดูทำนา เช่น พืชผัก และพืชตระกูลถั่ว ต่อไป "แนวทางในการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมหลังฤดูทำนาปีนั้น ไม่ว่ากระทรวงเกษตรฯ จะสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกหรือทำการเกษตรอะไร จะต้องมีตลาดรองรับ จึงใช้รูปแบบหาตลาดตามแนวทางประชารัฐ เพื่อส่งเสริมให้ภาครัฐ เกษตรกร เอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำหนดแนวทางการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยมีระบบสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเป็นองค์กรกลางในการขับเคลื่อน และเชื่อมั่นว่าการปรับเปลี่ยนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ช่วยให้ราคาสินค้าเกษตรมีเสถียรภาพ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์มีวัตถุดิบใช้อย่างมั่นคง และประหยัดทรัพยากรน้ำอีกด้วย"นายกฤษฎา กล่าว สำหรับอำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่นมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งสิ้น 1,053 ราย พื้นที่เพาะปลูก 6,389.75 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นสมาชิกสหกรณ์จำนวน 64 ราย พื้นที่เพาะปลูก 315 ไร่ ส่วนต้นทุนการผลิตเฉลี่ยที่ 5,190 บาทต่อไร่ คาดว่าจะได้ผลิตผลิตเฉลี่ย 1,800 กก.ต่อไร่ และจะสามารถขายข้าวโพดได้ในราคาไม่ต่ำกว่ากก.ละ 5 บาท ความชื้น 27-30 % (เป็นข้าวโพดฝักแก่เมล็ดติดฝักปลอกเปลือก) ซึ่งสมาชิกจะมีรายได้ประมาณไร่ละ 9,000 บาทเป็นอย่างต่ำ ทำให้เกษตรกรมีกำไรต่อไร่ ไม่ต่ำกว่า 3,810 บาท ต่อไร่ ซึ่งในปัจจุบันถือว่ามีรายได้มากกว่าการปลูกข้าวซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์