วันนี้ (24 ม.ค.62) นายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน ได้รับเชิญจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประธานและเจ้าภาพการจัดงานการประชุมผู้นำกลุ่ม 20 (G20 Summit Meeting) ประจำปี 2562 เพื่อเข้าร่วมประชุม G20 Summit Meeting ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-29 มิถุนายน 2562 ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ 20 แห่ง ประกอบด้วย สหภาพยุโรป กับ 19 ประเทศ ได้แก่ ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 8 ประเทศ (สหราชอาณาจักร แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย) และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ 11 ประเทศ (อาร์เจนตินา บราซิล จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ และตุรกี) ทั้งนี้ จะมีการจัดการประชุมเป็นประจำทุกปี โดยประเทศผู้เข้าร่วม ประกอบด้วย ประเทศสมาชิก G20 และประเทศอื่นที่ไม่ได้เป็นประเทศสมาชิกแต่ประเทศเจ้าภาพ ได้เชิญให้เข้าร่วมด้วยในฐานะ Guest Countries ในส่วนของประเทศไทย ได้เข้าร่วมการประชุม G20 Summit Meeting ล่าสุดเมื่อปี 2559 โดยนายกรัฐมนตรี(พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) เมื่อเดือนกันยายน 2559 ที่ผ่านมา ณ นครหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ในฐานะที่ไทยเป็นประธานกลุ่ม 77 ซึ่งการประชุมครั้งนั้น ไทยได้สะท้อนวิสัยทัศน์และความต้องการของประเทศกำลังพัฒนา โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการประสานนโยบายและความเป็นหุ้นส่วนในรูปแบบใหม่ระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา (Global Partnership) มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนตามกลไกประชารัฐ ควบคู่ไปกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยไทยยังได้แบ่งปันประสบการณ์และแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ในการดำเนินการที่จะบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 ของสหประชาชาติอีกด้วย สำหรับการประชุมที่จะมีขึ้นในเดือนมิถุนายน 2562 ครั้งนี้ ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประธานและเจ้าภาพอยู่ระหว่างการกำหนดหัวข้อหลักและประเด็นสำคัญของการประชุมฯ อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นได้เน้นย้ำและให้ความสำคัญกับการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการส่งเสริมการค้าเสรีและนวัตกรรม การลดความเหลื่อมล้ำไปพร้อมกับการพัฒนา โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง นอกจากนี้ ยังจะผลักดันให้มีการหารือเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ การสาธารณสุขระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เศรษฐกิจดิจิทัล การขยายตัวของสังคมผู้สูงอายุ และนโยบาย Society 5.0 ซึ่งหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับด้านเกษตร จะมีการประชุมหารือภายใต้ Meeting of Agriculture Deputies ในช่วงเดือนมีนาคมและพฤษภาคม 2562 ณ กรุงโตเกียว และเมืองนิอิกาตะ ประเทศญี่ปุ่น ตามลำดับ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่ระหว่างการพิจารณาหารือประเด็นและท่าทีการเจรจา เพื่อให้การประชุมดังกล่าวก่อให้เกิดประโยชน์กับไทยและภูมิภาคอาเซียนได้มากที่สุด