กรมปศุสัตว์ ตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกรในผลิตภัณฑ์สุกรที่ตรวจยึดได้จากนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต หลังกรมปศุสัตว์ใช้มาตรการเข้มงวดป้องกันโรคระบาดทั้งท่าอากาศยานและทุกด่านพรมแดนทั่วประเทศ วันนี้ (22 ม.ค.62) นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 ม.ค.62 ที่ผ่านมา มีรายงานการระบาดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever:ASF) ที่ประเทศมองโกเลียทำให้ขณะนี้ในภูมิภาคเอเชียมีสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเพิ่มขึ้นเป็น 2 ประเทศ คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศมองโกเลีย ทั้งนี้ จากสถานการณ์การระบาดของโรคนี้ทำให้ทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียเข้มมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังโรคยิ่งขึ้น อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ประเทศไทยได้มีการป้องกันและเฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ด้วยการบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ ด่านของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด่านอาหารและยา ด่านศุลกากร รวมทั้งหน่วยงานปกครองและหน่วยงานความมั่นคง เพื่อตรวจสอบเข้มงวดนักท่องเที่ยวหรือผู้โดยสารที่เดินทางจากประเทศที่มีการระบาดของโรคนี้ รวมทั้งการป้องกันลักลอบเคลื่อนย้ายสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรที่ท่าอากาศยานและตามแนวชายแดนทำให้ประเทศไทยสามารถตรวจจับผลิตภัณฑ์สุกรที่ลักลอบนำเข้ามาพร้อมนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างต่อเนื่อง และเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.61 กรมปศุสัตว์ โดยด่านกักกันสัตว์ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ได้ตรวจยึดซาลามี่และไส้กรอกจากนักท่องเที่ยวชาวจีนที่โดยสารเที่ยวบิน MU 573 จากเมืองเฉิงตู และผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึดได้ในครั้งนี้พบว่ามีการปนเปื้อนสารพันธุกรรมของเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยได้ตรวจยึดผลิตภัณฑ์จากสุกรที่มีการปนเปื้อนสารพันธุกรรมของเชื้อฯ จากนักท่องเที่ยวทั้งหมด 3 ครั้ง จำนวน 9 ตัวอย่าง นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวว่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรคเข้าประเทศ กรมปศุสัตว์จึงได้เชิญสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) และสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวสัมพันธ์ไทย-จีน ซึ่งมีสมาชิกจำนวนมากกว่า 150 ราย เข้าร่วมประชุมในวันที่ 15 ม.ค.62 เพื่อขอความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์ให้แก่นักท่องเที่ยวชาวจีนทราบถึงมาตรการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของประเทศไทยและขอความร่วมมือในการห้ามการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากสุกรเข้าในประเทศไทยโดยมิได้รับอนุญาต และให้สำแดงกรณีมีการนำเข้าเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรกับเจ้าหน้าที่ทุกครั้ง "ทั้งนี้ ขอให้เกษตรกรอย่าได้ตระหนก และขอให้มั่นใจในการดำเนินงานที่เข้มงวดของปศุสัตว์ในการป้องกันโรคมิให้เข้ามาสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการผลิตสุกรของประเทศไทย รวมทั้งให้เกษตรกรยกระดับการเลี้ยงสุกรให้มีระบบการป้องกันโรคเข้าสู่ฟาร์มตามมาตรฐาน GAP และหากเป็นรายย่อยให้ใช้มาตรฐานการป้องกันและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบแหล่งที่มาของสุกรก่อนเข้าฟาร์ม และงดเว้นการนำอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุกที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 30 นาทีมาเลี้ยงสุกร นอกจากนี้ให้สังเกตอาการสุกรอย่างใกล้ชิด หากพบสุกรแสดงอาการป่วย เช่น มีไข้สูง เบื่ออาหาร ผิวหนังเป็นปื้นแดง และต่อมาเป็นสีเขียวคล้ำ พบภาวะแท้งในแม่สุกรและมีจำนวนสุกรตายผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที หรือ call center 06 3225 6888 หรือที่แอปพลิเคชัน DLD 4.0 แจ้งการเกิดโรคระบาด เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เร่งดำเนินการให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที"นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าว