วันนี้ 21 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้จัดรายการกู๊ด มันเดย์ (Good Monday) รับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกกับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ตอนที่ 2 ระบุถึงปัญหาที่เกิดจากฝุ่นระบุว่า...
“(Good Monday) รับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกกับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร EP.2 ผมขอขยายมุมมองของปัญหาที่เกิดจากฝุ่น เพื่อให้ทุกท่านลองดูว่าอนาคตโลกจะไปทางไหน The Third Wave หรือคลื่นลูกที่ 3 คือเทคโนโลยีจะมีบทบาทอย่างไรในการช่วยแก้ปัญหาครับ #ThaksinGoodMonday สวัสดีครับพี่น้องที่เคารพรักครับ พบกันเป็นจันทร์ที่ 2 นะครับ คราวที่แล้วผมบอกว่าจะเล่าเรื่องไปเมืองจีน ก็พอดีที่เมืองไทย มีปัญหาที่ตกใจกันมากก็คือเรื่องของ “ฝุ่น” เรื่องของอากาศมลพิษที่มีฝุ่นขนาดเล็ก ถึง 2.5 ไมครอน ซึ่งเป็นขนาดที่อันตรายในการทะลุทะลวงเข้าไปในหลอดเลือดต่างๆ ทำให้สุขภาพเสียหาย การมีมลภาวะที่ติดอันดับ 10 ของโลกเนี่ย มันเสียหาย 2 ส่วนแน่นอน ส่วนหนึ่ง คือสุขภาพอนามัยของคนไทย แต่ส่วนที่สอง คือ ความเสียหายทางเศรษฐกิจ ก็คือเรื่องของภาพพจน์ที่เสียหายไป การท่องเที่ยวก็จะมีผล เพราะคนก็ไม่อยากจะมาในช่วงที่ภาวะมลพิษทางอากาศสูงอย่างนี้ เหมือนหลายประเทศ หลายเมืองที่ขึ้นบัญชีว่าเป็นเมืองที่มีมลพิษสูง ฉะนั้นก็จะเสียหายทางเศรษฐกิจ เสียหายในการทำมาหากินของคนซึ่งขายของตามถนนหรือตามกลางแจ้ง ก็จะมีความรู้สึกกลัวหรือเป็นห่วงใยต่อสุขภาพของตัวเอง ฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะต้องแก้กัน จะแก้ยังไงนั้นผมคงไม่อยากจะไปรบกวนที่จะทำให้เกิดความไขว้เขวสำหรับผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย แต่ผมจะเล่าประสบการณ์ที่ผมไปมา ผมบอกจะเล่าเรื่องเมืองจีน ความจริงแล้วต้องการจะเล่าเรื่องอื่น แต่วันนี้ขอเล่าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก่อนนะครับ ที่ปักกิ่ง เมืองเค้าเป็นแอ่ง เวลามีมลภาวะเนี่ย มีแล้วจะอยู่นานออกไปได้ยาก เค้าก็หาสาเหตุว่าเกิดจากอะไรบ้าง แน่นอนสาเหตุหนึ่งก็เกิดจากรถติด รถเยอะ และเครื่องยนต์ดีเซลทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเค้าเคยมีโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานถ่านหินอยู่รอบเมืองปักกิ่ง ตอนหลังเค้าก็ยกเลิก และก็ไปใช้พลังงานอื่นที่สะอาด แล้วก็มีโรงงานอุตสาหกรรมรอบเมืองปักกิ่ง เค้าก็จับย้ายหมด ส่วนเรื่องของปัญหาด้านรถยนต์ของเค้า เค้าก็มีนโยบายเลยว่า ภายใน 5-6 ปีข้างหน้า รถที่จะวิ่งในปักกิ่งต้องเป็นรถไฟฟ้าเท่านั้น และเค้าก็ถือโอกาสเอาวิกฤตนี้ มาส่งเสริมอุตสาหกรรมทำรถไฟฟ้าอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เค้ามองถึงเรื่องแบตเตอรี่ เรื่องของที่ชาร์จ และจะเติมพลังไฟฟ้าอย่างไร เวลารถวิ่งไปแล้วต้องชาร์จไฟยังไง เค้าทำแม้กระทั่งว่า บางที่เนี่ยมีเทคโนโลยีที่สามารถทำเหมือนพาวเวอร์แบงค์ เอารถไปจอด ลงไปเข้าห้องน้ำ กินน้ำสักแก้ว กลับมาวิ่งต่อได้เลยโดยไม่ต้องเสียบปลั๊ก เค้าใช้เป็นลักษณะของ Induction หรือว่าการเหนี่ยวนำ เค้าก็คิดไปเยอะแล้ว ส่งเสริมให้มีการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้ามากขึ้น จริงจังขึ้น อันนี้ก็เป็นการถือเอาวิกฤตเป็นโอกาส กลับมาที่บ้านเรา ปัญหาที่เกิดจากฝุ่นจำนวนมากมายวันนี้ จนเป็นมลภาวะที่ติดอันดับ 9 ของโลกเนี่ย (อันดับ 10 เป็นดูไบ) เพราะว่ามันเกิดจาก 2 อย่าง อย่างที่หนึ่งคือเกิดจากเรื่องรถ โดยเฉพาะรถดีเซล กับรถที่ไม่ได้มาตรฐาน รถเก่า หมดสภาพมาวิ่ง ควันเยอะ พวกนี้เนี่ย ปัญหารถติด ปัญหารถมาก ปัญหารถดีเซล พวกนี้ต้องได้รับการแก้ไขระยะยาว ระยะยาวก็คือต้องแก้ปัญหาเรื่องรถติดอย่างจริงจัง อันที่สอง ก็คือการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมรถยนต์เราเนี่ย เปลี่ยนจากการใช้เครื่องยนต์ ซึ่งวันนี้ทุกบริษัท อย่าง GM เค้ามีแผนชัดเจนว่าจะเปลี่ยนเป็นรถมีไฮโดรเจนบ้าง หรือเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าบ้าง หลายบริษัทเค้าเตรียมไปจนถึงตรงนั้นแล้ว และไปจนถึงรถที่ไม่ต้องมีคนขับ เค้าเตรียมเผื่อไว้แล้ว เพราะฉะนั้นอุตสาหกรรมรถยนต์เนี่ย เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออก ถ้าเราไม่มีแผนที่ชัดเจนนะ เค้าย้ายหนีหมด อย่างวันนี้สิงคโปร์ดีใจมากที่ DYSON คือบริษัทเครื่องเป่าผม เค้าเก่งเรื่องไฟฟ้า เรื่องพลังลม เค้าจะไปตั้งโรงงานผลิตรถไฟฟ้าที่สิงคโปร์ สิงคโปร์ดีใจมาก แต่ว่าบริษัทรถยนต์ทั้งหลายที่ผลิตอยู่ในประเทศไทย เราต้องพยายามจูงใจให้เค้าเปลี่ยนมาผลิตรถไฟฟ้าให้ได้ เพื่อลดมลภาวะของเราเอง และมันถูกตังค์ด้วยในอนาคตข้างหน้า เพราะเราไม่ต้องนำเข้าน้ำมันมากมาย เพราะเนื่องจากใช้ไฟฟ้าแล้ว นี่ก็ถ้าเรามีตลาดใหญ่รองรับอยู่แล้ว ถ้าเรามีนโยบายที่ชัดเจน บริษัทรถยนต์เหล่านี้ก็จะหันมาผลิตรถไฟฟ้าในเมืองไทย เราก็จะดำรงความเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออกได้อยู่ต่อไป เพราะฉะนั้นต้องมีนโยบายที่ชัดเจนว่า การจะไม่ให้รถที่เป็นเครื่องยนต์วิ่งได้อีกกี่ปี ก็ต้องมีแผน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้คนที่มีรถที่เป็นเครื่องยนต์ธรรมดาวันนี้ต้องเดือดร้อน ไม่ใช่ครับ มันจะมีช่วงระยะเวลาในการเปลี่ยน สมมุติว่าวันนี้รถเราหมดอายุแล้วจะซื้อใหม่ ถ้าไปซื้อรถไฟฟ้าอาจจะซื้อได้ถูกกว่า หรือมีแรงจูงใจทางภาษีอะไรก็แล้วแต่ เพื่อจะให้คนได้เปลี่ยนจากรถเครื่องยนต์ธรรมดาที่หมดสภาพ หมดอายุแล้ว หรือจะซื้อใหม่ ให้ไปซื้อรถไฟฟ้า เราก็จะลดจำนวนรถยนต์ที่ใช้ดีเซลก็ดี ใช้เครื่องยนต์ก็ดีที่วิ่งในกรุงเทพฯไปเรื่อยๆ จนในที่สุดมลภาวะที่เกิดจากรถยนต์ก็จะหายไป อีกตัวนึงที่เป็นมลภาวะที่เค้ามองมากเนี่ย คือการเผาชีวมวลทั้งหลาย พอดีช่วงนี้เป็นฤดูเก็บเกี่ยวข้าวเพิ่งเสร็จ เกษตรกรมักจะเผาตอข้าวแทนที่จะขุดหรือจะขังน้ำไว้ให้เน่า ในประเทศเวียดนามเค้านิยมขังไว้ให้เน่า เพราะการเผาเป็นการทำลายจุลินทรีย์ในดิน ทำให้ฤดูกาลต่อไปผลผลิตอาจจะตกต่ำ ต้องใช้ปุ๋ยเยอะ ต้องใช้ยาฆ่าแมลงเยอะ แต่ถ้าเราเปลี่ยนเป็นการขังน้ำแล้วให้ตอข้าวมันเน่า จุลินทรีย์ในดินก็จะไม่เสียหาย แล้วตอข้าวที่เน่าจะเป็นปุ๋ย จะทำให้ผลผลิตในปีต่อไปมากขึ้น ลดการใช้ปุ๋ยขึ้น อันนี้เราต้องรณรงค์เพื่อให้เกษตรกรทั้งหลายเข้าใจว่าแบบนั้นมันมักง่ายไป ทำแบบนี้ดีกว่า และเป็นประโยชน์ด้วย เค้าเข้าใจแล้วเค้าก็จะทำ ก็จะทำให้ลด biomass เพราะหน้านี้เป็นหน้าหนาว ลมก็จะพัดมาจากทางเหนือบ้าง ตะวันออกบ้าง ลมมันแรง ก็จะหอบสิ่งเหล่านี้เข้ามาสุมกับฝุ่นจากรถยนต์ เพราะฉะนั้นถ้าวันนี้เราถือเอาวิกฤตตรงนี้เป็นโอกาสโดยการรณรงค์ให้เกษตรกรลดการเผา biomass ทั้งหลาย แล้วก็เปลี่ยนเป็นการปล่อยให้มันเน่าบนดินแล้วจะเป็นปุ๋ยในตัวเนี่ย ก็จะทำให้ biomass ทั้งหลายไม่เข้ามาในกรุงเทพฯ แล้วก็ตัวรถยนต์ทั้งหลายเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้า โดยมีแผนระยะยาวเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้เกิดขึ้น รวมทั้งการสร้างบุคลากรด้วย ไม่ใช่ว่าจูงใจอย่างเดียว ต้องมีบุคลากรรองรับ ไม่งั้นเค้าก็จะไม่มากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนอาชีวะทั้งหลาย น่าจะฝึกนักเรียนอาชีวะให้เป็นนายหุ่นยนต์ให้หมด อีกหน่อยเตรียมตัวที่จะเข้าไปสู่เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการส่งออกได้ ผมคิดว่าเรื่องนี้น่าสนใจ เพราะเราจะได้ลดมลภาวะเหล่านี้ ผมไปอ่านข่าวจาก Line Today ที่รายงานข่าวโดย คุณมณีนาถ อ่อนพรรณ ของวันพฤหัสที่ 17 เค้าเสนอข่าวเกี่ยวกับการที่ฮ่องกงจะเปิดใช้เครื่องขจัดมลพิษขนาดยักษ์ เป็นทาวเวอร์ใหญ่ ซึ่งเค้าบอกว่าเทียบเท่า กับการขจัดมลพิษด้วยต้นไม้ 4 แสน 8 หมื่นต้น เห็นมั้ยครับว่าเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นเนี่ย เค้าเอามาใช้เพื่อประโยชน์ เพื่อความผาสุกของคนทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเราจะต้องให้ความสนใจเรื่องเทคโนโลยี แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นไม้ สิงคโปร์เนี่ยเป็นประเทศที่ปลูกต้นไม้เยอะ ตอนเหตุที่เกิดฝุ่น ที่เกิดจากการที่ไฟป่าไหม้จากอินโดนีเซียพัดมาถึงสิงคโปร์เนี่ย ทุกอย่างมันไปได้เร็ว มัน Absorb ได้เร็ว เพราะว่ามันมีต้นไม้ เค้าปลูกต้นไม้เยอะ ดูไบที่ผมอยู่เนี่ย ถึงแม้จะมีฝุ่นเป็นอันดับ 10 ของโลก สิ่งที่ผมเห็นการเปลี่ยนแปลง คือ ฝุ่นดูไบเกิดจากพายุทะเลทราย ที่นี่เค้าไม่ค่อยมีรถดีเซล เค้าไม่ส่งเสริมรถดีเซลเลย แล้วก็ฝุ่นมันเยอะจากทะเลทราย แต่เค้าขยันปลูกต้นไม้ครับ ต้นไม้ที่นี่มาจากเมืองไทยแทบทั้งนั้น แถวบ้านผมมีสะเดา พวกแม่บ้านผมชอบไปเก็บสะเดามากินกับน้ำปลาหวานเรื่อย มีต้นปีบ มีเฟื่องฟ้า ต้นไม้พวกนี้เค้าซื้อมาจากไทยมาปลูก เดี๋ยวนี้ต้นไม้ที่นี่เขียวชอุ่ม เขียวเยอะเลย จนเมื่อก่อนจากไม่มีฝน ตอนนี้มีฝนเรื่อยๆ แต่ไม่ได้มากเหมือนทางบ้านเรา แต่ว่าก็มีฝน เพราะว่าความชุมชื้นเกิดจากการที่เค้ามีต้นไม้มากขึ้นทุกวัน ก็เป็นห่วงอยากให้กรุงเทพฯรักษาต้นไม้หรือเพิ่มต้นไม้หน่อย ถ้าไม่งั้นก็ต้องไปเพิ่มทาวเวอร์ไว้เพื่อขจัดมลพิษเหมือนที่ฮ่องกงทำ เพราะฉะนั้นประเทศเราเป็นประเทศที่ปลูกต้นไม้ได้ แต่วันนี้เราปลูกตึกจนทิ้งต้นไม้หมด ถ้าจะส่งเสริมเรื่องนี้ก็น่าจะเป็นประโยชน์ พอวกมาถึงเรื่องนี้เนี่ยผมอยากจะเท้าความถึงหนังสือเก่ามากเกือบ 50 ปีแล้ว ของนักอนาคตศาสตร์ ชื่อ อัลวิน ท็อฟฟ์เลอร์ คนนี้เค้าเขียนหนังสือเมื่อปี 1970 ชื่อ Future Shock : The Third Wave เค้าให้คำจำกัดความว่า Future Shock แปลว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในระยะเวลาอันสั้น ทำให้จิตวิทยาของเราตกใจว่าทำไมเปลี่ยนเยอะมาก เปลี่ยนเร็วเหลือเกิน เพราะเทคโนโลยีมันพัฒนาเร็ว วันนั้นเค้ามองเห็นเกือบ 50 ปีที่แล้ว แต่วันนี้เนี่ยหนักกว่า ก็คือเทคโนโลยีมันเปลี่ยนเร็วกว่าเยอะ มาเร็วมาแรงกว่าวันที่เค้าเห็นเยอะ แต่วันนั้นเค้าก็พูดเตือนไว้เยอะ คำว่า The Third Wave ของเค้าเนี่ย ก็คือคลื่นลูกที่ 3 เค้าว่าคลื่นลูกแรกคือยุคเกษตรกรรม ยุคนี้เป็นยุคที่ผู้คนมีน้ำจิตน้ำใจต่อกัน สิ่งแวดล้อมดี สะอาดสะอ้าน แล้วก็สุขภาพพลานามัยดี แต่พอมายุคที่ 2 ยุคอุตสาหกรรม เป็นยุคที่ผู้คนละโมบ มือใครยาวสาวได้สาวเอา อยากจะแข่งกันผลิตจำนวนมากๆ เพื่อให้รวยๆ ยุคนี้เลยทำให้เป็นยุคที่ทำลายสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมที่ดีงามทั้งหลายก็เสียหายไป สุขภาพพลานามัยก็แย่ลง เพราะทุกคนต้องรีบทำงาน อยากจะทำงานจนไม่มีเวลาดูแลตัวเอง คลื่นลูกที่ 3 คือเป็นคลื่นของเทคโนโลยีด้านสังคมข่าวสาร ข้อมูลข่าวสาร และก็เรื่องของเทเลคอมมูนิเคชั่นทั้งหลาย ในหนังสือนี้คนจะไปให้ความสนใจกับเทคโนโลยีที่กำลังมา แต่ในนี้เนี่ย อัลวิน ท็อฟฟ์เลอร์ ได้พูดถึงสิ่งที่ดีงาม ที่หายไปแล้วก็จะเอากลับคืนมา แล้วเค้ามองถึงเรื่องว่า ยุคต่อไปเนี่ย ใครทำมาหากินด้านสุขภาพจะถูกทาง เพราะคนเริ่มห่วงใยสุขภาพ พอมีตังค์แล้วกลัวตาย กลัวป่วย และยิ่งเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีมันยาว คนพูดกันถึงอายุ 120 ปีแล้วเนี่ย ก็ยิ่งจะอยู่ยังไงให้มีคุณภาพ เค้าก็นึกถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องสุขภาพ เพราะฉะนั้นเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ดีเรื่องสุขภาพก็ดีเนี่ย ได้เขียนเตือน แล้วก็มองเห็นว่าเป็นปัญหา แล้วผู้คนจะมองเห็นเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญในยุคนี้ก็เป็นจริงหมด ผมได้ไปบรรยายหลายที่ แล้วตอนเป็นนายกฯก็ได้พูดถึงเรื่องนี้ จนคุณหนุ่มเมืองจันท์ หรือว่า คุณสรกล แห่งมติชน เนี่ย ก็เอาเรื่องราวผมไปเขียน แต่เขียนเองโดยที่ไม่ได้สัมภาษณ์ผมนะครับ แล้วก็ไปเขียนหนังสือชื่อว่า “อัศวินคลื่นลูกที่ 3” เขียนมาหลายปีแล้วนะครับ 20-30 ปีแล้วมั้ง ถ้าหากว่ายังมีอ่านอยู่ก็จะเห็นชัดว่าสิ่งเหล่านี้ มันเป็นสิ่งที่พวกนักอนาคตศาสตร์ได้ทำนายแล้วก็พูดไว้ บางครั้งเราไม่มีเวลาศึกษา ฟังพวกอนาคตศาสตร์ไว้บ้างก็ดีเหมือนกัน แต่ว่าไม่ใช่นักนิยายศาสตร์ อนาคตศาสตร์เค้ามีวิจัย เค้าจะเห็นว่ามันจะเดินไปทางไหน แต่ถ้าแต่งเรื่องเอาเองเนี่ยมันไม่ใช่ เพราะฉะนั้นก็อยากให้ทุกคนลองดูว่าอนาคตโลกจะไปทางไหน แล้วประเทศไทยเราเนี่ยจะรับมือยังไง ไม่ว่าเรื่องของการสาธารณสุข สังคม แม้กระทั่งเรื่องของศิลปวัฒนธรรม และรวมทั้งที่สำคัญที่สุดก็คือเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนโลกทั้งหลายมันกำลังเข้ามา ก็จะคอยมาเล่าให้ฟังว่าไปอ่าน ไปเจออะไรที่ไหน ก็จะเล่าตรงนั้นนิด ตรงนี้หน่อย ก็ถือว่าเล่าสู่กันฟังแล้วกันนะครับ วันนี้ก็คงขอเล่าเท่านี้ก่อนครับ แล้วพบกันใหม่ในจันทร์หน้าครับ สวัสดีครับ”